
เรื่องราวน่าประทับใจของทีมงานสวนสัตว์ซานดิเอโก สหรัฐอเมริกา ที่ช่วยยีราฟน้อยขาพิการให้มันรอดตาย และเดินได้ปกติเหมือนตัวอื่นๆ แล้ว
วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 สำนักข่าว เอพี รายงานว่า ยีราฟน้อยชื่อ Msituni (อ่านว่า ซีทูนี) ภาษาสวาฮิลี แปลว่า “ในป่า” ที่สวนสัตว์ซาฟารี เขตเอสคอนโด เมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ เกิดมาวันที่ 1 ก.พ. 2022 ในสภาพพิการ ขาคู่หน้างอผิดทาง ถ้าไม่ช่วยทันที มันคงจะต้องตาย
- หมอธีระวัฒน์ ชี้ งานวิจัยระบุ ชอบกินเนื้อสัตว์เสี่ยงตาย ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกาย ไม่ช่วย
- พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี
- พระราชทานอภัยโทษ คดีทักษิณ ที่มาวาระอันเป็นมงคล วโรกาสสำคัญ
เพราะยีราฟแรกเกิดทั่วไปต้องพึ่งพาขายาว ๆ พยุงตัวให้ยืนและเดินได้ หากยืนไม่ได้ก็เสี่ยงที่มันจะไม่รอด

ซีทูนีเกิดมาพร้อมกับภาวะข้อเข่าแอ่น ซึ่งกระดูกชิ้นนี้มีความสำคัญเทียบได้กับข้อมือของคน ความผิดปกตินี้ทำให้ขาหน้างอและส่งผลให้ยืน เดิน หรือกินนมได้ไม่ดีนัก
แมตต์ คินนีย์ สัตวแพทย์อาวุโสของสวนสัตว์กล่าวว่า ดีใจมากที่มีทั้งทรัพยากรและความเชี่ยวชาญจากผู้รู้มาช่วยยีราฟให้มีชีวิตที่สมบูรณ์ หากไม่มีโครงดัดขาที่ช่วยพยุงตัวเอาไว้ ขาหน้าก็จะเจ็บปวดมากขึ้น ๆ จนกระทั่งก้าวผ่านจุดที่จะเอาชนะไม่ได้
ตอนแรกคินนีย์ซื้ออุปกรณ์พยุงเข่าที่มีวางขายทั่วไปมาตัดให้ได้ขนาดกับความยาวของลูกยีราฟ และประกอบเข้าไปใหม่ แต่อุปกรณ์พยุงเข่าลื่นเกินไป ส่วนอุปกรณ์พยุงเข่าที่ใช้ทางการแพทย์ก็ไม่ได้ผล
กระทั่งได้อารา มิร์ซาเอียน นักกายภาพบำบัด ผู้เชี่ยวชาญด้านขาเทียมจากคลินิกแฮงเกอร์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งรักษาเด็ก ๆ ที่มีปัญหากระดูกสันหลังคดมานาน 3 ทศวรรษ รวมถึงรักษานักปั่นจักรยานและนักพายเรือคยักที่เผชิญปัญหาขาพิการ รวมทั้งทำอุปกรณ์ให้นักวิ่งมาราธอนที่ป่วยเป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ไปวิ่งมาแล้ว 7 ทวีป

มิร์ซาเอียนช่วยประดิษฐ์อุปกรณ์พิเศษให้ยีราฟน้อยที่มีน้ำหนักแรกเกิด 55 กก. มีความสูงราว 178 เซนติเมตร ซึ่งโตขึ้นทุกวัน ทำจากคาร์บอนกราไฟต์ และตกแต่งลวดลายยีราฟให้โดยเฉพาะ
“มันค่อนข้างเหนือจริงตอนที่ผมรับทราบเรื่องนี้ เราเคยทำขาเทียมยีราฟเล่น ๆ มาก่อน และก็ทำให้เด็กมาตลอด แต่เราก็คิดว่าทำไมไม่ทำให้ยีราฟจริงล่ะ” นักกายภาพบำบัดกล่าวและว่า จากนั้นเขาก็เดินทางไปดูยีราฟน้อยว่าจะช่วยได้หรือไม่

ทีมงานของสวนสัตว์เต็มไปด้วยมืออาชีพด้านการแพทย์ที่รักษาคน มาระดมความคิดหาวิธีที่จะนำศาสตร์รักษาคนมารักษายีราฟซีทูนี ความร่วมมือนี้ได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญทั้งวิชากายอุปกรณ์ (prosthetics) และกายวิภาค (orthotics)
หลังจากเห็นความสำเร็จของทีมสวนสัตว์แทมปา รัฐฟลอริดา ที่เคยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ สร้างจะงอยให้กับนกขนาดใหญ่ แทนที่จะงอยธรรมชาติที่เป็นเนื้อร้าย

ทีมงานใช้เวลารักษายีราฟน้อยซีทูนีด้วยอุปกรณ์จัดขาให้มันเดินนาน 3 เดือน กระทั่งมันเริ่มเดินได้ปกติ โดยหลังจากถอดอุปกรณ์พยุงขาออกแล้ว
ปัจจุบันซีทูนีเดินและวิ่งควบได้แล้ว เนื่องจากมีอุปกรณ์จัดขาที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกายอุปกรณ์ซึ่งคุ้นเคยกับการรักษาคนมากกว่ามารักษาให้ นอกจากนี้ ยังมีสุขภาพแข็งแรง มีทั้งความสูงและน้ำหนักเพิ่มขึ้น

เมื่อทีมงานนำซีทูนีไปปล่อยในฝูง และให้เข้าใกล้แม่ของมัน แม่ของมันไม่รับเพราะซีทูนีอยู่โรงพยาบาลมาตั้งแต่เกิด ทีมงานจึงหาแม่ใหม่ให้ ชื่อ “ยามากานี” และมีลูกของยามากานี ชื่อ “นูรู” เป็นเพื่อนเล่นด้วย
“นี่เป็นเรื่องเยี่ยมที่สุดที่ได้เห็นสัตว์ที่เป็นแบบนั้นกลับเดินได้ มันรู้สึกดีมากเลยที่เราได้ช่วยชีวิตยีราฟไว้” นักกายภาพบำบัดกล่าว