BMA Digital Plans ปฏิวัติ กทม. “ทำงานเป็นทีม”

ชัชชาติ ทีมงาน กทม.

 

แหวกวงล้อมปัญหาวิกฤตฝุ่นจิ๋วในมหานครกรุงเทพ มีแมตช์การประชุมนัดสำคัญ

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 กับการประชุมนัดแรก “การประชุมแนวดิ่งบูรณาการกลุ่มภารกิจด้านโครงสร้างพื้นฐานและความปลอดภัย ครั้งที่ 1/2566” ของกรุงเทพมหานคร (กทม.)

โดยมี “ทีมชัชชาติ” ร่วมประชุมยกแผง ประกอบด้วย “ต่อศักดิ์ โชติมงคล” ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการ กทม. “วิศณุ ทรัพย์สมพล” และ “รศ.ทวิดา กมลเวชช” รองผู้ว่าฯ กทม. โดยมี “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าฯ กทม. ร่วมรับฟังการประชุม ณ ห้องประชุมในศาลาว่าการเสาชิงช้า

ปฏิวัติการทำงานแยกส่วน

“ประธานต่อศักดิ์” ฉายภาพให้เห็นว่า ก่อนหน้านี้ หรือก่อนยุคผู้ว่าราชการ กทม.คนที่ 17 (ชัชชาติ สิทธิพันธุ์) การบริหารราชการแผ่นดินของ กทม. จะอยู่ในลักษณะเป็นกล่อง แบบกล่องใครกล่องมัน

หากเปรียบคำว่า “กล่อง” เป็นคำว่า “อาณาจักร” เท่ากับการทำงานในอดีตเป็นการทำงานแบบแยกส่วน อาณาจักรใครอาณาจักรมัน

ต่อศักดิ์ โชติมงคล
ต่อศักดิ์ โชติมงคล

“แต่วันนี้เราได้ทลายกล่องระหว่างสำนักกับเขต โดยกระบวนการประชุมแนวดิ่ง เพื่อเชื่อมโยงภารกิจหลายอย่างที่เคยแยกจากกัน”

ตัวอย่างที่ชัดเจน เรื่อง “คลอง” สำนักการระบายน้ำดูแล 213 คลอง ส่วน 50 สำนักงานเขตดูแล 948 คลอง, “ท่อระบายน้ำ 6,000 กิโลเมตร” สำนักการระบายน้ำดูแล 2,000 กิโลเมตร อีก 4,000 กิโลเมตร สำนักงานเขตดูแล

โจทย์ใหญ่ คือ ที่ผ่านมาต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างใช้งบประมาณ (ที่มาจากภาษีประชาชนและผู้ประกอบการ)

“วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2566) เป็นการประชุมหลังจากที่เราได้จัดแนวทางบริหารออกเป็นกลุ่มภารกิจ สิ่งสำคัญที่สุดของ กทม. คือการเชื่อมโยงแนวนโยบายแบบไร้รอยต่อ ระหว่างสำนักและสำนักงานเขตเข้าด้วยกัน” คำกล่าวของ “ต่อศักดิ์”

ขมวดปม 3 กลุ่มภารกิจ

ทั้งนี้ ทีมชัชชาติมีการจัดนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. ตามกลุ่มภารกิจออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย “กลุ่ม 1 ด้านงบประมาณ แผน และบุคคล” มี 11 หน่วยงาน (สำนักงานปกครองและประเมิน, สำนักการคลัง, สำนักงบประมาณ กทม., หัวหน้าฝ่ายการคลัง-ฝ่ายรายได้-ฝ่ายทะเบียน, สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการ กทม., สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล เป็นเลขานุการ, สถาบันพัฒนาข้าราชการ กทม. และสำนักงานการเจ้าหน้าที่ สำนักปลัด กทม.)

“กลุ่ม 2 ด้านคุณภาพชีวิต” มี 12 หน่วยงาน (สำนักอนามัย, สำนักการแพทย์, สำนักพัฒนาสังคม, สำนักการศึกษา, สำนักสิ่งแวดล้อม, สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว, หัวหน้าฝ่ายการศึกษา-ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม-ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล-ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ-ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต, สยป.เป็นเลขานุการ)

และ “กลุ่ม 3 ด้านโครงสร้างพื้นฐานและความปลอดภัย”

 

โดย “สยป.-สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล” เป็นเจ้าภาพหลัก จัดทำคู่มือปฏิบัติงาน (Action Plans) ที่ระบุหน่วยงานรับผิดชอบหลัก (H) และหน่วยงานสนับสนุน (R) ไว้ในคู่มือ เพื่อให้หน่วยงานรับทราบและทำความเข้าใจบทบาทและภารกิจตามนโยบายทั้ง 216 นโยบาย

ดังนั้น การประชุมนัดแรกของ “กลุ่มภารกิจด้านโครงสร้างพื้นฐานและความปลอดภัย” จึงเป็นการประชุมแนวดิ่ง เพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกันระหว่าง “สำนัก” กับ “50 สำนักงานเขต” ในเรื่องของนโยบายต่าง ๆ เพื่อให้มีแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกัน

รวมถึงเพื่อรายงานปัญหาอุปสรรคให้ผู้บริหารทราบ และเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารและฝ่ายปฏิบัติในการผลักดันนโยบายให้เป็นรูปธรรม

โดยมี 10 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1.สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล 2.สำนักเทศกิจ 3.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 4.สำนักการโยธา 5.สำนักการระบายน้ำ 6.สำนักการจราจรและขนส่ง 7.สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง 8.ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต 9.หัวหน้าฝ่ายโยธา 10.หัวหน้าฝ่ายเทศกิจ

ตีบทแตกหน่วยงาน H+R

สำหรับ Action Plans หรือคู่มือสำหรับหน่วยงานนั้น แบ่งเป็น “สำนัก-สำนักงานเขต” เพื่อสื่อสารให้เข้าใจตรงกันถึงความสัมพันธ์ของนโยบายผู้ว่าฯ กทม. กับหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ซึ่งใช้รหัสย่อ “H” และหน่วยงานสนับสนุน รหัสย่อ “R”

เพื่อชี้ย้ำให้เห็นบทบาทของหน่วยงาน H+R ในฐานะพระเอก+พระรอง ที่ต้องสนับสนุนค้ำจุนกันและกัน

Action Plans ยังประกอบด้วยรายละเอียดโครงการ/กิจกรรม เป้าหมาย เป็นไปตามบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของการเป็นหน่วยงาน H และหน่วยงาน R

กทม.

BMA Digital Plans

เรื่องใหม่น่าจะเป็นการจัดทำช่องทางการรายงานผลดำเนินการตามนโยบาย ผ่าน “BMA Digital Plans-ระบบบริหารจัดการแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร”

พร้อมกันนี้ “ขจิต ชัชวาณิชย์” ปลัดกรุงเทพมหานคร มีข้อสั่งการด้านโครงสร้างพื้นฐานและความปลอดภัย 5 ภารกิจหลัก ได้แก่ 1.การดูแลรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชน 2.ทางเท้า 3.คลอง 4.ท่อระบายน้ำ 5.ไฟฟ้าส่องสว่าง

โดยเน้นย้ำข้อสั่งการให้หน่วยงาน H ทำความเข้าใจ 216 นโยบาย ที่สอดคล้องกับพันธกิจของหน่วยงาน จัดลำดับภารกิจที่ต้องดำเนินการในปี 2566 นี้ โดยแยก Key Projects ออกมาเพื่อดำเนินการก่อน

ในส่วนของข้อมูลที่ “50 สำนักงานเขต” ต้องกรอกเข้ามาในระบบ BMA Digital Plans นั้น ให้ สยป.จัดทำเป็นสรุปขึ้น dashboard เพื่อให้สามารถดูและทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น

สารพันปัญหาเล็กในเมืองใหญ่

การประชุมนัดแรกได้ระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความคืบหน้า ปัญหาอุปสรรค ในการดำเนินการตามนโยบายต่าง ๆ เช่น การซ่อมแซมไฟฟ้าส่องสว่าง การสร้างซ่อมทางเท้า การจัดระเบียบทางเท้า หาบเร่แผงลอย

การขุดลอกและทำความสะอาดท่อระบายน้ำ การขุดลอกคลอง การตรวจสอบและปรับปรุงทางข้าม การยกระดับคุณภาพกล้องวงจรปิด การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

การจัดรูปที่ดิน การตรวจจุดเสี่ยง/พื้นที่เปลี่ยว การรณรงค์ไม่ทิ้งขยะในคูคลอง การซ้อมการเผชิญเหตุสาธารณภัย การพัฒนาบัญชีอุปกรณ์ในการเผชิญเหตุสาธารณภัยฉุกเฉินระดับย่าน การจัดทำ BKK Risk Map เป็นต้น

บทสรุป “สยป.-สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล” ได้จัดทำแนวทางดำเนินการ ดังนี้ 1.ให้หน่วยงานหลัก (H) จัดประชุมเวิร์กช็อปร่วมกับหน่วยงานสนับสนุน (R) ทบทวนรายละเอียดกิจกรรม เป้าหมายใน Action Plans พร้อมปรับแก้ให้แล้วเสร็จ และจัดส่งรายงานมาที่ สยป.

2.ให้หน่วยงาน H จัดประชุมติดตามงานร่วมกับหน่วยงาน R กำหนดความถี่ 2 เดือน/ครั้ง และ 3.ให้หน่วยงาน H จัดทำรายงานการประชุมเสนอผู้บริหาร กทม.

“วันนี้เราบูรณาการการทำงานเชื่อมกัน เพื่อให้สำนักกับเขตเกิดความเข้าใจร่วมกัน ผ่านตัวชี้วัด BMA Digtal Plans โดยใช้เป้าหมายความสำเร็จ มุ่งเน้นเพื่อประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก”