พบ “ปลาผีเสื้อลายส้ม” ครั้งแรกในประเทศไทย ที่เกาะสิมิลัน เชื่อผลดีจากปะการังฟื้นตัว

วันที่ 30 ม.ค. นายปรารพ แปลงงาน หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 จังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า จากการสำรวจแนวปะการังประจำปี 2560 มีแนวโน้มการฟื้นตัวดีขึ้นมาก มีปลาขนาดใหญ่ เช่น ทูน่าครีบเหลือง และฝูงปลากะมง เข้าไปหากินในแนวปะการัง ทั้งยังสำรวจพบ “ปลาผีเสื้อลายส้ม” ชื่อวิทยาศาสตร์ Chaetodon ornatissimus ชื่อสามัญ Ornate butterflyfish ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจสอบยืนยันแล้วว่า เป็นการค้นพบใหม่ครั้งแรก (new record)ไม่เคยมีรายงานการพบในประเทศไทยมาก่อน เข้าไปอาศัยหากินอยู่บริเวณหมู่เกาะสิมิลันอีกด้วย โดยการศึกษาผลกระทบ และความเปลี่ยนแปลง ของทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมถึงการฟื้นตัวของแนวปะการัง ที่เกิดความเสื่อมโทรมจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยว และภัยคุกคามจากธรรมชาติ เช่น คลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มชายฝั่งในปี 2547 อุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้น จนเกิดปรากฏการปะการังฟอกขาวเมื่อปี 2553 ส่งผลให้ปะการังได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง

ล่าสุดพบว่าการฟื้นตัวของแนวปะการังในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน แนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะบริเวณ “อีสต์ออฟเอเดน” มีปะการังมีชีวิตครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 38.19 โดยเฉพาะกลุ่มปะการังแข็ง ได้แก่ ปะการังผิวเกล็ดน้ำแข็ง ปะการังโขด ปะการังผิวยู่ยี่ ปะการังดาวใหญ่ ปะการังลายดอกไม้ และปะการังดอกไม้ทะเล จากการศึกษายังพบว่ามีการลงเกาะของตัวอ่อนปะการังบนพื้นธรรมชาติ 28 สกุล ความหนาแน่นสูงถึง 16.74 โคโลนีต่อตารางเมตร สกุลเด่นได้แก่ ปะการังลายดอกไม้ ปะการังดอกกะหล่ำ ปะการังลายเขากวาง และปะการังลายดอกเห็ด ส่วนปลาในแนวปะการังที่พบทั้งสิ้น 175 ชนิด จาก 83 สกุล 31 วงศ์ ปลาที่เป็นกลุ่มเด่น ได้แก่ ปลานกขุนทอง ซึ่งมีประชากรมากในแง่ของสมาชิกวงศ์ 29 ชนิด 19 สกุล จุดที่มีปลาชุกชุมมากที่สุดได้แก่ East of eden พบปลา 3,610 ตัว ต่อ 300 ตารางเมตร

หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 จังหวัดภูเก็ต ระบุว่า พบสัญญานการฟื้นตัวที่ดีของแนวปะการัง โดยมีตัวอ่อนปะการังลงเกาะเพิ่มขึ้น ซึ่งในบางพื้นที่อาจต้องช่วยเพิ่มประชากรปะการังเนื่องจากพบการระบาดของดอกไม้ทะเลเล็ก ที่ชิงพื้นที่ลงเกาะของตัวอ่อนปะการังได้ดีกว่า จึงทำให้มีการฟื้นตัวช้า ทั้งนี้ หลังจากพบปัญหาแนวปะการังเสื่อมโทรม กรมอุทยาน แห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เร่งจัดทำทุ่นจอดเรือเพื่อลดการทิ้งสมอเรือในแนวปะการังและจัดทำทุ่นไข่ปลาเพื่อแสดงแนวเขตการคุ้มครองแนวปะการัง รวมถึงการบังคับใช้กฏหมายต่อผู้ฝ่าฝืนอย่างเข้มข้น เร่งประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อขอความร่วมมือจากประชาชน และนักท่องเที่ยว ร่วมแก้ปัญหาสถานการณ์แนวปะการังเสื่อมโทรม ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีในการอนุรักษ์ตามแนวทางประชารัฐของรัฐบาล อันจะทำให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสความสวยงามของท้องทะเลอันดามัน เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป


ที่มา ข่าวสดออนไลน์