ทุบสถิติ! เผยไตรมาส 3 สายการบินสหรัฐฯมีค่าธรรมเนียมสัมภาระเช็กอินพุ่งถึง 3.9 หมื่นล้านบาท

หลายคนคงเคยเดินทางด้วยเครื่องบิน ซึ่งแน่นอนว่าการเดินทางด้วยเครื่องบิน ยิ่งเดินทางหลายวัน สัมภาระก็ยิ่งมาก ทำให้ต้องโหลดสัมภาระไว้ใต้ท้องเครื่อง ซึ่งการโหลดสัมภาระไว้ใต้ท้องเครื่องนั้น แน่นอนว่าต้องมีค่าธรรมเนียม แต่เคยรู้หรือไม่ว่า ในแต่ละปี แต่ละสายการบินได้รับเงินค่าธรรมเนียมจากการโหลดสัมภาระไปมากน้อยขนาดไหน

ล่าสุด ซีเอ็นเอ็นมันนี่รายงานข้อมูลจากกรมการขนส่งสหรัฐฯ ระบุว่า สายการบินหลายสายของสหรัฐฯสามารถทำเงินจากการโหลดสัมภาระในไตรมาส 3 ของปีนี้ไปได้ถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการทุบสถิติของไตรมาสที่แล้วที่สามารถเก็บค่าธรรมเนียมได้ 1.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เบรตต์ สไนเดอร์ อดีตผู้จัดการสายการบินแห่งหนึ่ง และนักเขียนในบล็อกท่องเที่ยวบนเว็บไซต์ Crankyflier.com เปิดเผยว่า การเพิ่มขึ้นของการโหลดกระเป๋าจากผู้โดยสารที่นั่งชั้นประหยัด เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ยอดค่าธรรมเนียมโหลดกระเป๋าเพิ่มขึ้น

สไนเดอร์กล่าวว่า โดยผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วชั้นอีโคโนมีจะไม่สามารถนำกระเป๋าสัมภาระขึ้นเครื่องไปวางบนช่องเก็บสัมภาระเหนือศีรษะได้ ทำให้ผู้โดยสารที่มาถึงสนามบินแล้วแต่กระเป๋าสัมภาระดันใหญ่เกินกว่าที่จะวางไว้ใต้ที่นั่งด้านหน้า ต้องนำกระเป๋าไปโหลดและเสียค่าธรรมเนียม

ทั้งนี้ ทั้งอเมริกันแอร์ไลน์ส และยูไนเต็ดแอร์ไลน์ส ได้เปิดขายตั๋วชั้นประหยัดตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตั๋วที่ราคาถูกกว่าราคามาตรฐานของชั้นอีโคโนมี แต่อนุญาตให้ผู้โดยสารถือกระเป๋าใบเล็กๆ ขึ้นเครื่องได้ 1 ใบ เท่านั้น

ข้อมูลจากกรมการขนส่งสหรัฐฯยังระบุอีกว่า จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางด้วยสายการบินสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม ปีนี้ มีจำนวนเพิ่มขึ้น 3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

“นี่ถือเป็นปีที่ดีของการท่องเที่ยว เพราะมีประชาชนโหลดสัมภาระมากขึ้น” โจ แบรนคาเทลลี นักเขียนบล็อกท่องเที่ยว “Joe Sent Me.” กล่าว

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯต้องการให้การเก็บค่าธรรมเนียมสัมภาระเป็นไปอย่างโปร่งใสมากขึ้น โดยการออกกฎที่กำหนดให้สายการบินเปิดเผยค่าธรรมเนียมสำหรับกระเป๋าที่เช็กอินและกระเป๋าที่ถือขึ้นเครื่องของผู้โดยสาร ก่อนการซื้อตั๋ว แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมการขนส่งสหรัฐฯได้ประกาศถอดถอนข้อกำหนดดังกล่าว เนื่องจากเป็นการจำกัดประโยชน์ของสาธารณะ