สพฉ. กังวลเครื่อง AED ถูกขโมย กระทบการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน

เครื่อง AED ถูกทุบ ถูกขโมย

ผู้ช่วยโฆษก สพฉ. เผยเพิ่งเคยได้ยิน ขโมยเครื่อง AED แล้วนำไปขายต่อ ห่วงกระทบการช่วยเหลือฉุกเฉินลำบากขึ้น-เสี่ยงสูญเสียมากขึ้น วอนผู้รับซื้อมือสอง นำเครื่องแจ้งตำรวจ ส่งคืนเป็นสาธารณสมบัติ

วันที่ 25 มกราคม 2566 จากกรณีที่มีเฟซบุ๊กแฟนเพจดัง แชร์ข้อมูลว่ามีการขโมยเครื่อง AED หรือเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ ที่ติดตั้งตามแยกต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร จำนวนกว่า 27 เครื่อง จากจำนวนที่มีการติดตั้งทั้งหมดกว่า 200 เครื่องนั้น

มติชน รายงานว่า นายการันต์ ศรีวัฒนบูรพา ผู้ช่วยโฆษกสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า ตามประกาศของคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (บอร์ด กพฉ.) เรื่องพื้นฐานการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานนอกสถานพยาบาล กำหนดว่าเมื่อมีคนหัวใจหยุดเต้นเกิดขึ้นจะต้องมีการทำกู้ชีพ (CPR) ภายใน 4 นาที รวมถึงการใช้เครื่อง AED ภายใน 4 นาที

จึงมีการออกประกาศมาส่งเสริม พยายามทำให้สถานที่สาธารณะมีการติดตั้งเครื่อง AED เอาไว้ เมื่อกฎหมายออกมา หลายสถานที่เห็นความสำคัญจึงติดตั้งเครื่อง AED ในจุดที่มองเห็นง่าย เพื่อเข้าถึงได้ง่าย เพื่อช่วยชีวิตคนเมื่อฉุกเฉิน อย่างห้างร้าน บริษัท อาคารสูง อาคารที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่

กฎหมายควบคุมอาคารก็กำหนดเช่นกันให้มีการติดตั้งเครื่อง AED ส่วนพื้นที่สาธารณะที่เราพบเห็นอย่างใน กทม. ก็จะเป็นสวนสาธารณะต่าง ๆ โดยสภากาชาดไทยมอบเครื่อง AED ไปติดตั้งตามป้อมตำรวจ และสี่แยกต่าง ๆ

นายการันต์ กล่าวว่า กรณีที่มีการสูญหายหรือขโมยไปย่อมส่งผลต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน หัวใจหยุดเต้นที่อาจเกิดขึ้นในบริเวณนั้นแน่นอน ยิ่งใน กทม. การจราจรค่อนข้างติดขัด การจะตามเครื่อง AED มากับรถกู้ชีพหรือ รพ.ก็อาจจะไม่ทันการณ์ใน 4 นาที ก็อาจทำให้สูญเสียต่อคนหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้

และเครื่อง AED ใน กทม. มีการทยอยติดตั้งต่อเนื่อง เพราะราคาถูกลงจากเมื่อ 5 ปีก่อน ประมาณ 4-5 หมื่นบาท ส่วนบางรุ่นราคาเกินหลักแสนก็มี แล้วแต่รุ่นและยี่ห้อ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าตามปกติแล้วเครื่อง AED เมื่อนำออกมาจะมีการส่งสัญญาณระบุพิกัดทำให้ทราบตำแหน่ง จะนำมาใช้ติดตามเครื่องได้หรือไม่ นายการันต์ กล่าวว่า แล้วแต่ฟังก์ชันที่กำหนดไว้ บางฟังก์ชันติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณ ไม่ใช่แค่จีพีเอสว่าเครื่องอยู่ไหน จะส่งข้อมูลการทำงานเครื่องขณะนั้นไปที่ศูนย์สั่งการก็ได้ ทำให้ทราบอาการของผู้ป่วย

แต่ส่วนใหญ่จะไม่ได้มีตัวส่งสัญญาณเพราะจะทำให้ราคาสูง ส่วนใหญ่จะเป็นแบบที่มีตัวแจ้งเตือน (Alarm) ที่ตู้ หากมีการเปิดตู้ขึ้นมาอาจมีเสียงหวอเตือนร้องเตือนคนแถวนั้นว่ามีการหยิบเครื่องออกไป หรือส่งสัญญาณไปที่ศูนย์สั่งการหรือห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล (รพ.) ที่ดูแลเครื่องตัวนี้อยู่ก็ได้เช่นกัน แล้วแต่ฟังก์ชันการติดตั้งว่าแต่ละที่เลือกใช้ระบบการติดตั้งแบบไหน

“การขโมยนำไปขายเพิ่งได้ยินเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ในท้องตลาดทั่วไปจะพบการจำหน่ายเครื่อง AED มือสองอยู่ ซึ่งบางสถานที่ที่ซื้อเครื่อง AED มานานหลายปี เมื่อเปลี่ยนรุ่นใหม่เปลี่ยนฟังก์ชัน เครื่องเก่าก็จะมีการนำมาจำหน่ายเครื่องมือสอง

ดังนั้น ต้องเตือนไปยังผู้ที่รับซื้อเครื่องมือสอง หรือผู้ที่จะซื้อเครื่องมือสองมาใช้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนทั่วไปหรือผู้ที่ประกอบธุรกิจที่ต้องดูแลความปลอดภัย ทำงานรับส่งผู้ป่วย การสแตนบายด์ที่อาจมีการจัดหาเครื่อง AED มือสองมาตั้งไว้ ก่อนซื้อก็ควรตรวจสอบจากซีเรียลนัมเบอร์” นายการันต์ กล่าว

ผู้ช่วยโฆษก สพฉ. กล่าวต่อว่า เครื่องที่ขายในท้องตลาดเป็นเครื่องที่นำเข้าจากต่างประเทศเกือบทุกยี่ห้อ จึงจะมีซีเรียลนัมเบอร์อยู่ ทางบริษัทจะมีข้อมูลว่าตัวไหนที่ขายไปตอนเป็นมือหนึ่ง หรือไปติดตั้งที่ไหน แต่ถ้าเรารับซื้อมือสองด้วยราคาที่ถูกลงก็ตรวจสอบซีเรียลนัมเบอร์ก่อนผ่านเว็บไซต์ของบริษัทว่าเป็นของที่ขโมยมาหรือไม่ มีการแจ้งความสูญหายหรือไม่ เพื่อปกป้องตนเองกรณีอาจมีความผิดการรับซื้อของโจร

หรือปัจจุบันหากเห็นว่ายังมีอีกหลายเครื่องที่สูญหาย ท่านใดก็ตามที่ซื้อเครื่องมือสองมาตรวจสอบจากซีเรียลนัมเบอร์ หากพบเป็นเครื่องที่แจ้งหายไว้ หรือเครื่องที่เป็นข่าวของสภากาชาดไทยก็ให้ไปแจ้งความตำรวจลงบันทึกประจำวัน เพื่อจะได้นำเครื่องไปคืนเป็นสาธารณสมบัติปลอดภัยและพ้นความผิดข้อหาดังกล่าว


สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊กแฟนเพจ Drama-Addict มีการเปิดเผยข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่า ความเสียหายเบื้องต้นจากจำนวนเครื่อง AED ที่หายไป 27 เครื่อง อยู่ที่ประมาณ