สรุปยอดอุบัติเหตุบนถนน 5 วันหยุด เสียชีวิต 263 ราย ไร้สูญเสีย 6 จังหวัด

อุบัติเหตุ การขับรถ

ศปถ. เผยยอดผู้เสียชีวิตสะสมจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 263 ราย บาดเจ็บ 1,938 คน 6 จังหวัดไม่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ

วันที่ 3 มกราคม 2566 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2566 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 2 ม.ค. 2565 เกิดอุบัติเหตุ 294 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 295 คน ผู้เสียชีวิต 40 ราย

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 5 วันของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ”(29 ธ.ค.65 – 2 ม.ค.66) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,960 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,938 ราย ผู้เสียชีวิตรวม 263 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 6 จังหวัด

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี กล่าวว่า จากอุบัติเหตุของ วันที่ 2 มกราคม 2566 พบว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 36.73 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 23.13

ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.40 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 79.59 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.41 ถนนใน อบต./หมู่บ้านร้อยละ 32.31

ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 00.01 – 01.00 น. ร้อยละ 8.50 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20 – 29 ปี ร้อยละ 18.51

มีการจัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,880 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 55,861 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 397,459 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 57,635 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 16,783 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 16,320 ราย ขับรถเร็วเกินกำหนด 7,394 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (14 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (17 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ศรีสะเกษ (5 ราย)

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 5 วันของการรณรงค์ (29 ธ.ค.65 – 2 ม.ค.66) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,960 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,938 คน ผู้เสียชีวิตรวม 263 ราย

  • จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ นครศรีธรรมราช และสกลนคร (จังหวัดละ 65 ครั้ง)
  • จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (70 คน)
  • จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (13 ราย)
  • จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 6 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส บึงกาฬ พังงา ยะลา สตูล และสุโขทัย

สำหรับวันที่ 3 ม.ค. คาดว่าเส้นทางสายหลักจะยังคงมีปริมาณการจราจรหนาแน่นในบางจุด ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจึงได้เน้นย้ำให้จังหวัดดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนต่อเนื่อง สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครเข้มข้นการปฏิบัติงานของจุดตรวจบนเส้นทางสายหลัก สายรอง ทางลัด และทางเลี่ยงเมือง เพื่ออำนวยการจราจรและดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชนตลอดเส้นทาง

รวมถึงคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทั้งขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ และการไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ตลอดจนกำชับให้เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจกวดขันเรียกตรวจยานพาหนะเพื่อชะลอความเร็วรถและประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการง่วงหลับใน

นายบุญธรรม กล่าวต่อว่า ประชาชนส่วนใหญ่ได้เดินทางกลับจากภูมิลำเนาและท่องเที่ยวแล้ว ขณะที่ยังมีบางส่วนอยู่ระหว่างการเดินทาง  ซึ่งจากการตรวจสอบสภาพการจราจร พบว่า หลายเส้นทางมีปริมาณรถเริ่มเบาบาง โดยเฉพาะถนนสายหลักของจังหวัดใหญ่และเส้นทางจากภูมิภาคต่างๆ เข้าสู่กรุงเทพฯ ทำให้ผู้ขับขี่สามารถใช้ความเร็วสูง จึงขอเน้นย้ำให้จังหวัดเข้มงวดควบคุมการใช้ความเร็วที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรง

ทั้งนี้ ศปถ.ขอฝากผู้ใช้รถใช้ถนนปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด และมีน้ำใจกับผู้ร่วมใช้เส้นทาง เพื่อให้เดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย


หากประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุ สามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 หรือแจ้งเหตุ ทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM เพื่อการติดต่อช่วยเหลือต่อไป