ทิชา ณ นคร ยื่น 7 ข้อเสนอ ดูแลและแก้ไขปัญหาเยาวชนให้ชัชชาติ

ชัชชาติหารือเครือข่ายร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาปัจจัยเสี่ยงเยาวชน รับ 7 ข้อเสนอดูแลและแก้ไขปัญหาให้กับเยาวชน

วันที่ 15 สิงหาคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับ นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก และที่ปรึกษามูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว และคณะ ว่า วันนี้มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว และภาคีเครือข่ายได้มายื่นข้อเสนอเกี่ยวกับการดูแลและแก้ไขปัญหาให้กับเยาวชน จำนวน 7 ข้อเสนอ ประกอบด้วย

1. เครือข่ายขอให้ กทม.เร่งพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน และกิจกรรม ที่มุ่งเน้นให้เด็กและเยาวชนค้นหาตัวตน ค้นหาความฝันของตัวเอง มีทักษะชีวิตที่ดี เคารพหลักการประชาธิปไตย เคารพสิทธิมนุษยชน ความหลากหลาย เคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายผู้อื่น ปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบ และไม่บูลลี่

ข้อนี้เป็นหนึ่งในนโยบายที่เราไม่สนับสนุนและไม่ยอมรับการบูลลี่ หรือการคุกคามทางเพศภายในโรงเรียน รวมทั้งปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบซึ่งเป็นนโยบายที่เราต้องไปผลักดันในโรงเรียน รวมถึงบุคลากรของกทม.ด้วยเช่นกัน จะมีพฤติกรรมลักษณะนี้ไม่ได้ โดยเราจะเอาจริงเอาจังกับพฤติกรรมเหล่านี้

2. ขอให้ กทม.จัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มของเด็กและเยาวชน เพื่อทำกิจกรรมสร้างสรรค์ โดยมีทีมพี่เลี้ยงคอยแนะนำให้คำปรึกษา มิใช่ครอบงำ

ข้อนี้สอดคล้องกับนโยบายที่กระจายงบประมาณให้ชุมชนจัดทำโครงการที่ดูแลตัวเอง ซึ่งก็มีกองทุนที่มีอยู่แล้วหลังจากนี้จะสนับสนุนให้มีการเขียนโครงการเพื่อทำโครงการที่สนับสนุนกับเยาวชนมากขึ้น

3. ขอให้ กทม.จัดทั้งทีม “เพื่อนเด็กและเยาวชน” เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา รับฟังปัญหาของเด็กและเยาวชนอย่างเป็นมิตร นำไปสู่การเสริมสร้างพลังใจ (empowerment) เห็นคุณค่าในตัวเอง มีทางออกจากปัญหาที่ต้องเผชิญ

สำหรับในข้อนี้ จริง ๆ แล้วเครือข่ายของเรามีอยู่แล้ว มีหลายชมรมที่เข้ามา ดังนั้น กทม.อาจจะเป็นตัวกลางในการหาพื้นที่ที่มีความปลอดภัยให้เครือข่ายเหล่านี้ได้มาพบมาเจอเยาวชนตามโรงเรียนต่าง ๆ เหมือนเพื่อนแนะแนว ข้อนี้สามารถทำได้ เพราะเรามีกำลัง เรามีโรงเรียนอยู่ในสังกัด 437 โรงเรียน หากร่วมมือกับเครือข่ายก็จะเกิดพลังที่เข้มแข็ง ซึ่งตรงกับนโยบายของเรา

4. ขอให้ กทม.สนับสนุนพื้นที่สร้างสรรค์ที่หลากหลายให้เด็ก ๆ และเยาวชนได้แสดงออก จากความต้องการของเขาเอง

ข้อนี้ก็เป็นหนึ่งในนโยบายที่เราจะหาพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งหาพื้นที่ต่าง ๆ ที่อยู่ทั่วกรุงเทพฯ โรงเรียนก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่จะเปิดวันเสาร์-อาทิตย์ และเปิดหลังเลิกเรียนตอนเย็น ขณะเดียวกันเราก็มีพื้นที่ในสวนสาธารณะต่าง ๆ ที่ยังไม่ได้ใช้ หลังจากนี้จะพิจารณาพื้นที่เหล่านี้และเปิดให้เด็กได้ใช้บริการ

5. เครือข่ายขอให้โรงเรียนในสังกัด กทม.ปลูกฝังให้นักเรียนและผู้ปกครองเคารพวินัยจราจร และเร่งทำให้พื้นที่หน้าโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย อาทิ สวมหมวกนิรภัย จอดรถให้คนข้ามทางม้าลาย และเดินข้ามอย่างระมัดระวัง จำกัดความเร็วหน้าโรงเรียนไม่เกิน 30 กม./ชม. เป็นต้น

ข้อนี้ก็เป็นเรื่องที่สอดคล้องกัน กรุงเทพมหานครได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจประจำหน้าโรงเรียนในการรับ-ส่งเด็กเข้าโรงเรียน รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร พร้อมกันนี้ ยังมีโครงการจะมอบหมวกกันน็อกให้แก่เด็ก ซึ่ง กทม.ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทกลางประกันภัย เพื่อปลูกฝังให้เด็กสวมหมวกกันน็อก รวมถึงทางม้าลาย และการจำกัดความเร็ว

6. เครือข่ายขอสนับสนุนนโยบายโรงเรียนปลอดกัญชา กัญชง กระท่อม รวมไปถึงเหล้าบุหรี่และสารเสพติดทุกชนิด ของโรงเรียนในสังกัด กทม. และยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการร่วมออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ และมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง

สำหรับข้อนี้ กรุงเทพมหานครประกาศโรงเรียนปลอดกัญชามาตั้งแต่ต้น ซึ่ง กทม.มีหน้าที่ดูแลเด็ก จริง ๆ ก็เป็นกังวลเนื่องจากกัญชาเข้าถึงได้ง่ายกว่าบุหรี่ ทางกรุงเทพมหานครเป็นฝ่ายปฏิบัติ ไม่ได้เป็นคนดูแลกฎหมายเรื่องนี้ กัญชาเหมือนดาบสองคม คมหนึ่งเรื่องการแพทย์ อีกคมหนึ่งคือเรื่องการเสพติด ทำให้จิตใจมีปัญหา ในฐานะ กทม.ที่ดูแลเด็กและประชาชนใน กทม.ต้องดูดาบทั้งสองคมนี้อย่างระมัดระวัง

และ 7. เด็กที่หยุดเรียนหรือหลุดออกจากระบบโรงเรียน ส่วนหนึ่งจากเรื่องการเงิน แต่ส่วนหนึ่งมาจากบรรยากาศของการถูกบูลลี่ โดนล้อ ทำให้ไม่อยากมาเรียน ซึ่งข้อนี้ กทม.ต้องสร้างระบบที่ทำให้โรงเรียนเป็นสถานที่อบอุ่นและปลอดภัยสำหรับนักเรียนทุกคน

ทั้งนี้ ทั้ง 7 ข้อเป็นข้อเสนอที่มีประโยชน์ และในหลายเรื่อง รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ได้ดำเนินการไปแล้ว กทม.ก็ขอรับไปดำเนินการ โดยหลังจากนี้จะตั้งคณะทำงานร่วมกันคอยติดตามการทำงานทุกเดือน