ยื่นป.ป.ช. สอบ  รักษาการเลขาฯ กสทช. ปมให้ข่าวควบรวมทรู-ดีแทค

ทนายพรชัยยื่นหนังสือถึง ป.ป.ช. ให้สอบกรณี  รักษาการเลขาฯ กสทช. ให้ข่าวควบรวมทรู-ดีแทค

วันที่ 7 ตุลาคม 2565  นายพรชัย เวศย์วิบุล ทนายความ และนักกฎหมาย  ยื่นหนังสือที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของนาย ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ ทำหน้าที่รักษาการเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จากกรณีเสนอเอกสารเพื่อเข้าสู่การประชุม  และการแถลงต่อสื่อ จนอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในทางเอื้อประโยชน์ ให้เกิดการควบรวมโดยไม่สนใจขั้นตอนของกฎหมาย

นายพรชัย กล่าวว่า เป็นที่ทราบดีว่า กสทช. ต้องพิจารณากฎหมายแม่บทและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ที่จัดตั้งในฐานะองค์กรอิสระ ที่มีหน้าที่กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอย่างเป็นอิสระ โดยต้องไม่ยินยอมให้ผู้ใดมาแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. มิเช่นนั้นอาจถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบได้

ทั้งนี้จากผลการศึกษาของอนุกรรมการชุดต่างๆ และของ TDRI ปรากฏชัดว่า หากปล่อยให้มีการควบรวมกัน จะก่อให้เกิดการผูกขาดแบบถาวร  ส่งผลต่อราคาที่ผู้บริโภคจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน และกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ ให้ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก ซึ่ง กสทช. มีอำนาจตามกฎหมายของตนที่จะพิจารณาไม่อนุมัติให้เกิดขึ้นได้ แต่รักษาการเลขาฯ กลับ ชงเรื่องให้ กสทช. ว่ามีอำนาจเพียงแค่รับทราบรายงานและกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อควบคุมภายหลังได้เท่านั้น ไม่มีอำนาจที่จะไม่อนุมัติการควบรวมได้ ซึ่งขัดต่อความเห็นของอนุกรรมการด้านกฎหมายที่ กสทช. ตั้งขึ้นมาเอง นักวิชาการ สภาผู้บริโภค อาจารย์นิติศาสตร์ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะความเห็นของสำนักงาน กสทช.เอง ที่เคยไปให้การต่อศาลปกครอง ในคดีหมายเลขดำที่ 775/2565 ว่า กสทช.มีอำนาจพิจารณาที่จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ

นอกจากนี้ น่าสงสัยว่ามีความผิดปกติในการดำเนินงานของรักษาการเลขาธิการ กสทช. ในประเด็นการแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด เป็นที่ปรึกษาอิสระ เนื่องจากมีผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่เป็นประเด็นพิพาท เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่มีความเกี่ยวโยงกันทั้งทางตรงและทางอ้อม

นายพรชัย กล่าวว่า นอกจากนี้การเสนอความเห็นว่ากสทช.ไม่มีอำนาจอนุญาตการควบรวมธุรกิจนั้น ซึ่งแตกต่างจากที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็น อาจทำให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจผิดถึงอำนาจหน้าที่ของ กสทช. เกิดความสับสนต่อผู้บริโภคทั่วประเทศ  แม้จะมีการปฏิเสธข่าวในเวลาต่อมาก็กระทบต่อราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เกิดการผันผวน ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องยื่นเรื่องให้ป.ป.ช.พิจารณาตรวจสอบ