สถานการณ์มลพิษปี’60 ดีขึ้น แม่น้ำตาปีตอนบนคุณภาพดีสุด เจ้าพระยาตอนล่างแย่สุด

คพ.สรุปสถานการณ์มลพิษไทยปี 60 ภาพรวมคุณภาพดีขึ้น เผยแม่น้ำตาปีตอนบนคุณภาพดีสุด ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างแย่สุด ส่วนน้ำทะเลอ่าวสะพลี จ.ชุมพร ดีสุด ทะเลปากคลอง 12 ธันวา แย่สุด ระบุ ต.พระลาน จ.สระบุรี ค่าฝุ่นละอองพุ่งสูงสุดในไทย ส่วนปริมาณขยะ และการกำจัดขยะดีขึ้น

เมื่อวันที่ 12 มกราคม ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นางสุณี ปิยะพันธ์ุพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) แถลงสรุปสถานการณ์มลพิษประเทศไทย ปี 2560 โดยกล่าวว่า คุณภาพน้ำแม่น้ำสายหลัก 59 แม่น้ำของประเทศอยู่ในเกณฑ์พอใช้ถึงดีเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 80 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 86 แหล่งน้ำที่มีคุณภาพดีสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ แม่นํ้าตาปีตอนบน จ.นครศรีธรรมราช ลําตะคองตอนบน จ.นครราชสีมา ลําชี จ.สุรินทร์ แม่น้ำสงคราม และสายบุรี จ.นราธิวาส ส่วนแหล่งนํ้าที่มีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ท่าจีนตอนล่าง พังราดตอนบน ระยองตอนล่าง และกวง เนื่องจากเป็นช่วงที่แม่น้ำไหลผ่านชุมชนเมืองที่อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ส่วนเกณฑ์เสื่อมโทรมลดลงจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 14 และไม่มีแหล่งน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก

นางสุณีกล่าวต่อว่า ส่วนคุณภาพน้ำทะเลโดยรวมดีขึ้นจากร้อยละ 91 เป็นร้อยละ 96 โดยแหล่งน้ำทะเลที่มีคุณภาพดีสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อ่าวสะพลี และอ่าวทุ่งวัวแล่น จ.ชุมพร ทะเลแหวก และหาดต้นไทร เกาะพีพี จ.กระบี่ และช่องแสมสาร จ.ชลบุรี ส่วนแหล่งน้ำทะเลที่มีคุณภาพเสื่อมโทรมสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ปากคลอง 12 ธันวา และหน้าโรงฟอกย้อม กม.35 จ.สมุทรปราการ ปากคลองท่าเคย จ.สุราษฎร์ธานี ปากแม่น้ำเจ้าพระยา จ.สมุทรปราการ และปากแม่นํ้าท่าจีน จ.สมุทรสาคร เนื่องจากเป็นพื้นที่รองรับน้ำเสียจากชุมชน แหล่งอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ขณะที่คุณภาพอากาศ นางสุณีเผยว่า ภาพรวมมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ฝุ่นละอองยังเป็นปัญหา ซึ่งในปี 2560 พบว่าต.พระลาน จ.สระบุรี มีค่าฝุ่นละออง 19-257 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) สูงที่สุดในประเทศ เนื่องจากเป็นแหล่งเหมืองหิน โรงโม่บดหรือย่อยหิน โรงปูนซิเมนต์ และการขนส่ง ซึ่งได้เข้มงวดบังคับใช้กฎหมายกับโรงงานเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ส่วนรองลงมาพบในจ.ลำปาง มีค่าฝุ่นละออง 237 มคก./ลบ.ม ที่มีผลมาจากปัญหาหมอกควัน

อธิบดีคพ. กล่าวถึงการจัดการขยะมูลฝอยว่า มีปริมาณขยะ 27.40 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.26 แต่อัตราการเกิดขยะมูลฝอยต่อคนลดลงจาก 1.14 กก./คน/วัน เป็น 1.13 กก./คน/วัน และขยะมูลฝอยถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้องเพิ่มขึ้นร้อยละ 47 จาก 5.80 ล้านตัน เป็น 8.52 ล้านตัน ขณะที่ของเสียอันตรายจากชุมชนที่เกิดขึ้นมีทั้งหมด 618,749 ตัน ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง 60,619 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.80 เป็นผลมาจากความร่วมมือของชุมชนและภาครัฐ

 

ที่มา : มติชนออนไลน์