พ่อแม่ร้องไห้ปิ่มขาดใจ รับร่างลูกน้อยถูกพรากชีวิต จัดพิธีศพหนองบัวลำภู

สุดสะเทือนใจ ภาพพ่อแม่รับศพลูกน้อย เหยื่อสังหารหมู่ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ จังหวัดหนองบัวลำภู ผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาจัดทีมเยียวยา แนะเฝ้าระวัง และสำรวจจิตใจตนเอง

วันที่ 7 ตุลาคม 2565 บรรดาพ่อแม่และญาติพี่น้องของเด็กน้อยที่ตกเป็นเหยื่อสังหารหมู่วันที่ 6 ต.ค. ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู. เดินทางมารับร่างของลูก ท่ามกลางบรรยากาศเศร้าสะเทือนใจ

หน่วยกู้ภัยส่งเสริมธรรมอุดรธานี นำรถลำเลียงร่างของผู้เสียชีวิตทั้งหมดจำนวน 36 ราย รวมทั้งศพผู้ก่อเหตุมาถึงวัดต่าง ๆ ในจังหวัดหนองบัวลำภู ประกอบด้วย วัดหนองกุงศรี จำนวน 20 ราย วัดศรีอุทัย จำนวน 10 ราย และ วัดศรีสำราญ 6 ราย

ส่วนร่างสิบตำรวจเอกปัญญา คำราบ ผู้ก่อเหตุ ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ยอมให้นำมาเผาในพื้นที่ รถขนศพจึงต้องนำกลับออกไป โดยยังไม่รู้ว่าอยู่ที่ใด

บรรยากาศที่วัดศรีอุทัย ที่มีร่างผู้เสียชีวิตมาไว้ที่วัดแห่งนี้จำนวน 10 ราย ทางจิตอาสาช่วยกันลำเลียงศพลงจากรถตู้แล้วนำไปไว้ศาลาวัด และให้ญาติ ๆ ยืนยันตัวบุคคล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรดาพ่อแม่ของหนูน้อยผู้เคราะห์ร้าย ต่างพกันร้องไห้ระงมทั่ววัด ขณะดูและยืนยันศพลูกหลานของตัวเอง บางคนยืนไม่ได้เป็นลมล้มทั้งยืน ญาติๆ และจิตอาสาต้องช่วยกันปฐมพยาบาลอย่างเร่งด่วน

ส่วนที่วัดราษฎร์สามัคคี บ้านหนองกุงศรี เจ้าหน้าที่กู้ภัยนำร่างของผู้เสียชีวิตทั้งหมด 20 ราย มาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา จังหวะเคลื่อนโลงศพมาแล้วขานชื่อ เพื่อให้ญาตินำเอกสารมายืนยันต่อเจ้าหน้าที่ ว่าเป็นญาติของร่างที่บรรจุอยู่ในโลงหรือไม่

บรรยากาศที่วัดแห่งนี้เศร้าสลดน่าสะเทือนใจเช่นเดียวกัน เสียงร้องไห้ของพ่อแม่และญาติมิตรดังระงมปิ่มขาดใจ บางรายเป็นลมล้มทั้งยืน ทำให้มีทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่กู้ภัย รีบเข้ามาช่วยเหลือและพาไปปฐมพยาบาลเบื้องต้น

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการจัดทีมเร่งด่วนเพื่อเยียวยาจิตใจ (MCATT) เพื่อช่วยเหลือดูแลจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์กราดยิง จ.หนองบัวลำภู ว่า ขณะนี้เยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตทุกครอบครัว รวมถึงผู้เห็นและอยู่ในเหตุการณ์ รวมทั้งสิ้น 88 ราย ทุกรายยังต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด

ทั้งนี้ เนื่องจากยังมีความเสี่ยงสูงจากภาวะปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งปฏิบัติการเยียวยาที่สำคัญใช้หลักการปฐมพยาบาลทางใจ (Psychological First Aid: PFA) ในการเยียวยาจิตใจอย่างใกล้ชิด ช่วยให้ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ ครอบครัว ญาติ และคนในพื้นที่ ผู้ได้รับผลกระทบในชุมชนใกล้เคียง ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไป

ส่วนกลุ่มเด็กและผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ที่กำลังอยู่ในสภาพของความหวาดกลัว ตระหนก ควรให้การดูแลอย่างเร่งด่วนที่สุด ให้รู้สึกปลอดภัย อยู่ในสถานที่ที่รอดพ้นจากอันตราย ทำให้รู้สึกได้รับการปกป้องทางร่างกายและความรู้สึก

โดยผู้ปกครอง/คนที่คุ้นเคยรับฟังและเข้าใจการแสดงออก ท่าทางของเด็กๆ ควรระมัดระวังไม่ควรสอบถาม ซักไซ้ ขุดคุ้ย ให้เล่าถึงเหตุการณ์ เพื่อให้ตอบคำถามถึงเหตุการณ์นี้ซ้ำ ๆ จะทำให้เกิดบาดแผลทางจิตใจที่ลึกและเรื้อรังยากต่อการเยียวยา

ด้านกลุ่มญาติหรือผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเร่งเยียวยาผลกระทบสภาพทางอารมณ์ทันที ดูแลบาดแผลทางจิตใจให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันผลกระทบทางจิตใจระยะยาว

พญ.อัมพรกล่าวว่า การเยียวยาสร้างความเข้มแข็งทางใจในชุมชนให้ผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤตในพื้นที่ สามารถใช้หลักการ ดังนี้

  • Safe คือ สร้างบรรยากาศให้เกิดความรู้สึกปลอดภัยกลับมาโดยเร็ว
  • Calm การไม่กระจายข่าวลือหรือการส่งต่อข้อมูลจนเกิดการตื่นตระหนก
  • Hope การสร้างความหวังให้กับคนที่ยังมีชีวิตอยู่
  • Care การใส่ใจดูแลในสังคมร่วมกัน

ทั้งนี้ ทีม MCATT จะติดตาม ดูแลช่วยเหลือและเยี่ยมบ้านอย่างใกล้ชิดพร้อมจัดตั้งศูนย์เยียวยาจิตใจในพื้นที่ โดยกระจายตามจุดต่าง ๆ ในพื้นที่ และเข้าถึงได้ง่าย

ส่วนการเฝ้าระวังโรคเครียดภายหลังภยันตราย (PTSD) จะมีอาการ ดังนี้ ตื่นกลัวทั้งทางร่างกายและจิตใจ มีอาการหวาดกลัว ตื่นตระหนก ตกใจง่าย กระสับกระส่าย วิตกกังวล คิดมาก มองโลกและตนเองในแง่ลบ นอนไม่หลับ หงุดหงิด สมาธิแย่ลง

บางรายอาจมีความรู้สึกผิด รู้สึกซึมเศร้า หดหู่ สิ้นหวัง หรือการคิดเรื่องทำร้ายตัวเอง ดังนั้น ขอให้สำรวจความรู้สึกตัวเองว่า โกรธ ก้าวร้าว จนไม่สามารถจัดการได้หรือไม่

หากมีความรู้สึกนี้ขอให้ตั้งหลัก หาทางออก เช่น ขอคำปรึกษาจากคนใกล้ตัวรับฟังและใส่ใจคนรอบข้าง หากไม่สามารถจัดการความรู้สึกตัวเองได้ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต หรือโทรสายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

ด้าน พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองที่อ่านข่าวแล้วเกิดความสะเทือนใจ ควรหลีกเลี่ยงการเล่าเหตุการณ์นั้นให้เด็กฟัง เนื่องจากเป็นเหตุการณ์เฉพาะพื้นที่ ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติทั่วไป ไม่ใช่เรื่องที่สามารถสอนให้เด็กระวังตัวได้ เพราะไม่ได้อยู่ในจุดที่เด็กสามารถป้องกันตัวเองได้ ดังนั้น เด็กไม่จำเป็นต้องรับรู้โดยไม่จำเป็น

ขณะเดียวกันพ่อแม่อาจเกิดความรู้สึกผวา จึงต้องจัดการความรู้สึกของตัวเองให้ได้ก่อน ดูแลใจตัวเอง ติดตามข่าวจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ส่วนผู้ปกครองที่เด็กพบเหตุการณ์ทำนองดังกล่าว สิ่งสำคัญคือ คงกิจวัตรประจำวันของเด็กไว้ให้ดีที่สุด เพื่อให้เด็กรู้สึกว่า อยู่ในสภาวะปกติ

ต่อมาให้สังเกตอาการของลูก ในเด็กเล็กเมื่อเวลาเครียดหรือตกใจ จะเล่นน้อยลง ไม่ร่าเริง พูดน้อยลง พัฒนาอาจถดถอยลง หรือเมื่อสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่คล้ายกัน ก็จะตกใจง่าย เช่น เห็นผู้ชายลักษณะคล้ายกัน หรืออื่นๆ ที่เด็กจะแสดงออก เช่น ฝันร้าย นอนไม่หลับ ซึ่งการฝันของเด็กอาจไม่เห็นเป็นเหตุการณ์ แต่จะเห็นเป็นเงาดำ ๆ หรือฝันเห็นผี

หากผู้ปกครองทราบว่า ลูกมีความเครียดแล้ว สามารถพาลูกเล่นให้ผ่อนคลาย ทำกิจกรรม เช่น วาดภาพ ปั้นดินน้ำมัน เล่านิทาน เพื่อให้เด็กได้แสดงความรู้สึก ความเครียด สื่อความคิดของตัวเองผ่านรูปแบบการเล่นหรือทำกิจกรรมต่างๆ เวลาที่เด็กเกิดอาการตกใจ ให้พ่อแม่กอดปลอบลูก แสดงความรัก ความอบอุ่นให้ลูก” พญ.ดุษฎีกล่าว และว่า

เด็กเล็กอาจไม่ได้จำรายละเอียดในเหตุการณ์ แต่จะจำความรู้สึกได้ ถ้าไม่ได้รับการดูแลหรือเยียวยาจิตใจอย่างเหมาะสม เด็กอาจจะฝังเป็นบาดแผลทางใจได้ เด็กบางคนเล่าได้ว่าเป็นความรู้สึกเศร้าที่สุดในชีวิตตอนอายุเท่านี้ แม้จำเหตุการณ์ไม่ได้เป๊ะ แต่จำความรู้สึกได้

…………