เปิดตัว 5G smart station ณ สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ งบ 43 ล้านบาท

เปิดตัว 5G smart station

สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือสถานีกลางบางซื่อ เปิดตัวเป็นสถานี 5G Smart Station นำเทคโนโลยี 5G สนับสนุนให้มีหุ่นยนต์ต้อนรับ รถเข็นอัจฉริยะ และระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะด้วยระบบ AI

วันที่ 21 ตุลาคม 2565 คณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย
ได้ร่วมกันเปิดตัวต้นแบบสถานีอัจฉริยะ 5G (5G Smart Station) แห่งแรกในไทยและอาเซียน ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ยกระดับบริการล้ำสมัยเพื่อให้บริการประชาชน ซึ่งได้รับการผลักดันจากคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ

และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเป็นตัวอย่างนำร่องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไทยและประเทศไทย โดยมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดตัวโครงการ

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สถานีอัจฉริยะ 5G ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคนอย่างแท้จริง เพราะไม่เพียงเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของประเทศ แต่ยังเป็นสถานีอัจฉริยะ 5G แห่งแรกของอาเซียน ที่ทันสมัยและประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึง
ได้อย่างเท่าเทียม

โดยบริการภาครัฐนี้เป็นผลจากความร่วมมืออย่างดีเยี่ยมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นการยกระดับคุณภาพการให้บริการและความปลอดภัยในสถานีด้วยเทคโนโลยี 5G ที่สำคัญพื้นที่นี้ประชาชนทุกคนและทุกกลุ่มจะสามารถเข้ามาสัมผัสประสบการณ์การใช้งานเทคโนโลยี 5G ได้โดยตรง อย่างสะดวก ง่าย ทั่วถึงและเท่าเทียมอย่างแท้จริง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมุ่งพัฒนาสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมเทียบเท่าสถานีรถไฟชั้นนำของโลก และเป็นแกนกลางการเดินทางสู่มหานคร ครอบคลุมทุกบริการ “ระบบราง” เชื่อมต่อทุกรูปแบบการเดินทาง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เน้นการให้บริการประชาชนในการเดินทางไปยังทุกจุดหมายด้วยความสะดวกสบาย รวดเร็ว และปลอดภัย

พร้อมกันนี้ ยังเล็งเห็นศักยภาพของเทคโนโลยี 5G ที่จะช่วยยกระดับการบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศไทย จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในการพัฒนาสถานีอัจฉริยะ 36 ชั้น ให้มีบริการหุ่นยนต์ต้อนรับ รถเข็นอัจฉริยะ และระบบรักษาความปลอดภัยด้วยปัญญาประดิษฐ์

ขอขอบคุณคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้สนับสนุนงบประมาณให้ดำเนินโครงการนี้

นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟฟ้า การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สำหรับการดำเนินการสถานีอัจฉริยะ 5G นี้ ได้รับงบประมาณจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นจำนวน 43 ล้านบาท เพื่อติดตั้งโครงข่าย 5G ทั่วทั้งบริเวณสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ และมีบริการหุ่นยนต์ต้อนรับจำนวน 6 ตัว รถเข็นอัจฉริยะสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการจำนวน 7 คัน และระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะด้วยปัญญาประดิษฐ์หรือ AI

ระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะด้วยปัญญาประดิษฐ์นี้ ปัจจุบันติดตั้งระบบโดยเชื่อมโยงกล้อง CCTV จำนวน 120 ตัวทั่วทั้งสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยสามารถแจ้งเตือนเหตุแก่เจ้าหน้าที่ได้อย่างทันท่วงที เช่น ระบบตรวจสอบการล้ำเข้าไปในระยะอันตรายระหว่างรอรถไฟฟ้า หรือระบบศึกษาสามารถตรวจจับใบหน้าซึ่งเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลอาชญากรรม เพื่อสามารถระงับเหตุร้ายได้อย่างรวดเร็ว

โดยในระยะแรกจะนำมาใช้กับรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง ก่อนที่จะขยายสู่รถไฟระหว่างเมืองต่อไป

ด้านนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีพันธกิจในการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตามนโยบาย ตามแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึง สดช.มีแผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G โครงการนำร่อง 5G Smart Station ณ สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ถือเป็นโครงการสำคัญโครงการหนึ่งในแผนปฏิบัติการดังกล่าว

อีกทั้ง สดช.เล็งเห็นถึงศักยภาพของศูนย์กลางการคมนาคมของประเทศไทยอย่าง “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” ที่จะเป็นสถานีที่มีผู้คนสัญจรรายวันจํานวนมาก เราจึงให้ผนึกกำลังกับการรถไฟฯ ซึ่งต้องขอขอบคุณการรถไฟฯ ผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ตั้งแต่เริ่มต้นในการคิดรูปแบบบริการที่จะให้บริการแก่ประชาชน จนถึงพัฒนาบริการเหล่านั้นให้สามารถให้บริการประชาชนได้จริง

ที่สำคัญสถานีอัจฉริยะ SG ยังจะเป็นพื้นที่สำคัญในการเป็นแหล่งเรียนรู้ ซึ่งหากมีภาคส่วนใดที่สนใจ สามารถทดลองใช้งานและนำไปสู่การต่อยอดการใช้ประโยชน์ด้วยเทคโนโลยีอื่น ๆ บนโครงข่าย 5G ให้เหมาะสมกับรูปแบบการดำเนินงานของตน หรือนำไปสู่การทำซ้ำได้ต่อไปในอนาคตอีกด้วย

นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า กลุ่มทรูขอขอบคุณการรถไฟฯ ที่ให้ความไว้วางใจและเชื่อมั่นในศักยภาพของเครือข่ายอัจฉริยะทรู 5G และให้กลุ่มทรูเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ 5G Smart Station อย่างแตกต่าง โดดเด่น และมีประสิทธิภาพ ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่มีความสำคัญระดับประเทศ

ซึ่งเครือข่ายทรู 5G และเทคโนโลยีดิจิทัลล้ำสมัย จะช่วยยกระดับการบริการและความปลอดภัยอัจฉริยะ เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยได้ใช้บริการ 5G อย่างเท่าเทียมและทั่วถึงอีกด้วย