เปิดสูตรความสำเร็จ “เจอาร์ คิวชู” รถไฟท่องเที่ยวญี่ปุ่น…ที่ต้องจองข้ามปี !

คนญี่ปุ่นมีความผูกพันกับการเดินทางโดยรถไฟอย่างยิ่งไม่ว่าใกล้ ไกล รถไฟมักเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ของการคมนาคมเสมอ รถไฟญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องความสะดวกสบาย รวดเร็ว และครอบคลุม หนึ่งในบักเก็ตลิสต์ของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ที่เดินทางมายังดินแดนแห่งพระอาทิตย์ ก็เพื่อจะมาลองนั่งรถไฟของญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

ใน “งานสัมมนานานาชาติในอุตสาหกรรมบริการครั้งที่ 5” จัดโดยองค์การส่งเสริมการค้าของญี่ปุ่น หรือ “เจโทร” ประจำกรุงเทพฯ “โทชิฮิโกะ อาโอยากิ” ประธานบริษัท Kyushu Railway (JR Kyushu) ผู้ให้บริการรถไฟรายใหญ่ที่สุดบนเกาะคิวชูทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ได้เล่าถึงความสำเร็จของการพัฒนาระบบรถไฟในภูมิภาค กระทั่งขยายสู่ธุรกิจบริการอื่น ๆ เช่น ช็อปปิ้งมอลล์ ร้านอาหาร โรงแรม คอนโดมิเนียม พร้อมกับการสร้างความมีส่วนร่วมของคนท้องถิ่นต่อรถไฟคิวชู

โทชิฮิโกะเล่าว่า เจอาร์ คิวชู เริ่มต้นเมื่อปี 1987 ในช่วงแรกประสบปัญหาการบริหารจนขาดทุนถึง 3 หมื่นล้านเยนทั้งมีพนักงานมากเกินไป ทำให้เจอาร์ คิวชูต้องปรับตัวและฝ่าวิกฤตมาได้ โดยหันมาเน้นการบริหารจัดการเรื่องซอฟต์แวร์ “คน” หรือด้านการบริการ จนได้กลายเป็นจุดขายของเจอาร์ คิวชู กระทั่งทุกวันนี้

“แทนที่เราจะคิดว่ารถไฟคือการเดินทาง แต่เราคิดว่าการขึ้นรถไฟก็คือการท่องเที่ยวนับตั้งแต่ก้าวแรกที่ขึ้นรถ ทั้งได้พยายามใช้รถไฟรองรับความสะดวกสบายต่าง ๆ และออกแบบรถไฟขบวนใหม่ ที่เป็นรถไฟ D&S หรือ Design& Story สำหรับการท่องเที่ยวขึ้นมา ซึ่งหลาย ๆ ขบวนมีชื่อเสียงมากถึงขั้นคนแย่งกันจองข้ามปี”

เช่น รถไฟขบวน “เจอาร์ คิวชู สวีท เทรน” ที่ตกแต่งอย่างสวยงามด้วยพื้นหินอ่อนและสเตนกลาส และหัตถกรรมท้องถิ่นต่าง ๆ ทั้งมีเชฟคนดังประจำโบกี้รถไฟเพื่อทำอาหารเสิร์ฟ  ขณะที่พนักงานรถไฟก็ไม่ใช่ทำหน้าที่เพียงพนักงานประจำโบกี้ แต่ต้องสามารถเป็นไกด์และจัดอีเวนต์ต่าง ๆ ให้กับนักท่องเที่ยวได้ด้วย

รถไฟขบวน “เซเว่นสตาร์” ซึ่งถือเป็น Cruise Train ที่มีความหรูหรา ใช้เชฟดังปรุงอาหาร ภายในโบกี้
ตกแต่งด้วยศิลปะจากศิลปินดัง ทำให้การจองยากอย่างยิ่ง เพราะใคร ๆ ก็อยากสัมผัสประสบการณ์หรูบนขบวนรถไฟสายนี้ หรือรถไฟขบวนล่าสุด อย่าง “คาวาเซมิ ยามาเซมิ” ซึ่งเป็นขบวนที่ 11 ของเจอาร์ คิวชู ได้สร้างความเป็นท้องถิ่นมากขึ้นด้วยการใช้อาหารและเหล้าท้องถิ่นเสิร์ฟบนขบวน ทั้งได้นำเครื่อง VR มาติดตั้งบริการผู้โดยสารเพื่อให้สัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่

โดยบริษัทมีแผนขยายเส้นทางรถไฟท่องเที่ยว D&S  ออกไปตามเมืองต่าง ๆ มากขึ้น เพราะนอกจากจะดึงดูดนักท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับบริษัทแล้ว รถไฟท่องเที่ยวนี้ยังได้เสริมสร้างความแข็งแกร่งของชุมชนด้วย

ประธานเจอาร์ คิวชู บอกว่า ในการสร้างรถไฟหนึ่งขบวน บริษัทได้ถามความเห็นคนในชุมชนตลอดเพื่อสร้างความมีส่วนร่วม และทำให้คนในชุมชนก็รักรถไฟประจำเมืองของพวกเขา เมื่อรถไฟจอดเทียบท่า ชาวเมืองก็จะออกมาต้อนรับที่สถานี มีการนำสินค้าท้องถิ่นและข้าวกล่องประจำท้องถิ่นมาขายให้นักท่องเที่ยว ถือเป็นการสร้างงานในรูปแบบหนึ่ง

“ธุรกิจรถไฟญี่ปุ่นต้องแข่งขันหนักมากเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดจากคมนาคมประเภทอื่น เช่น รถบัส เพราะทางด่วนของญี่ปุ่นนั้นได้ถูกพัฒนาไว้อย่างดีมาก การใช้ถนนก็สะดวกสบาย ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้คือ การให้บริการที่ประทับใจ และมีมาตรการความปลอดภัยสูงสุด” โทชิฮิโกะกล่าว

แม้ธุรกิจรถไฟจะเป็นดั่งเส้นเลือดใหญ่ของเจอาร์ คิวชู นับตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา ทางบริษัทได้นำโนว์ฮาวด้านการบริการขยายสู่ธุรกิจอื่น ๆ เช่น ช็อปปิ้งคอมเพล็กซ์ใต้สถานี ร้านอาหาร โรงแรม ที่พักอาศัย อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงเกษตรกรรม ซึ่งในปี 2016 บริษัทมีรายได้ 382,900 ล้านเยน  เป็นสัดส่วนรายได้
จากธุรกิจรถไฟเพียง 39.2% ขณะที่รายได้อื่น ๆ 60.7%

ประธานเจอาร์ คิวชู กล่าวว่า การแตกไลน์สู่ธุรกิจอื่น ก็มีพื้นฐานมาจากธุรกิจบริการบนรถไฟทั้งสิ้น ทั้งในเรื่องความปลอดภัยและความไว้วางใจ รวมถึงความสามารถในการดึงดูดและการให้บริการลูกค้า

“คีย์ซักเซสของการทำธุรกิจรถไฟของผม จนพลิกจากขาดทุนสู่กำไรได้มี 3 ประการคือ 1.สุจริตใจต่องานที่ทำ 2.พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และ 3.ทำให้คนในท้องถิ่นมีความสุข อันนี้สำคัญมาก”

ประธานเจอาร์ คิวชู ยังเผยว่า ในเดือนธันวาคมนี้  จะเปิดแผนร่วมทุนกับบริษัทในประเทศไทยเพื่อสร้างเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ในกรุงเทพฯ เจาะกลุ่มคนญี่ปุ่นที่อาศัยในไทยระยะยาว

ก่อนหน้านี้เมื่อ 5 ปีก่อน เจอาร์ คิวชูได้เซ็น MOU ร่วมกับการรถไฟไทยในเรื่องการแบ่งปันโนว์ฮาว ซึ่งประธานโทชิฮิโกะเผยว่า ความร่วมมือดังกล่าวไม่ถึงขั้นนำขบวนรถไฟจากญี่ปุ่นทั้งโมเดลมายังไทย เพราะก็ต้องดูว่าคนท้องถิ่นของไทยมีความต้องการอะไรบ้าง ถ้าเป็นไปได้ก็อาจเป็นการปรับปรุง ผสมผสานให้เป็นขบวนสำหรับการท่องเที่ยวในไทยในอนาคตมากกว่า