โอมิครอน BA.2.75.2 มาไทยจริง มีอะไรที่น่ากังวล ?

โอมิครอน BA.2.75.2 มาไทยจริง

สาธารณสุขยืนยันแล้ว ไทยพบโอมิครอน BA.2.75.2 จริง แล้วเราต้องรู้และกังวลอะไร?

วันที่ 14 กันยายน 2565 มติชนรายงานว่า นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย ทนพ.พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย

โดยยืนยันพบการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.75.2 แล้วจริง จำนวน 1 ราย พร้อมกับสายพันธุ์ย่อยอื่น ๆ ทั้ง BA.2.75.1 และ BA.2.75.3 ที่พบผู้ติดเชื้อรายแรกแล้วเช่นกัน

“ประชาชาติธุรกิจ” สรุปให้เข้าใจง่ายขึ้น โอมิครอน BA.2.75.2 มีอะไรที่เราควรรู้จักและมีอะไรน่ากังวล?

เปิดข้อมูลการเฝ้าระวังโควิดกลายพันธุ์

นพ.ศุภกิจ เปิดเผยข้อมูลการเฝ้าระวังสายพันธุ์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการตรวจเชื้อเบื้องต้นไปทั้งหมด 359 ราย เชื้อส่วนใหญ่ยังเป็น BA.4 /BA.5 จำนวน 333 ราย โดย BA.2.75 มี 5 ราย ดังนั้น ภาพรวมประเทศเป็น BA.4 /BA.5 ร้อยละ 93 ที่เหลือเป็น BA.1 BA.2 และ BA.2.75 โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่าเป็น BA.4 /BA.5 ร้อยละ 92 ส่วนภูมิภาคพบ ร้อยละ 94

เมื่อถอดรหัสพันธุกรรมจำนวน 803 ราย พบว่า สายพันธุ์ BA.2.75 มี 9 ราย ส่วนใหญ่ยังเป็น BA.5 ที่ 688 ราย หรือประมาณร้อยละ 85 ของจำนวนทั้งหมด และเป็น BA.4 อีก 106 ราย ซึ่งข้อมูลสอดคล้องกับโลกที่ BA.5 พบมากขึ้น

สำหรับการเฝ้าระวังสายพันธุ์ BA.2.75 และสายพันธุ์ย่อย นพ.ศุภกิจ อ้างอิงข้อมูลในจีเสด (GISAID) จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งหมด 9 ตัวอย่าง พบในพื้นที่ ดังนี้

  • กรุงเทพมหานคร 5 ราย
  • จ.แพร่ 2 ราย
  • จ.ตรัง 1 ราย
  • จ.สงขลา 1 ราย

โดยในกรุงเทพฯ พบสายพันธุ์ย่อยของ BA.2.75 ทั้ง BA.2.75.1, BA.2.75.2, BA.2.75.3 อย่างละ 1 ราย ส่วน 6 รายที่เหลือ เป็นการติดเชื้อสายพันธุ์แม่ BA.2.75

เชื้อไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2.75.2 มีการเปลี่ยนแปลงจากสายพันธุ์แม่ BA.2.75 โดยเพิ่มตำแหน่งการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง R346T และ F486S มีการสังเกตในห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ว่าจะมีผลต่อการแพร่ระบาด หรือความรุนแรงหรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่พูดกันถึง BJ.1 ซึ่งเป็นข้อมูลรวบของสายพันธุ์ BA.2.10.1 ซึ่งไม่ใช่พันธุ์ใหม่ แต่ยังเป็นลูกหลาน BA.2 ที่งอกออกมา และจริง ๆ ก็มีตัวอื่น ๆ อีก ซึ่งบางอันไม่มีปัญหาก็จบ สงบหายไป แต่ก็มีระบบเฝ้าดู

WHO ยังพบ BA.5 เป็นสายพันธุ์ใหญ่ที่เจอทั่วโลก

ข้อมูลการเฝ้าจับตาสายพันธุ์โควิด-19 ทั่วโลก ขององค์การอนามัยโลก โดยข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2565 เทียบ 2 สัปดาห์ (ระหว่างวันที่ 15-21 สิงหาคม กับ วันที่ 22-28 สิงหาคม 2565) พบว่า

  • BA.5 จากร้อยละ 84.8 เพิ่มเป็น ร้อยละ 86.8
  • BA.4 จากร้อยละ 6.8 ลดลงเหลือร้อยละ 4.2
  • BA.2 จากร้อยละ 2.6 ลดลงเป็นร้อยละ 2.5
  • BA.2.75 จากร้อยละ 0.9 เพิ่มเป็น ร้อยละ 1.2

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า หลายคนไปหยิบเอาข้อมูลบางอย่างขึ้นมา อย่าง BA.2.75 ที่มีเรื่องอำนาจการเพิ่มจำนวน โดยจากรายงานที่ส่งมาทั่วโลก และคนเอามาโพสต์แบบไม่มีข้อมูล โดยนำเมื่อมาเทียบกับ BA.5 ถึงร้อยละ 114 คนจึงกังวลว่า เร็วขึ้นอีกหรือไม่

“ข้อเท็จจริงคือ อันนี้เป็นข้อมูลสันนิษฐาน แต่ของจริงต้องพิสูจน์ว่า จริงหรือไม่ ต้องดูสัดส่วนก่อน ซึ่งตอนนี้การตรวจการกลายพันธุ์ในโลก ณ ขณะนี้ ไม่ได้ทำมากเท่าเดิม บางประเทศไม่ได้ซีเรียส หน้ากากอนามัยก็ถอด แต่ของประเทศไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ เราก็นำมาจับตาเฝ้าระวังในประเทศ” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ขอคนไทยอย่าตื่นตระหนก และป้องกันตัวเองต่อไป

ย้อนไปเมื่อช่วงอธิบายไวรัสกลายพันธุ์ นพ.ศุภกิจ อธิบายเรื่องการกลายพันธุ์ ว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างจับตาการกลายพันธุ์ในตำแหน่งต่าง ๆ มีความหมายอย่างไร ว่าจะส่งผลต่อการแพร่ระบาด ความรุนแรง การหลบวัคซีนหรือไม่

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขอให้เชื่อมั่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมกับเครือข่ายการตรวจสายพันธุ์ทั่วโลก ทำการเฝ้าระวังและส่งรายงานในระบบจีเสดอย่างสม่ำเสมอ หากอันไหนมีสัญญาณจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกว่า ต้องดูตรงไหนเป็นพิเศษ เราก็จับตาดู และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถตรวจจับได้ ไม่ได้ช้า ไม่ได้มีปัญหา ไม่ต้องกังวล

สรุป คือ ณ วันนี้ ในประเทศไทยยังเป็น BA.5 พบสัดส่วนร้อยละ 85 ส่วน BA.4 พบร้อยละ 13 ส่วน BA.2.75 รวมถึงสายพันธุ์ย่อยเพียงร้อยละ 1 ดังนั้น ขออย่าตื่นตระหนกจากข้อมูลบางคนที่ไปโพสต์ในโซเชียลฯ ขอให้ตั้งสติ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องการใช้ชีวิตของประชาชนว่า ควรใช้ชีวิตโดยไม่จำเป็นต้องไปสนใจสายพันธุ์โควิด-19 แล้วใช่หรือไม่ นพ.ศุภกิจ ตอบว่า ใช่ ตอนนี้ยังไม่มีอะไรกังวลมากกว่าที่ผ่านมา ถ้าหากมีอะไรผิดปกติขึ้นมา กรมวิทยาศาสตร์ฯ มีการเฝ้าระวังอยู่ตลอด ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่มีสัญญาณลักษณะนั้น

นอกจากนี้ ยังขอให้ใช้ชีวิตตามปกติไม่ต้องกังวลเรื่องสายพันธุ์ของการระบาด แต่ต้องเข้มมาตรการป้องกันโรคต่อไป เช่น การสวมหน้ากาก การล้างมือ การเว้นระยะห่าง