ศรีสุวรรณ-ชาวบ้าน ฟ้องศาลปกครอง ระงับรันเวย์ที่ 2 สนามบินอู่ตะเภา

ศรีสุวรรณ จรรยา อู่ตะเภา

ศรีสุวรรณ จรรยา นำชาวบ้าน ฟ้องระงับการก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 สนามบินอู่ตะเภา ชี้ EHIA บกพร่อง ประกาศลุยตรวจสอบโครงการสนามบินอู่ตะเภา

วันที่ 14 กรกฎาคม 2565 นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมกับแกนนำชาวตำบลสำนักท้อน อำเภอบ้านฉาง ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทางเสียงและมลพิษทางอากาศ จากการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา ในโครงการก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 เข้ามาฟ้องต่อศาลปกครองกลาง

โดยยื่นฟ้องกองทัพเรือ คณะกรรมการ EEC สํานักการบินพลเรือน และคณะกรรมการ คชก. ฐานใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ และละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

สืบเนื่องจากรัฐบาลได้ผลักดันโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจหลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 โดยมอบหมายให้กองทัพเรือเป็นผู้ดำเนินการว่าจ้างให้เอกชนจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งรายงาน EHIA ดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไปแล้วเมื่อ 17 ก.พ. 65 และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้วเมื่อ 1 พ.ย. 65 นี้

แต่เนื่องจากชาว ต.สํานักท้อน อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ได้คัดค้านมาโดยตลอด ว่าการจัดทำรายงาน EHIA มีความผิดปกติหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำแผนที่เส้นเสียงสูงสุด (NEF มากกว่า 40) ครั้งล่าสุดที่มีการเปลี่ยนแปลงเส้นเสียงใหม่ ทำให้เหลือบ้านเรือนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบที่อยู่ในเส้นเสียง NEF-40 ลดลงจากครั้งก่อน 480 ครัวเรือน เหลือ 80 ครัวเรือน และมาเพิ่มขึ้นเป็น 93 ครัวเรือน จึงทำให้ชาวบ้านไม่สามารถยอมรับได้กับการทำแผนที่เส้นเสียงในครั้งนี้

ชาวตำบลสำนักท้อน จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสั่งให้มีการทบทวนการคิดคำนวณเสียใหม่ โดยให้สถาบันวิชาการที่เป็นกลาง อาทิ NIDA มาดำเนินการศึกษาเพื่อให้เป็นที่ยอมรับตามหลักวิชาการ

ปัญหาที่เกิดขึ้น ชาวตำบลสำนักท้อน อำเภอบ้านฉาง พยายามเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้สั่งการให้มีการทบทวนเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนายกรัฐมนตรี ส.ส.ในพื้นที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยื่นต่อคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นสนามบินอู่ตะเภาของสำนักงานการบินพลเรือนฯ ด้วย แต่ก็ไม่เป็นผลแต่อย่างใด

ในที่สุดจำต้องมาขอให้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้ช่วยเป็นภาระในการฟ้องร้องทางศาล เพื่อเพิกถอนกระบวนการจัดทำ EHIA และระงับการก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 ของสนามบินอู่ตะเภาด้วย


อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงไม่จบลงง่าย ๆ เพราะเมื่อสืบข้อมูลเชิงลึกลงไปแล้วโครงการนี้มีกลิ่นไม่ค่อยดีหลายโครงการ จำเป็นที่จะต้องตรวจสอบข้อมูลต่อไป เพราะมีผลประโยชน์นับหมื่นล้านบาท แต่ภาครัฐกลับมองไม่เห็นความทุกข์ร้อนของชาวบ้าน คิดแต่เพียงจะลดค่าใช้จ่ายที่จะต้องซื้อคืนที่ดินจากชาวบ้านให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ อันเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างชัดเจน จำเป็นที่สมาคมจะต้องออกมาช่วยชาวบ้านในเรื่องนี้อย่างจริงจัง นายศรีสุวรรณ กล่าวตอนท้าย