ธีระวัฒน์ เตือนฝุ่นจิ๋วพิษ เจอไม่นาน เสี่ยงหัวใจวายเพิ่มขึ้น

PM2.5 โรคหัวใจ

ผลการศึกษาพบปริมาณ PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพิ่มความเสี่ยงของการตายจากโรคหัวใจ​และหลอดเลือด 4.14%

วันที่ 24 ตุลาคม 2565 นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กล่าวถึงความสัมพันธ์​ของฝุ่น PM 2.5​ และ PM 10​ กับอาการหัวใจวาย โดยอ้างอิงจากผลการศึกษา​ในประเทศจีน

นพ.ธีระวัฒน์ระบุว่า วันนี้ วันที่ 24 ตุลาคม 2565 PM 2.5 มากกว่า 60 ฟ้าใส กับ 2.5 ไม่ไปด้วยกัน เจอฝุ่นจิ๋วพิษ 2.5 และจิ๋วใหญ่ PM 10 กับ ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เพียงแค่วันถึงสองวันโอกาสเสี่ยงตายสูงจากเส้นเลือดหัวใจตัน (acute MI) เป็นการรายงานในวารสารของสมาคมโรคหัวใจ (Journal of American College of Cardiology) วันที่ 26 มกราคม 2021 นี่เอง รวมทั้งบทบรรณาธิการ

ทั้งนี้ ทุก ๆ ปริมาณของฝุ่นเล็กจิ๋ว และจิ๋วใหญ่ที่เพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จนกระทั่งถึงระดับ 33.3 และ 57.3 ตามลำดับ จะเสี่ยงตายต่อโรคหัวใจสูงขึ้น และเช่นเดียวกันกับความเข้มข้นของไนโตรเจนไดออกไซด์

เป็นการศึกษาในประเทศจีนในช่วงปี 2013 ถึง 2018 แต่ประเทศจีนมีการปรับตัว เตรียมการจัดการกับฝุ่นจิ๋วเหล่านี้ ตั้งแต่ปี 2011 ถึง 2012 และประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ โดยเริ่มมีการติดตั้งเครื่องวัดทุก ๆ 1 ตารางกิโลเมตร โดยจะมีเครื่องวัดหนึ่งเครื่องคอยเตือนและคอยจัดการกำจัดมลพิษเหล่านี้ ตามนโยบายเด็ดขาด จนมีความสำเร็จอยู่บ้าง

การศึกษานี้เป็นการพิสูจน์ตอกย้ำข้อสังเกตก่อนหน้านี้ ที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างฝุ่นจิ๋วพิษ ที่ไม่ได้ทำร้ายปอดอย่างเดียว แต่มีผลต่อหัวใจในลักษณะเฉียบพลันด้วย และไม่ใช่เป็นในลักษณะที่เป็นผลเรื้อรังเท่านั้นแบบที่เข้าใจกัน

ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นและทำให้เกิดความพินาศต่อสภาพแวดล้อม ส่งผลต่อสมดุลของสิ่งมีชีวิต จนกระทั่งมีการยักย้ายถ่ายเทการเคลื่อนตัวของสัตว์ป่า มีการย้ายถิ่น และโดยที่สัตว์ตามธรรมชาติเหล่านี้เป็นตัวซ่องสุมของเชื้อโรค (โดยไม่มีอาการ) ทั้ง พาราสิต แบคทีเรีย และโดยเฉพาะไวรัสเช่น โควิด-19 ทำให้เชื้อโรคจากสัตว์ป่ากระจายไป จนกระทั่งในที่สุดเข้าสู่มนุษย์ และมีวิวัฒนาการในทางการแพร่กระจายและเข่นฆ่ามนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ

ทั้งหมดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ไฟไหม้ป่า พายุทราย ภูเขาไฟระเบิด การจงใจเผาป่าเพื่อประโยชน์ทางเกษตรกรรมอย่างอื่น และมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้น จากการต้องการพลังงานจากการเผาถ่านหินฟอสซิล เหล่านี้เป็นตัวการสำคัญในการเกิดฝุ่นจิ๋วพิษ 2.5

และผลกระทบจากการเผาฟอสซิล เพื่อพลังงานอย่างเดียว เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอย่างน้อย 12% ทั่วโลก และถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอันดับสี่ ในการเสียชีวิตทั้งบุรุษและสตรี และมากกว่าปัจจัยอื่นที่เกี่ยวกับไขมันสูง ระดับน้ำตาล ความอ้วน การไม่ออกกำลัง หรือภาวะไตแปรปรวนด้วยซ้ำ

การที่ต้องเผชิญกับมลภาวะเช่นนี้ ทุกนาทีทุกวันต่อเนื่องทั้งชีวิต และมลพิษที่ยังถูกปลดปล่อยออกมาจากเครื่องยนต์ จากรถ จากโรงงาน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำร้ายสุขภาพ

และฝุ่นจิ๋วพิษเหล่านี้ทำให้เสียชีวิตจากโรคทางหัวใจและเส้นเลือดมากกว่า 50% ทั้งนี้ เกิดขึ้นได้แม้ว่าระดับฝุ่นพิษเหล่านี้จะต่ำกว่าระดับมาตรฐานที่กำหนดตามขององค์การอนามัยโลก หรือตามมาตรฐานของประเทศต่าง ๆ

ประชากรโลกมากกว่า 92% จะอยู่ในพื้นที่ที่ค่าฝุ่นพิษและมลภาวะทางอากาศเกินมาตรฐานองค์การอนามัยโลกมาตลอด โดยมีการประเมินว่าต้องเสียงบประมาณในการรักษาเยียวยาบำบัด สวัสดิการ เป็นล้านล้านดอลลาร์ ที่เกี่ยวเนื่องกับการเสียชีวิตจากมลภาวะทางอากาศเหล่านี้

มลภาวะทางอากาศเหล่านี้ ทราบกันดีมานานว่า เกี่ยวข้องกับฝุ่นพิษจิ๋วเล็กและใหญ่ รวมกระทั่งถึงซัลเฟอร์ออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ และมีการศึกษาความเชื่อมโยงกับสาเหตุการตาย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและระบบเส้นเลือดในประเทศทางฝั่งตะวันตก แต่ยังมีข้อจำกัดในการระบุระดับ ชนิด และขนาดของฝุ่น และผลกระทบระยะเวลาที่ส่งผลกับการตายเฉียบพลัน

การศึกษาที่มีการรายงานครั้งนี้ มาจากพื้นที่มณฑลหูเป่ย์ และมีเมืองหลวงก็คืออู่ฮั่น ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการระบาด โควิด-19 นั่นเอง ทั้งนี้ เป็นพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศเข้มข้น และทำให้สามารถศึกษาจากคนที่ตายจากโรคหัวใจและเส้นเลือดจำนวน 151,608 ราย ค่าเฉลี่ยรายวันของฝุ่นเล็กจิ๋ว 2.5 ในมณฑลนี้ และในหลายพื้นที่ของประเทศจีนและอินเดียอยู่ที่ 63.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และการที่ได้รับฝุ่นพิษจิ๋วเล็ก 2.5 และจิ๋วใหญ่ขึ้นขนาด 10 ไมครอนภายในหนึ่งวัน หรือในวันนั้นเองจะส่งผลกับการตายอย่างมีนัยยะสำคัญ

ผลที่ได้จากการศึกษานี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ทุก ๆ ปริมาณที่เพิ่มขึ้น10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรของฝุ่นจิ๋ว 2.5 จะเพิ่มความเสี่ยงของการตาย 4.14% และสำหรับไนโตรเจนไดออกไซด์เพิ่มความเสี่ยงในลักษณะเดียวกัน โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นอีก 1.3%

จากการวิเคราะห์ในเชิงลึกในรายงานนี้ ไม่พบความสัมพันธ์ชัดเจนกับระดับของโอโซน แต่การที่ไนโตรเจนไดออกไซด์มีส่วนในการตายทำให้มีการเพ่งเล็งถึงมลพิษที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากเครื่องยนต์ของรถเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ แน่นอนคนสูงวัยอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไปตายเยอะกว่าคนหนุ่มสาวและคนที่อายุน้อยกว่า 70 ปี แต่การตายที่ไม่สมควรเหล่านี้ พบได้ในทุกกลุ่มอายุ

การระบาดของโควิด-19 ปรากฏผลชัดเจน จากการที่แทบไม่มีการใช้รถยนต์และเครื่องบินโดยสาร และมีผลต่อการที่มลภาวะฝุ่นจิ๋วเล็กเหล่านี้หายไปมาก

ทั้งนี้ เป็นความฝันของมวลมนุษยชาติที่จะเห็นท้องฟ้าสีน้ำเงิน โดยเทคโนโลยีจะเป็น ซีโร่ อีมิสชั่น (zero emission) ปล่อยก๊าซเป็นศูนย์


การทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ต้องไม่ลืมว่าไม่ได้เกิดมลพิษอย่างเดียว แต่สร้างไวรัสที่น่าสะพรึงกลัวตัวแล้วตัวเล่า และไวรัส ชโควิด-19 อาจจะไม่ใช่ตัวสุดท้ายที่จะต้องเจอะเจอ