เข้าใจตรงกัน! อย.แจงไม่เคยอนุญาตพื้นที่ใด “ปลูกกัญชา” มีเพียง ม.รังสิต ขออนุญาตครอบครองเพื่อการวิจัย

จากกรณีที่มีข่าวว่านายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีจังหวัดสกลนครเป็นพื้นที่นำร่อง 5,000 ไร่ สำหรับเป็นแหล่งปลูกกัญชา โดยเตรียมขออนุญาตตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขถึงการขออนุญาต และการอนุญาตผลิตจำหน่าย หรือมีไว้ครอบครอง ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2561 ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 มกราคม ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงข่าวกรณีดังกล่าว ว่า ขอชี้แจ้งว่ากฎกระทรวงดังกล่าว ออกมาจากพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ว่าด้วยการปลูก เฮมพ์ (HEMP) เป็นพืชชนิดย่อยของกัญชาที่ ที่เรียกว่า “กัญชง” ซึ่งจะมีลักษณะทางกายภาพคล้ายกัญชามาก แต่ที่สิ่งแตกต่าง คือ กัญชงจะมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล หรือ THC ในปริมาณไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกัญชา 3 เปอร์เซ็นต์ สารตัวนี้จะเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ถือเป็นสารเสพติด จึงมีการอนุญาตให้ทดลองปลูกกัญชงในหลายพื้นที่ แต่ไม่อนุญาตให้ปลูกกกัญชา เพราะมีสารในปริมาณที่มากกว่า

“หากจะปลูกพืชกัญชาจะต้องขออนุญาตตามกฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 หรือในประเภท 5 พ.ศ.2559 โดยจะต้องผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และการจะครอบครอง ก็ต้องมีการขออนุญาต นำเสนอให้คณะกรรมการได้เห็นว่าจะนำไปใช้อย่างไร มีขั้นตอนในการควบคุมอย่างไรจึงจะอนุญาต โดยที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้อนุญาตให้มีการครอบครองกัญชาได้เพื่อใช้ในโครงการศึกษา วิจัยที่จะพัฒนาสารสกัดจากกัญชาไปใช้ในประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น และมีเพียงมหาวิทยาลัยรังสิตมาขอครอบครองเพื่อการวิจัยเพียงแห่งเดียว เท่านั้น ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงไม่เคยอนุญาตให้ปลูกในพื้นที่ใดทั้งสิ้น” รองเลขาฯ อย.กล่าว

นายบุญฮง ยอดหอ ประธานสภาเกษตรกร จ.สกลนคร กล่าวว่า เบื้องต้นก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสได้พูดคุยกับคณะแพทย์และทีมวิจัยไปแล้วบาง ส่วน ตอนนี้ทราบรายละเอียดทั้งหมดแล้วว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยการรับแนวทางปฎิบัติภายในเดือนหน้าจะมีการประชุม เพื่อคัดสรรเกษตรกรที่มีคุณภาพร่วมทำโครงการ โดยยึดหลักปฎิบัติที่ดี มีจริยธรรมสูง เพราะเป็นพืชควบคุมและไม่นำไปใช้ผิดประเภท สำหรับพื้นที่นำร่อง 5,000 ไร่ ที่จะนำไปปลูกในเขตทหาร บนเทือกเขาภูพานจังหวัดสกลนคร เพื่อการควบคุมและเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายไม่นำไปใช้ในทางที่มีผลกระทบต่อประเทศ

 

ที่มา มติชนออนไลน์

Advertisment