เสพข่าวหดหู่มากไป เสี่ยง Headline Stress Disorder กระทบต่อสุขภาพ

ข่าว สถานการณ์ Headline Stress Disorder
Photo by Matthew Guay on Unsplash

จิตแพทย์เตือนเสพข่าวหดหู่ติดต่อกันเป็นเวลานาน เสี่ยงเป็นภาวะ Headline Stress Disorder กระทบทั้งร่างกายและจิตใจ

วันที่ 7 คุลาคม 2565 เฟซบุ๊ก Mahidol Channel ของมหาวิทยาลัยมหิดล เผยแพร่บทความของ ผศ.นพ.วัลลภ อัจสริยะสิงห์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับภาวะทางจิตใจที่เกิดขึ้นจากการติดตามข่าวสารต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยระบุว่า

การติดตามข่าวสารที่ได้รับความสนใจในวงกว้าง ทำให้หลายคนเสพข่าวต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน ซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะสุขภาพจิต เพราะข่าวและเนื้อหาต่าง ๆ ที่เผยแพร่ในสื่อและโซเชียลมีเดีย สร้างความเศร้า ความเครียดสะสมจากการเสพข่าวหดหู่มากเกินไป อาจเกิดภาวะ Headline Stress Disorder

Headline Stress Disorder ไม่ใช่ชื่อโรค แต่เป็นคำที่ใช้เรียกภาวะเครียดหรือวิตกกังวลมากที่เกิดขึ้นจากการเสพข่าวทางสื่อต่าง ๆ ที่มากเกินไป โดยการเสพข่าวหดหู่มากไป สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจได้มากและหลายระบบ เช่น ใจสั่น แน่นหน้าอก นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า โกรธ ซึ่งถ้าปล่อยไว้ อาจส่งผลต่อการเกิดโรคบางอย่างได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า

กลุ่มที่เสี่ยงต่อภาวะ Headline Stress Disorder มีดังนี้

  • คนที่เหนื่อยล้าทั้งทางจิตใจหรือร่างกายอยู่แล้ว เช่น อาจกำลังเครียดเรื่องงาน ครอบครัว การเรียน พักผ่อนไม่เพียงพอ เจ็บป่วยอยู่นั้น อารมณ์จะอ่อนไหวง่าย เมื่อมาเสพข่าวที่หดหู่ก็จะเครียดได้ง่าย
  • คนที่มีโรควิตกกังวลหรือซึมเศร้าอยู่แล้ว จะถูกกระตุ้นได้ง่ายจากการเสพข่าวที่หดหู่
  • คนที่ใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์เยอะ ก็มีโอกาสที่จะรับรู้ข่าวทั้งที่จริงและปลอม ทั้งดีและร้าย ได้เยอะ
  • คนที่ขาดวิจารณญาณในการเสพข่าว อาจจะเป็นด้วยวัย วุฒิภาวะ หรือบุคลิกภาพ มีแนวโน้มจะเชื่อพาดหัวข่าวในทันทีที่เห็นได้ง่าย

สำหรับคำแนะนำในการจัดการความเครียดจากการเสพข่าวหดหู่ทั่วไปด้วยตนเอง สามารถทำได้ ดังนี้

  • จำกัดเวลาในการเสพข่าว เคร่งครัดกับเวลาที่กำหนดไว้
  • หากเครียดมากอาจงดเสพข่าวหรือใช้สื่อสังคมออนไลน์ไปสักพัก
  • อย่าเชื่อพาดหัวข่าวที่เห็นในทันที เพราะพาดหัวข่าวมักใช้คำที่กระตุ้นอารมณ์เพื่อดึงดูดให้คนสนใจ แนะนำให้อ่านรายละเอียดของข่าวด้วย
  • ตรวจสอบข่าวก่อนจะเชื่อ อ่านข่าวจากสื่อที่เชื่อถือได้ เพราะปัจจุบันมีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์กันมาก
  • หากเป็นข่าวด่วนอาจรอสักหน่อย ให้มีข้อมูลและความจริงมากขึ้นแล้วค่อยอ่านในรายละเอียดข่าว
  • พยายามมองหาสิ่งที่ดีในข่าวที่อ่านบ้าง ทุกอย่างมีทั้งด้านดีและร้ายเสมอ
  • อ่านข่าวที่ดีต่อใจบ้าง อย่าเสพแต่ข่าวที่หดหู่
  • อย่าเสพข่าวก่อนนอน เพื่อให้สมองได้พักและหลับได้ดี
  • ทำกิจกรรมคลายเครียด ผ่อนคลายบ้าง อย่าเอาแต่ติดตามข่าวทั้งวัน
  • พูดคุยกับคนอื่นบ้าง การหมกมุ่นกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งคนเดียวจะยิ่งทำให้จมกับความคิดลบ ๆ ได้ง่าย
  • หากทำตามคำแนะนำข้างต้นแล้วยังเครียดมากอยู่ ให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ Chatbot 1323 หรืออาจไปปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์

ก่อนหน้านี้ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ แนะนำวิธีการดูแลจิตใจเมื่อทราบข่าวหรือเห็นภาพความรุนแรง ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงการรับข่าวที่มากเกินไป ใช้เวลากับกิจกรรมอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อลดอารมณ์ และความเครียดจากการรับข่าวสาร
  2. หยุดส่งต่อภาพความรุนแรง ไม่ส่งภาพเหตุการณ์ หรือคลิปเหตุการณ์ความรุนแรง ที่ส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก
  3. ให้ความสำคัญกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งอารมณ์ช็อก เสียใจ โกรธ ทำใจไม่ได้ รู้สึกผิด สงบ และยอมรับ
  4. แบ่งปันความรู้สึก พูดคุย ระบายความรู้สึกโดยเน้นความเข้มแข็งของจิตใจ ที่สามารถจัดการความยากลำบากไปได้
  5. ถ้ารู้สึกไม่ไหว ขอคำปรึกษา ผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง