น่าเป็นห่วง! ฝุ่นเมืองกรุงยังพุ่งสูง อธิบดี คพ. ยันทุกหน่วยงานพยายามเร่งลดมลพิษในอากาศ

เมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 15 กุมภาพันธ์ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือพีเอ็ม 2.5 (PM 2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กตรวจวัดได้ระหว่าง 51-84 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ 50 มคก./ลบ.ม.ทุกสถานี รวม 6 สถานี ได้แก่ เขตบางนา 66 มคก./ลบ.ม. แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง 65 มคก./ลบ.ม. ริมถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน 68 มคก./ลบ.ม. ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี 84 มคก./ลบ.ม. ริมถนนลาดพร้าว เขตทองหลาง 65 มคก./ลบ.ม.และริมถนนพญาไท เขตราชเทวี 51 มคก./ลบ.ม.

นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดี คพ. เปิดเผยว่า จากกรณีที่นายธารา บัวคำศรี ผูอำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยกล่าวถึงปัญหาเรื่องฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ขณะนี้ว่า ค่าเฉลี่ยพีเอ็ม 2.5 ที่บางนา ตั้งแต่เมื่อคืนจนถึงเช้านี้ อยู่ที่ 61.87 มคก./ลบ.ม. เมื่อนำเอาความเข้มข้นฝุ่นพิษดังกล่าวไปหาดัชนีคุณภาพอากาศ ตามวิธีการของสหรัฐอเมริกาผลคืออยู่ในระดับสีแดง ซึ่งแสดงว่าคุณภาพอากาศมีอันตรายต่อสุขภาพ และเป็นวิกฤตด้านสุขภาพของประชาชน ถ้ารัฐไม่มีประสิทธิภาพ ประชาชนจะลงมือติดตามตรวจสอบและรายงานคุณภาพอากาศกันเอง คพ.ขอชี้แจงว่า การกำหนดค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ของแต่ละประเทศที่ใช้แถบสีในการรายงาน จะมีความสัมพันธ์กับค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศที่แต่ละประเทศกำหนด ซึ่งการกำหนดค่ามาตรฐานจะพิจารณากำหนดจากข้อมูลพื้นฐานการพัฒนาของประเทศ สภาพเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งค่ามาตรฐานระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกายังมีความแตกต่างกัน โดยประเทศไทยกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. ในขณะที่ค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ของสหรัฐไม่เกิน 35 มคก./ลบ.ม. ประกอบกับ ระดับการแบ่งช่วงค่าและความหมายของสีที่ใช้ระหว่างดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยและของสหรัฐมีความแตกต่างกันเช่นกัน ดังนั้นจึงยังไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้

นางสุณี กล่าวว่า หลังจากพบว่าค่าพีเอ็ม 2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐาน คพ.ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมอุตุนิยมวิทยา กองบังคับการตํารวจจราจร กรมการขนส่งทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 6 (นนทบุรี) และ ผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อกำหนดและดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วนในแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก และมาตรการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ โดยการเฝ้าติดตามตรวจสอบ เฝ้าระวังและแจ้งเตือนสถานการณ์ผ่านช่องทางต่างๆ การให้ความรู้ สร้างความเข้าใจกับสื่อมวลชนและประชาชน ควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะโดยเพิ่มจุดตรวจจับรถควันดำและบังคับใช้กฎหมาย การเข้มงวดการตรวจสภาพรถโดยสาร ตรวจสอบตรวจจับ การจัดซื้อรถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง กทม.ได้ปฏิบัติตามมาตรการในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างเข้มข้น โดยมุ่งเน้นการลดมลพิษจากการจราจร การลดฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง การลดฝุ่นละอองจากการเผาและกิจการต่างๆ รวมถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดถนน และการขอความร่วมมือจากภาคประชาชนดูแลรักษารถยนต์ของตนเองให้อยู่ในสภาพดี ช่วยลดการนำยานพาหนะส่วนบุคคลเข้าในเขตเมือง ให้ใช้รถร่วมกัน “ทางเดียวกันไปด้วยกัน” (Carpool) การใช้รถขนส่งสาธารณะ รวมทั้งการงดการเผาขยะ ใบไม้ กิ่งไม้

นางสุณี กล่าวด้วยว่า ด้านมาตรการดูแลสุขภาพ ให้ประชาชนหลีกการสัมผัสฝุ่นละอองโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด ใช้หน้ากากป้องกันฝุ่นหรือใช้ผ้าชุบน้ำ เลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ลดการใช้รถยนต์และการเผาขยะ ซึ่งให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เฝ้าระวังและรายงาน 4 โรคสำคัญ ได้แก่โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเยื่อบุตาอักเสบ และโรคผิวหนัง ที่อาจเกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก และให้เจ้าหน้าที่ติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียงในวันที่มีค่าฝุ่นสูง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกและสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ เนื่องจากปริมาณฝุ่นละอองในพื้นที่ที่มีค่าเกินมาตรฐานไม่ได้มีค่าสูงตลอดเวลา และขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารและข้อมูลจากทางราชการอย่างใกล้ชิด จากการเผยแพร่ เว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ แฟนเพจเฟซบุ๊ก คพ.

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์