สธ.ห่วง 3 อาชีพกลุ่มเสี่ยงรับฝุ่นละออง 2.5 ไมครอน เร่งผุดคลินิกสุขภาพดูแล

ตามที่หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวถึงปัญหา และร่วมหาทางออกในการจัดการกับฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 2.5 ไมครอนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะปัญหาไอเสียจากรถยนต์ ล่าสุดกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดผลการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองพบเกินค่ามาตรฐานในทุกสถานีตรวจวัดอีก

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 2.5 ไมครอนเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่งในส่วนของกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีความเป็นห่วงในเรื่องของสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ต้องอาศัยหรือทำงานอยู่บริเวณพื้นที่ค่าฝุ่นละอองสูง โดยอาชีพที่น่าห่วงคือ วินมอเตอร์ไซค์ ปัญหาคือ หลายครั้งผลกระทบจากฝุ่นละอองไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่เป็นระยะยาว ซึ่งต้องมีการตรวจและติดตามอย่างสม่ำเสมอ และหลายครั้งก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนเองในการเข้ามาตรวจสุขภาพของตน แต่ความเป็นจริงก็ค่อนข้างลำบาก เพราะหลายคนต้องทำงานและหากต้องการไปพบแพทย์ ก็ต้องมีอาการก่อน เช่น ปวดหัว ไอ หรือมีอาการหายใจติดขัด เพราะหากไม่มีอาการก็จะไม่ไปตรวจ ขณะที่สถานพยาบาลบางแห่งก็ยังไม่มีเครื่องมือในการตรวจเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ยกเว้นสถานพยาบาลขนาดใหญ่

“เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางกรมฯ มีความเป็นห่วง และได้มอบให้ทางสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม และสำนักโรคติดต่อทั่วไป ทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้เกิด “คลินิกผู้ใหญ่สุขภาพดี” ขึ้น นอกจากนี้ เตรียมจะเสนอและผลักดันให้เป็นชุดสิทธิประโยชน์ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง เพื่อให้สิทธิในการตรวจหากลุ่มโรคที่เกี่ยวกับฝุ่นละออง เบื้องต้นคาดว่าน่าเป็นรูปธรรมในกรณีของคลินิกผู้ใหญ่สุขภาพดี ซึ่งภายในปีนี้จะมีคลินิกนำร่อง ซึ่งจะอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ จริงๆแล้วในเรื่องของการป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมนั้น ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการป้องกันโรคกลุ่มผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะ อย่างแท็กซี่ ซึ่งในส่วนวินมอเตอร์ไซค์ก็จะมีการดำเนินการเช่นกัน” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ผลกระทบจากค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน 2.5 ไมครอนนั้น ต้องระวังเป็นพิเศษใน 3 กลุ่มอาชีพ คือ ตำรวจจราจร ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง หรือวินมอเตอร์ไซค์ และกลุ่มอาชีพทำความสะอาดถนน หรือกวาดถนน ยิ่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่มีฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน แม้จะไม่ได้อยู่นานเป็น 12 ชั่วโมงต่อวัน แต่อยู่เป็นประจำแทบทุกวันก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน เนื่องจากไม่มีทางทราบว่า พวกเขาจะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพอย่างไรบ้าง นอกจากจะป่วยและเข้ามารักษาที่โรงพยาบาล ส่วนการป้องกัน แม้จะแนะนำให้สวมใส่หน้ากากอนามัยชนิด N95 แต่ปัญหาคือ หน้ากากชนิดนี้ค่อนข้างใหญ่และอึดอัด หลายคนอาจไม่สะดวก แต่การใส่หน้ากากคาร์บอนก็พอช่วยได้ ดังนั้น จึงต้องมีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางในการดูแลคนทั้ง 3 กลุ่มอาชีพ อย่างตำรวจราจร ก็ต้องประสานกับทางตำรวจ ขณะที่คนทำความสะอาดถนนต้องประสานกับทางกทม. และวินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ อาจต้องประสานกับทางกระทรวงแรงงาน โดยจะมีการเสนอและหารือในเร็วๆ นี้ ซึ่งที่ผ่านมามีการดำเนินการบ้างแล้ว แต่ก็จะต้องมีการขับเคลื่อนผลักดันต่อไป

นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการตรวจพบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งเกินกว่าค่าเกินมาตรฐานกำหนดนั้น ในส่วนของผู้ที่ต้องทำงานหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่มีปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานเป็นเวลานานๆ แต่ไม่อยากใส่หน้ากากเอ็น 95 เพราะอึดอัด และมีราคาสูง เราสามารถใช้ผ้าชุบน้ำหรือใส่หน้ากากปกติทนแทนได้ เพราะจริงๆคงไม่ได้อยู่ในสภาพอากาศที่มีปริมาณฝุ่นเกินค่ามาตรฐานตลอดเวลา โดยในการใช้ผ้าชุบน้ำหรือใส่หน้ากาปกติ วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อลดปริมาณการสูดฝุ่นละอองเข้าไปในร่างกาย เพราะจริงๆเราไม่ได้ต้องการสิ่งที่ดีที่สุด แต่ต้องการสิ่งที่เป็นไปได้เหมาะสมที่สุด แต่สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือ การลดเวลาในการสูดอากาศในพื้นที่เสี่ยง หรือลดการทำกิจกรรมที่ต้องสูดหายใจเข้าลึกๆ รวมถึงร่วมกันลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เป็นต้น

 


ที่มา : มติชนออนไลน์