อุทธรณ์คุก 3 ปี “ศักดาพินิจ” อดีตรองกก.ธอส. ปล่อยกู้หนี้เน่ากว่า 200 ล้าน ไม่รอลงอาญา

เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซอยสีคาม ถนนนครไชยศรี ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายโอฬาร เกตุพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภูมิภาค 2 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ นายปิยะรัตน์ อุศุภรัตน์ ผู้ช่วย ผอ.ฝ่ายกิจการสาขาภูมิภาค 2 นายปัญญา สุดใจ หัวหน้างานสินเชื่อสาขาฝ่ายกิจการสาขาภูมิภาค 1 ธอส. และ นายศักดา หรือศักดาพินิจ ณรงค์ชาติโสภณ รองกก.ผจก ธอส. เป็นจำเลย 1- 4 ฐานกระทำผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11

คำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม- ธันวาคม 2540 จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันกระทำผิดกฎหมายกล่าวคือ โครงการแก่งหลวง ครันทรี มาลีน่า อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี จัดสรรที่ดินว่างเปล่า 119 แปลง บนเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ มีนายจุนเกียรติ หรือ จิรพัฒน์ เบ้าสุวรรณ เป็นผู้ดำเนินโครงการแก่งหลวง ครันทรี มารีน่า โดยให้ ธอส.สนับสนุนสินเชื่อแก่ลูกค้ารายย่อยต่อมาเดือนพฤษภาคม 2540 นายศักดาพินิจ จำเลยที่ 4 อาศัยตำแหน่งหน้าที่สั่งการให้จำเลยที่ 2-3 ไปตรวจสอบโครงการกับนายจุนเกียรติและพนักงานสินเชื่อของ ธอส.สาขานครปฐม และประเมินราคาของบริษัทโปรเสปคเจอรัล จำกัด และพนักงานประเมินราคาของบริษัท 1989 คอนซัลเทนส์ จำกัด เพื่อเตรียมเสนอขอกู้เงิน

แต่เมื่อมีการตรวจสอบพื้นที่เพื่อประเมินราคาหลักทรัพย์ประกันที่จะขอสินเชื่อปรากฏว่าราคาประเมินที่ดินมีราคาต่ำกว่าราคาที่เจ้าของโครงการกำหนดเป็นราคาขายมาก โดยขณะตรวจสอบโครงการมีการให้สินบนแก่พนักงานประเมินของ ธอส.นครปฐมและพนักงานประเมินของเอกชนเพื่อเป็นการจูงใจให้มีการประเมินราคาสูงขึ้นจากผู้ประเมินราคา แต่ผู้ประเมินไม่รับสินบนและประเมินราคาที่ดินให้เพียงครึ่งหนึ่ง จึงไม่สามารถประเมินราคาตามที่โครงการแจ้งมาได้ เมื่อไม่สามารถประเมินราคาตามที่เสนอได้ นายศักดาพินิจ จำเลยที่ 4 จึงสั่งการ ให้เปลี่ยนรูปแบบการขอสินเชื่อใหม่เป็นโครงการแหล่งเงินกู้ระยะยาว ไม่ต้องใช้ราคาประเมินจากบริษัทผู้รับจ้างดังกล่าว และสามารถบังคับสั่งการให้พนักงาน ธอส.ทำรายงานประเมินราคาที่ดินตามที่ต้องการได้ รวมทั้งสามารถควบคุมสั่งการและอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เพื่อง่ายต่อการสั่งการบังคับบัญชาของจำเลยที่ 4

ผู้จัดการ ธอส.นครปฐม ได้โต้แย้งให้จำเลยที่ 4 ปรับลดราคาประเมินโครงการลงเพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น แต่จำเลยที่ 4 ยืนยันมีคำสั่งว่าไม่ต้องลดราคาประเมินเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตนเองและพวก กระทั่งโครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากจำเลยที่ 1 ทั้งที่จำเลยที่ 1 ทราบความผิดปกติของโครงการว่าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 4 เช่นเดียวกับโครงการอื่นๆ ที่เคยก่อความเสียหายกับ ธอส.มาแล้ว ต่อจากนั้นจำเลยทั้ง 4 คน ร่วมดำเนินการให้สินเชื่อแก่ลูกค้ารายย่อยในโครงการดังกล่าวเป็นแหล่งเงินกู้ระยะยาวซึ่งไม่ต้องใช้ราคาประเมิน

อีกทั้งจำเลยที่ 3 ได้เร่งรัดการทำงานของพนักงาน ในฝ่ายกิจการสาขาภูมิภาคที่มีหน้าที่ทุกขั้นตอน ทำให้พนักงานสินเชื่อไม่สามารถวิเคราะห์สินเชื่อโดยใช้วิจารณญาณและดุลพินิจในการพิจารณาพยานหลักฐานของลูกค้าผู้กู้อย่างละเอียดรอบคอบ จนมีลูกค้าจำนวน 65 ราย กู้ยืมเงินจาก ธอส.และผิดนัดไม่ชำระเงินคืนตามสัญญา จนทำให้ ธอส.ได้รับความเสียหาย 218,961,621 บาท โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาจำเลยตามความผิด เหตุเกิดที่แขวงและเขตห้วยขวาง กทม. และที่อื่นเกี่ยวพันกัน

จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ คดีนี้ศาลชั้นต้น พิพากษาเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2559 ให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 4 เห็นว่าอัยการโจทก์ มีพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ ธอส.ต่างเบิกความสอดคล้องกันว่า การปล่อยสินเชื่อของจำเลยที่ 1-4 เป็นไปตามระเบียบของ ธอส. และพวกจำเลยก็ไม่ได้รับผลประโยชน์จากการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว ดังนั้นพยานหลักฐานโจทก์จึงยังไม่เพียงพอว่าจำเลยที่ 1-4 ร่วมกันกระทำผิดตามฟ้อง

อย่างไรก็ตามอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาในขณะนั้น ได้ทำความเห็นแย้งไว้ในคดีว่า การกระทำของจำเลยทั้งหมด เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เห็นควรให้จำคุก นายศักดาพินิจ จำเลยที่ 4 เป็นเวลา 5 ปี ส่วนจำเลยที่ 1, 2 และ 3 ให้จำคุกคนละ 3 ปี

ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาขอให้ศาลลงโทษจำเลยทั้งหมด

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่าการที่จำเลยที่ 1-3 พิจารณาผ่านคำขอกู้ของลูกค้าย่อมถือว่าไม่เป็นการผ่านงานตามขั้นตอนหรือระเบียบของ ธอส. พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1-3 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1-3 ร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ธอส.อันเป็นการร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง

ส่วนนายศักดาพินิจ จำเลยที่ 4 แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 4 สั่งการให้จำเลยที่ 1-3 และพนักงาน ธอส.คนอื่นๆ ดำเนินการเกี่ยวกับโครงการแก่งหลวง ครันที มารีน่า แต่มีพยานเบิกความต่อคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช.ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้อนุมัติให้สินเชื่อแก่ลูกค้าในโครงการฯถึง 65 ราย และยังได้ความจากพยานซึ่งเบิกความว่าจำเลยที่ 2-3 ไปร่วมตรวจสอบโครงการเนื่องจากได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 4 ซึ่งปกติจะไม่มีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานใหญ่ไปร่วมตรวจสอบด้วย ทั้งพฤติการณ์ของจำเลยที่ 4 ที่ได้เร่งรัดสั่งการอนุมัติสินเชื่อให้แก่ลูกค้ารายย่อยของโครงการให้เสร็จโดยเร็ว

รวมทั้งจำเลยที่ 4 ยังได้สั่งการให้จำเลยที่ 1 ผ่านงานของโครงการแก่งหลวงฯอย่างรวดเร็ว ส่วนที่จำเลยที่ 4 อ้างว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุมัติโครงการ ว่าเป็นโครงการระยะยาวแต่เป็นการอนุมัติตามระเบียบ ธอส. และไม่รู้จักกับนายจุนเกียรตินั้นเห็นว่า จำเลยมีเพียงตัวจำเลยคนเดียวเป็นพยานเบิกความลอยๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุน ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากจำเลยที่ 1-3 ยืนยันว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้สั่งการให้เร่งรัดในขั้นตอนต่างๆ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ทั้งนี้จำเลยที่ 4 กับนายจุนเกียรติ เคยร่วมงานในโครงการอื่นๆมีความสนิทสนมกันมาก่อน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 สั่งให้จำเลยที่ 1-3 และพนักงาน ธอส.คนอื่นๆ ดำเนินการเกี่ยวกับโครงการแก่งหลวงในการอนุมัติให้ลูกค้ากู้เงินจาก ธอส.โดยมิชอบด้วยระเบียบข้อบังคับของธนาคาร การกระทำของจำเลยที่ 4 เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหาย แก่ ธอส.

ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลอุทธรณ์ฯไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น พิพากษากลับว่าจำเลยทั้ง 4 มีความผิด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 ประกอบ 83 ให้จำคุกจำเลยที่ 1-3 คนละ1ปี ให้จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 3 ปี คำให้การของจำเลยที่ 1-3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาบ้างลดโทษให้คนละ 1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 8 เดือน

 

ที่มา : มติชนออนไลน์