
ปลัด สธ. ชู “รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร” ใช้ศาสตร์แพทย์แผนไทยและสมุนไพร ดูแลสุขภาพประชาชน “สร้างงาน สร้างอาชีพ พึ่งพาตนเอง” ตามนโยบาย Health for Wealth เผยปี 2565 มีรายได้จากบริการแผนไทยกว่า 40 ล้านบาท
วันที่ 30 ธันวาคม 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข คือ Health for Wealth นำเรื่องของสุขภาพโดยเฉพาะการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทย มาใช้ขับเคลื่อนสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ
โดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี เป็นโรงพยาบาลศูนย์ที่มีความโดดเด่นด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร มีการพัฒนาและยกระดับงานด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร 3 ประเด็น คือ 1.การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Wellness 2.การผลิตยาและสมุนไพรไทยสู่สากล และ 3.การใช้นวัตกรรมสุขภาพ และการส่งออก โดยทั้ง 3 ประเด็น มีการฝึกอบรมภายใต้แนวคิด “สร้างงาน สร้างอาชีพ พึ่งพาตนเอง”
“ในปีงบประมาณ 2565 โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมีผลงานเชิงบวกจากการให้บริการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โดยมีรายได้รวมจากการให้บริการแผนไทย 40 ล้านบาท ส่วนมูลนิธิฯ มีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพร 600 ล้านบาท มีการสั่งซื้อสมุนไพรจาก 8 กลุ่มเกษตรกร 2.4 แสนบาท จาก 11 กลุ่มเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ 32.6 ล้านบาท มีผู้ผ่านการอบรมพัฒนาสู่ผู้ประกอบการ 70 คน และเกิดการจ้างงานด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยใน จ.ปราจีนบุรี 375 คน” นพ.โอภาสกล่าว
ด้าน ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า โรงพยาบาลมุ่งเน้นการดูแลแบบองค์รวมโดยใช้หลักของ 3 สมดุลสุขภาพ คือ เจ้าเรือน โครงสร้าง และระบบขับถ่าย โดยงานการแพทย์แผนไทยจะให้การดูแลในเชิงป้องกัน รักษา ฟื้นฟู และส่งเสริมสุขภาพอย่างครอบคลุมเป็นองค์รวม ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการใช้สมุนไพร ส่วนการตรวจรักษา จะมีหัตถการทางการแพทย์แผนไทยและคลินิกหัตถเวชศาสตร์ที่มุ่งเน้นการให้บริการรักษาเฉพาะโรคอย่างตรงจุด ผ่านหัตถการที่หลากหลาย อาทิ การเผายา พอกยา กักน้ำมัน เป็นต้น
สำหรับบริการส่งเสริมสุขภาพ มีการพัฒนาเพื่อรองรับกับสถานการณ์สุขภาพปัจจุบันและกระแสสุขภาพ เช่น การดูแลหลังติดเชื้อโควิดด้วยการใช้หัตถการทางการแพทย์แผนไทยและการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ, โปรแกรม Deep Sleep ปรับสมดุลการนอนให้มีคุณภาพ ด้วยการใช้เทคโนโลยีองค์ความรู้และยาสมุนไพร, โปรแกรมการดูแลมารดาหลังคลอด เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพมารดาให้กลับมาเป็นปกติพร้อมดูแลบุตร
นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับสถาบันต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงมีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ Health & Wellness Tourism การอบรมเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากสมุนไพรภาคประชาชนเพื่อการพึ่งตนเอง เช่น เรื่องอาหารเป็นยา โคกหนองนา “ภัทร-ธรรมรักษ์นิเวศ” ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมพืชสมุนไพรกินได้กว่า 500 ชนิด ถือเป็นโมเดลความยั่งยืนทางธรรมชาติ เพื่อความมั่นคงทางยา อาหารและสุขภาพ
โดยนำเสนอเป็นเมนูอาหารที่ดูแลระบบท้องไส้ อาทิ ข้าวไรซ์เบอร์รี ทอดมันใบบัวอ่อน ยำผักเป็ดแดงไก่ฉีก ห่อหมกใบยอ แกงส้มผักรวม และ เฉาก๊วย แปะก๊วย รากบัว