Open House เคหะสุขประชา กู้ 60,000 ล้านผุดบ้านเช่าพร้อมอาชีพทั่วไทย

การเคหะ
คอลัมน์ : รายงาน
ผู้เขียน : ธนวัฒน์ บุญรวม

22 สิงหาคม 2565 การเคหะแห่งชาติ ดีเดย์จัดอีเวนต์ Open House เปิดตัวเป็นทางการธุรกิจร่วมทุน “บริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน)”

ความสำคัญคือ “บมจ.เคหะสุขประชา” จะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการขับเคลื่อนบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ที่มีการตั้งชื่อแบรนด์ว่า “บ้านเช่าเคหะสุขประชา” ทั่วประเทศไทย ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติกำหนดล็อตแรกไว้จำนวน 100,000 หน่วยด้วยกัน

แตกบริษัทร่วมทุน-กคช.ถือ 49%

เจ้ากระทรวง พม. “จุติ ไกรฤกษ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระบุว่า บมจ.เคหะสุขประชาจัดตั้งขึ้นเพื่อเข้ามาทำโครงการ “บ้านเคหะสุขประชา” ให้เกิดความคล่องตัวและประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น โฟกัสกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ให้เข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ

“ภารกิจของเคหะสุขประชารุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ด้วยการร่วมมือกันของการเคหะฯ กลุ่มผู้ถือหุ้น โดยได้ดำเนินการสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้คู่ขนานไปกับโครงการ ให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และยกระดับคุณภาพชีวิตได้ในแบบ มีบ้าน มีอาชีพ-มีรายได้-มีความสุข”

ถัดมา “ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ” ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า บมจ.เคหะสุขประชา มีการเคหะแห่งชาติ ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 49% และผู้ถือหุ้นเอกชนอีก 6 ราย ได้แก่ 1.บริษัท ออมสุข วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด 25% 2.บริษัท วินโดว์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) 11% 3.บริษัท ไทยจัดการลองสเตย์ จำกัด 5% 4.บริษัท แฟคซิลิตี้ แมนเนจเมนท์ จำกัด 5% 5.บริษัท มหาจักร อิเล็คทริค (ประเทศไทย) จํากัด 2.5% และ 6.บริษัท แอดวานซ์ แมททีเรียลส์ คอร์ปอเรชั่น จํากัด 2.5%

โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 500 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินลงทุนจากการเคหะฯ 245 ล้านบาท เงินลงทุนผู้ถือหุ้นเอกชน 255 ล้านบาท

ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ
ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ

ภารกิจกู้เงิน 60,000 ล้าน

ทั้งนี้ งบการสร้าง “เคหะสุขประชา บ้านเช่าพร้อมอาชีพ” จะระดมทุนจากภาคเอกชนทั้งหมด วงเงิน 60,000 ล้านบาท โดยทางเคหะสุขประชาได้แต่งตั้ง บล.ทรีนีตี เป็นที่ปรึกษาการระดมทุน (FA-Financial Advisor)

แผนลงทุนโครงการบ้านเคหะสุขประชารับเป้ามาจำนวน 100,000 หน่วย ใช้เวลาดำเนินงานภายใน 4 ปี แบ่งเป็นแผนงานปี 2565-2566 ปีละ 30,000 หน่วย รวม 60,000 หน่วย แผนงานปี 2567-2568 ปีละ 20,000 หน่วย รวม 40,000 หน่วย

ก่อนหน้านี้ มีการส่งมอบบ้านเช่าในโครงการนำร่องแล้ว คือบ้านเคหะสุขประชาฉลองกรุง 302 หน่วย กับบ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า 270 หน่วย อัตราค่าเช่า 1,500-3,500 บาท/เดือน

บ้านเช่า+อาชีพ 100,000 หน่วย

สำหรับโมเดลโครงการบ้านเคหะสุขประชา จะมีการสร้างเศรษฐกิจชุมชนคู่ขนานในมิติของ “มีบ้าน มีอาชีพ มีรายได้ มีความสุข” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้เช่าให้สามารถประกอบอาชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยจัดให้มีพื้นที่สีเขียว พื้นที่สันทนาการ ที่จอดรถ พื้นที่เศรษฐกิจสุขประชาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

ประกอบด้วย 6 รูปแบบ ได้แก่ เกษตรอินทรีย์, ปศุสัตว์, ตลาด, ศูนย์การค้าปลีกค้าส่ง, อาชีพบริการในชุมชนและชุมชนข้างเคียง และอุตสาหกรรมขนาดเล็ก มุ่งส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระในชุมชน รวมถึงสนับสนุนเศรษฐกิจตามภูมิสังคมของพื้นที่นั้น ๆ ที่เริ่มตั้งแต่การผลิตไปจนถึงช่องทางการจัดจำหน่าย

“โครงการบ้านเช่าเคหะสุขประชาทั้ง 100,000 หน่วย จะช่วยสร้างโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางได้พักอาศัยในที่อยู่ที่ดี มีคุณภาพมาตรฐานในราคาที่เหมาะสม ทั้งยังสามารถพัฒนาทักษะอาชีพในชุมชนเพื่อสร้างรายได้ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต รวมถึงยกระดับสังคมอย่างยั่งยืน”

โฟกัสผู้มีรายได้น้อย-เปราะบาง

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “พิษณุพร อุทกภาชน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เคหะสุขประชา เกี่ยวกับแผนดำเนินการในขั้นตอนการปฏิบัติ พบว่าแผนกู้เงิน 60,000 ล้านบาทนั้น บริษัทมีเวลาทำงานอีก 5 เดือน (สิงหาคม-ธันวาคม 2565) วางแผนใช้วงเงินลงทุนก้อนแรก 20,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กำลังปรึกษากับที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อดำเนินการต่อไป

ขณะเดียวกัน ได้มีโครงการนำร่องไปแล้ว 2 โครงการคือ เคหะสุขประชาร่มเกล้า กับเคหะสุขประชาฉลองกรุง หน่วยรวมกัน 572 หน่วย สามารถปิดการเช่าได้อย่างรวดเร็ว และมีความต้องการเช่าอีกถึง 3 พันหน่วย สูงกว่าซัพพลายที่มี 5-6 เท่า ปัจจุบันกำลังเตรียมทำโครงการต่างจังหวัดเพิ่มเติม มีโครงการเคหะเกษตรยั่งยืน อำเภอนิคมพัฒนา จ.ระยอง บนเนื้อที่ 144 ไร่ มูลค่า 150 ล้านบาท

ด้าน “ผู้เช่า” เบื้องต้นกำหนดเงื่อนไขและคุณสมบัติให้สิทธิ์เฉพาะ 1.ผู้มีรายได้น้อย 2.กลุ่มเปราะบางเท่านั้น ยังไม่มีการขยายกลุ่มลูกค้าไปยังกลุ่มอื่น ๆ โดยอัตราค่าเช่าวิ่งอยู่ระหว่าง 1,500-3,500 บาท/เดือน ซึ่งแบ่งผู้เช่าเป็น 4 กลุ่ม ตามนิยามดังนี้

“กลุ่ม X” ผู้เช่าที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้พิการ พื้นที่ใช้สอย 30 ตารางเมตร, “กลุ่ม A” คนโสด พักอาศัยคนเดียว พื้นที่ใช้สอย 30 ตารางเมตร, “กลุ่ม B” ครอบครัวเริ่มต้น อาจมีลูก 1-2 คน พื้นที่ใช้สอย 40 ตารางเมตร และ “กลุ่ม C” ครอบครัวขยาย พักอาศัยตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป พื้นที่ใช้สอย 50 ตารางเมตร

“โมเดลพัฒนาบ้านเช่า บริษัทเคหะสุขประชาไม่มีแลนด์แบงก์ของตัวเอง แต่จะพัฒนาโครงการเช่าบนที่ดินการเคหะฯ และที่ราชพัสดุ รวมถึงแลนด์แบงก์เอกชน ซึ่งใช้รูปแบบการเช่าที่ดินมาพัฒนา” ซีอีโอเคหะสุขประชากล่าว