ศาลปกครองสูงสุดคุ้มครอง “We walk เดินมิตรภาพ” ชุมนุม ชี้เป็นสิทธิตามรธน.

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ศาลปกครองถนนเเจ้งวัฒนะ ศาลปกครองกลางอ่านคำสั่ง ศาลปกครองสูงสุดในเรื่องการขอคุ้มครองชั่วคราว ในคดีที่นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ กับพวกรวม 4 คน ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ,ผกก.สภ.คลองหลวง, ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี, ผบก.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา, ผบช.ภ.1, ผบช.ภ.3 และ ผบช.ภ. 4 รวม 7 คน จากกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมและจัดกิจกรรม “We walk เดินมิตรภาพ” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มุ่งสู่จังหวัดข่อนแก่น ยื่นฟ้องขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและเจ้าหน้าที่ตำรวจยุติการดำเนินการปิดกั้น ขัดขวาง คุกคาม ข่มขู่ การใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมายและให้ดูแลการชุมนุมสาธารณะ อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ชุมนุม กับให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการละเมิด

ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งการให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 และ
ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ในฐานะเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะมิให้กระทำการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวางในการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร่วมชุมนุมภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย และใช้อำนาจหน้าที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะและรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนโดยเคร่งครัด จนถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ แต่หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร่วมชุมนุมกระทำการใดอันเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานก็ชอบจะพิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือมีคำสั่งหรือประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมหรือแก้ไขหรือร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้เลิกการชุมนุม หรือดำเนินการอื่นใดตามอำนาจหน้าที่เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย

ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดียื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งว่า เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะเป็นสิทธิและเสรีภาพที่สำคัญของประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งรัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะถูกจำกัดได้เฉพาะแต่กรณีเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยฯ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิชุมนุมสาธารณะไว้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 ได้มีหนังสือแจ้งการชุมนุมต่อผกก.สภ.คลองหลวง แล้ว ซึ่ง ผกก.สภ.คลองหลวงไม่ได้มีคำสั่งให้แก้ไขหรือคำสั่งห้ามการชุมนุมแต่อย่างใด และจากพยานหลักฐานมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีการปิดกั้น ขัดขวาง และทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง4และผู้เข้าร่วมชุมนุมรู้สึกหวาดกลัว ซึ่งอาจมีการกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปในเหตุที่ถูกฟ้องร้อง อันกระทบต่อสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม การมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวของศาลไม่ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคแก่การบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่อย่างใด แต่ระหว่างที่มีการชุมนุม หากเจ้าพนักงานตำรวจเห็นว่ามีการกระทำใด ๆ อันนำไปสู่การชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานตำรวจก็ชอบที่จะพิจารณากำหนดเงื่อนไข หรือมีคำสั่งหรือประกาศให้มีการแก้ไขหรือร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งเลิกชุมนุมหรือสั่งให้ยุติการกระทำนั้น หรือดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะหรือกฎหมายอื่นได้ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง

นายสุรชัย ตรงงาม ทนายความ กล่าวว่า ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัย ยืนยันในหลักการว่าการเดินมิตรภาพมีการแจ้งการชุมนุมโดยถูกต้อง มีการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ซึ่งศาลก็ได้พูดเรื่องสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือการชุมนุมที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และยังพูดเรื่องกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ซึ่งไทยผูกพันธ์อยู่ จึงวินิจฉัยว่ามีเหตุในการปิดกั้นการเดินมิตรภาพ เมื่อวันที่ 20 มกราคม และมีพฤติการณ์ในการกดดัน ถ่ายรูป กักตัว จึงมีเหตุเป็นการที่มิชอบด้วยกฎหมาย และเจ้าหน้าที่อาจจะกระทำซ้ำต่อไปได้ และการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวย่อมไม่มีผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินของสำนักงานตำรวจแห่งชติ ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งว่า คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลางนั้นชอบแล้วเห็นพ้องด้วย และผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 7 จะต้องไม่ดำเนินการปิดกั้นหรือดำเนินการที่ทำให้ผู้ชุมนุมเกิดความหวาดกลัว และต้องดูแลความปลอดภัยตามหน้าที่จนกว่าจะถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ตามที่ได้มีการแจ้งขออนุญาตชุมนุมไว้

นายสุรชัยกล่าวว่า คำสั่งศาลปกครองสูงสุดคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาถือว่าเป็นที่สุด ซึ่งผลของคำสั่งจะมีจนกว่าเสร็จสิ้นการชุมนุม โดยผลของคำสั่งเท่ากับรับรองว่า การเดินมิตรภาพเป็นการใช้เสรีภาพชุมนุมโดยสงบ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมต้องเคารพคำสั่งโดยไม่ดำเนินการใดๆซึ่งเป็นการปิดกั้นขัดขวาง ซึ่งในความเป็นจริงเยังพบว่า ปัญหาเรื่องการกดดันและการปิดกั้นยังคงอยู่

นอกจากนี้นายสุรชัยยังกล่าวต่อว่า ในวันพรุ่งนี้ตนและทีมทนายจะนำคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ไปยืนยันกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อไม่ให้เกิดการปิดกั้น แต่หากยังมีการปิดกั้นอีก เราก็จะเข้ามาฟ้องศาลต่อไป หรือเราอาจจะดำเนินคดีอาญา กลับไปยังหน่วยงาน ที่กระทำการปิดกั้นเพราะเรามีคำสั่งศาลชัดเจน

เมื่อถามถึงคดีหลัก ในศาลปกครอง นายสุรชัยกล่าวว่า ในส่วนคดีหลักนั้นต้องรอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ถูกฟ้อง ทำคำให้การมาส่งยังศาลปกครองก่อน ซึ่งในคดีหลัก เรามีการเรียกร้องค่าเสียหายเชิงสัญลักษณ์จำนวน 1 แสนบาท ซึ่งระหว่างนี้เราก็อาจจะพิจารณา เรียกค่าเสียหายเพิ่มเติม ซึ่งเรากำลังปรึกษาหารือกันก่อน

นายภาสกร อินทุมาร เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เมื่อคำสั่งศาลปกครองสูงสุดยืนตามศาลปกครองกลาง หน่วยงานรัฐก็ไม่ควรจะปิดกั้น การชุมนุมที่เหลืออีก 2 วัน โดยในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ จะมีการเดินในจังหวัดขอนแก่นและเราจะมีเวทีวิชาการสรุปผลร่วมกัน ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ซึ่งจะเป็นวันสุดท้าย ตนหวังว่าหน่วยงานที่มีหน้าที่อำนวยความสะดวกก็จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก จนกว่าคิดจะกิจกรรมนี้จะจบ ส่วนเรื่องที่มีข่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังไม่อนุญาตให้เข้าไปจัดกิจกรรมนั้น ตอนนี้ตนยังไม่รู้รายละเอียด แต่ถ้ายังไม่มีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นทางการจากมหาวิทยาลัย ก็ยังพูดไม่ได้ว่าทางมหาวิทยาลัยยังไม่อนุญาต ซึ่งความจริงแล้วมหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่มีอิสระ ทางวิชาการ ซึ่งในวันดังกล่าวเราก็จะใช้เป็นเวทีทางวิชาการ ซึ่งจะมีประเด็นสิทธิเสรีภาพ ตนก็ยังรอทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นอยู่ว่าจะอนุญาตหรือไม่

เมื่อถามว่าหากจบการเดินมิตรภาพจะมีการจัดกิจกรรม ต่อจากนี้อีกหรือไม่ นายภาสกร กล่าวว่าคาดว่าจะมีการดำเนินกิจกรรมต่อไปจนกว่าจะบรรลุข้อเรียกร้อง

ด้านนายอัมรินทร์ สายจันทร์ ทีมทนายของ “people go network “กล่าวว่า มีรายงานจากกลุ่มผู้ชุมที่เดินมิตรภาพในพื้นได้รายงานข้อมูลเข้ามา ว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการติดตามตัวผู้ที่เคยเดินทางมาร่วมกิจกรรม โดยมีการตามไปที่บ้าน ในจังหวัดต่างๆ ซึ่งมีการพูดคุย ในลักษณะที่กดดัน ปรามไม่ให้มาร่วมกิจกรรมอีก และมีชาวบ้านในจังหวัดพะเยา ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดี ในความผิด ขัดคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ในการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งข้อมูลตรงนี้จะนำเข้าไต่สวนในศาลปกครองส่วนของคดีหลัก ในวันนี้เป็นเพียงแค่เรื่องการขอคุ้มครองชั่วคราว ส่วนคดีหลักต้องดำเนินต่อไป

เมื่อถามว่าแกนนำที่โดนแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีเราจะนำคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ในวันนี้ไปต่อสู้ในคดีอาญาด้วยหรือไม่ นายอัมรินทร์กล่าวว่า คำสั่งในวันนี้ ได้รับรองเสรีภาพการชุมนุมอย่างชัดเจนจะเป็นส่วนหนึ่งที่เราจะนำไปประกอบ เเละเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าคนที่ถูกฟ้องคดีอยู่ได้กระทำในสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

 


ที่มา : มติชนออนไลน์