ลบประวัติหนุ่มโดนขังฟรี 7 วัน พงส.ขอโทษ ชี้กระบวนการส่งเอกสารบกพร่อง

เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. ในฐานะโฆษก ตร. แถลงความคืบหน้ากรณีนายเฉลิมพล อยู่ดี อายุ 27 ปี พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งเข้าร้องขอความเป็นธรรม ถูกตำรวจ สภ.เมืองชลบุรี แจ้งข้อหาเสพยาเสพติดจนต้องถูกนำตัวคุมขังนาน 7 วัน ว่า วันที่ 8 พฤษภาคม 2553 นายเฉลิมพล ผู้ร้องถูกตรวจปัสสาวะเบื้องต้นจากการใช้เครื่องตรวจอย่างง่าย ในชั้นจับกุม นายเฉลิมพลให้การรับสารภาพ แต่ในชั้นสอบสวนให้การปฏิเสธ พนักงานสอบสวน จึงส่งปัสสาวะไปตรวจสอบอีกครั้งที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดชลบุรี ระหว่างนั้นได้ส่งตัวนายเฉลิมพลไปยังศาลเพื่อขอให้มีคำสั่งให้ส่งไปดำเนินการตรวจสอบการเสพสารเสพติดหรือไม่ ปรากฏว่าผลการตรวจสอบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ผลไม่พบสารเสพติด พนักงานสอบสวนจึงแจ้งไปยังสำนักงานคุมประพฤติ จังหวัดชลบุรีว่าผู้ต้องหาไม่เป็นผู้เสพสารเสพติด กระทั่งวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 ตำรวจได้สรุปสำนวนความเห็นไปที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง

พล.ต.อ.วิระชัย กล่าวต่อว่า แต่ขั้นตอนการส่งสำนวนไปที่อัยการปรากฏว่าทางอัยการไม่รับสำนวนเพราะต้องการรายงานผลการฟื้นฟู เจ้าหน้าที่ที่เดินเอกสารจึงนำสำนวนกลับมาเก็บไว้ที่ห้องเก็บสำนวน สภ.เมืองชลบุรี พ.ต.ต.วินิจ ผันอากาศ เจ้าของสำนวน (ยศในขณะนั้น) คิดว่าสำนวนออกไปแล้วจึงไม่ได้ติดตาม เลยทำให้สำนวนคดีนั้นอยู่ในห้องเก็บสำนวนที่มีเอกสารจำนวนมาก หลังได้รับการประสานจากผู้ร้อง เมื่อวาน (22 ม.ค.) ได้ระดมค้นหาสำนวนตัวจริง เมื่อพบได้ดำเนินการไปขอรายงานจากสถานฟื้นฟูแล้วนำสำนวนไปส่งอัยการ อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง จึงนำความเห็นดังกล่าวมาที่กองทะเบียนประวัติอาชญากรลบชื่อออกจากกองทะเบียนประวัติอาชญากรเรียบร้อย ไม่มีประวัติเป็นผู้ใช้สารเสพติดแต่อย่างใด

โฆษกตร. กล่าวอีกว่า ส่วนความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สั่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงทั้งพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน และเจ้าหน้าที่เดินเอกสารใครมีความบกพร่องหรือไม่อย่างไร หากพบว่าใครบกพร่องจะดำเนินพิจารณาทัณฑ์ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริต การเรียกรับผลประโยชน์ เป็นเรื่องการติดต่อสื่อสารระหว่างพนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่เดินเอกสาร ส่วนขั้นตอนการเยียวยาเป็นสิทธิ์ที่ผู้ร้องดำเนินการได้ถ้าเขาเห็นว่าได้รับความเสียหาย รวมถึงการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ท้ายสุดแล้วผลจะเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ด้วยเหตุสุดวิสัยหรือความผิดพลาดในระบบการติดต่อสื่อสารเป็นดุลพินิจของศาล เคสนี้จะเป็นเคสตัวอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นในโรงพักอื่นอีก จากนั้น พล.ต.อ.วิระชัย ได้มอบเอกสารการรับรองผู้ไม่มีประวัติในกองทะเบียนประวัติอาชญากรให้นายเฉลิมพล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการแถลงข่าวของ พล.ต.อ.วิระชัย เผยว่านายเฉลิมพล รับสารภาพเป็นผู้เสพในชั้นจับกุมแต่ให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวน นายเฉลิมพลได้ชี้แจงว่าไม่ได้เสพยาแต่อย่างใด ปฏิเสธตั้งแต่อยู่ที่ด่านแล้ว เมื่อไปถึงโรงพักการเซ็นเอกสารเห็นแต่ตราครุฑ 7-8 ใบ เขาบอกให้เซ็นจึงขออ่าน 2 รอบ เขาก็ไม่ให้ดู ตำรวจที่จับมาจากด่านบอกแต่ว่า “มึงเซ็นๆ กันไปก่อนเถอะ ไม่ต้องอ่าน ไม่ต้องรู้มันคืออะไร” จึงต้องเซ็นไปเพราะกลัวไม่รู้จะโดนอะไรไหม เขาพูดแบบใส่อารมณ์ ต่อจากนี้จะไปที่กรมคุ้มครองสิทธิ์กระทรวงยุติธรรมเพื่อขอคำปรึกษาว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อ

รายงานแจ้งว่าในวันนี้ พ.ต.อ.วินิจ ผันอากาศ ผกก.สอบสวน กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 เจ้าของสำนวน เดินทางมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยและได้พบกับนายเฉลิมพล เป็นครั้งแรกพร้อมเปิดเผยว่า สำนวนสอบสวนเสร็จสิ้นเมื่อปี 2553 เมื่อไปส่งอัยการสำนวนขาดเอกสารการคุมประพฤติและคำวินิจฉัย จึงนำสำนวนกลับมาและรอติดตามผล ระหว่างรอเจ้าหน้าที่ได้เก็บเรื่องไว้ จึงไม่ทราบ จากนั้นโยกย้ายไปอยู่ที่อื่นกระทั่งทราบว่านายเฉลิมพล มาติดตามจึงมาค้นหาสำนวน เมื่อพบแล้วจึงรีบดำเนินการให้ เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นความบกพร่องระหว่างส่งเอกสาร เมื่อทราบปัญหาจึงได้รีบแก้ปัญหาให้ภายในวันเดียว ในนามส่วนตัวและหน่วยงานต้องขออภัยนายเฉลิมพล ที่ต้องมีประวัติติดตัว จากนั้นทั้งสองคนจึงจับมือกัน

นายเฉลิมพล กล่าวเพิ่มเติมหลังจาก พ.ต.อ.วินิจ ขอโทษว่า รู้สึกดี สบายใจขึ้น ส่วนบริษัทที่ทำงานทราบเรื่องแล้ว ให้ทำงานต่อตามปกติ แต่ยังติดใจอยู่ว่าทำไมต้องรอให้เวลาผ่านมากว่า 7 ปี ต้องรอให้มีเรื่องก่อนถึงมาแก้ไข

 


ที่มา : มติชนออนไลน์