กรมวิทย์ฯ เผยโควิด BN.1 ครองไทยแทน BA.5.2

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์

กรมวิทย์ฯ เผยสายพันธุ์ BN.1 ครองไทยแทน BA.5.2 แล้วหลังพบสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 74.5 ขณะที่ CH.1.1 และสายพันธุ์ย่อย ซึ่งมีแนวโน้มหลบภูมิได้ดีพบร้อยละ 7.3

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย ดร.นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และ ดร.พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญ อัปเดตสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 และสายพันธุ์ ที่เฝ้าติดตามในประเทศไทยว่า

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 พบเชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกกำลังให้ความสำคัญกับการติดตามโอไมครอน 4 สายพันธุ์ จากพื้นฐานของข้อมูลการเพิ่มความชุกหรือความได้เปรียบด้านอัตราการเติบโตเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ และการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการได้เปรียบในการก่อโรค โดยช่วงเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา พบข้อมูลสายพันธุ์ในฐานข้อมูลสากล GISAID ดังนี้

– BF.7 จำนวน 1,147 ตัวอย่าง ร้อยละ 4.6

– BQ.1 และลูกหลาน จำนวน 11,674 ตัวอย่าง ร้อยละ 46.9 รวมถึง BQ.1.1 7,189 ตัวอย่าง ร้อยละ 28.9

– BA.2.75 และลูกหลาน จำนวน 3,473 ตัวอย่าง ร้อยละ 13.9 รวมถึง BA.2.75.2 35 ตัวอย่าง ร้อยละ 1 และ CH.1.1 1,672 ตัวอย่าง ร้อยละ 6.7

– XBB และลูกหลาน จำนวน 4,049 ตัวอย่าง ร้อยละ 16.3 รวมถึง XBB.1.5 3,005 ตัวอย่าง ร้อยละ 12.1

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า สถานการณ์สายพันธุ์โควิด 19 ในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นปี 2565 พบสายพันธุ์เดลตา ถูกแทนที่ด้วยสายพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยต่างๆ ได้แก่ BA.1, BA.2, BA.4, BA.5 และสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ในตระกูล ซึ่งปัจจุบันสายพันธุ์โอมิครอนเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่กระจายอยู่ในประเทศไทย

ผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อก่อโรคโควิด 19 ตั้งแต่ต้นปี 2566 จากผลการตรวจแบบ SNP/Deletion จำนวน 689 ราย พบสัดส่วนสายพันธุ์หลักคือสายพันธุ์ BA.2.75. คิดเป็นร้อยละ 88.5 โดยผลการตรวจแบบ SNP/Deletion จำนวน 94 ราย ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 28 มกราคม-3 กุมภาพันธ์ 2566 พบสัดส่วนสายพันธุ์ BA.2.75. เป็นหลักในกลุ่มผู้ติดเชื้อ คิดเป็นร้อยละ 87.2 (จำนวน 82 ราย)

และพบสายพันธุ์ BA.4/BA.5 คิดเป็นร้อยละ 8.5 (จำนวน 8 ราย) โดยสัดส่วนสายพันธุ์ BA.2.75. ร้อยละ 85.1 พบในกลุ่ม ผู้ติดเชื้อในประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มสถานการณ์ระบาดในเดือนกันยายน 2565 และกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศแทนที่สายพันธุ์ BA.5

สำหรับผลการถอดรหัสพันธุกรรมแบบทั้งตัว (Whole genome sequencing) ของตัวอย่างในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน พบสายพันธุ์ BA.2.75 และลูกหลานของ BA.2.75 (BA.2.75.) เช่น BA.2.75.2, BA.2.75.5, BA.2.75.5.1 (BN.1), BA.2.75.5.1.3 (BN.1.3), BA.2.75.3.4.1.1.1.1 (CH.1.1) จำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มพบในประเทศไทยเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2565

จากการวิเคราะห์ข้อมูลสายพันธุ์ที่เผยแพร่ในรอบสี่เดือน (ตุลาคม 2565-มกราคม 2566) พบอุบัติการณ์สายพันธุ์ BA.2.75. ร้อยละ 73.8 ซึ่งรวมถึง BN.1. ร้อยละ 59 และ CH.1.1. ร้อยละ 6.8 โดยสายพันธุ์ที่พบมีสัดส่วนสูง ได้แก่ BN.1. ซึ่งมีสัดส่วน ของสายพันธุ์ BN.1.3. สูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 82.4

ในขณะที่สายพันธุ์ BA.5.2 ซึ่งเดิมเคยเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทย มีสัดส่วนลดลง คิดเป็นร้อยละ 17.9 และในเดือนมกราคม 2566 ข้อมูลการกระจายสายพันธุ์หลักที่พบในประเทศไทย ยังคงเป็นสายพันธุ์ BN.1 ร้อยละ 74.5

สำหรับสายพันธุ์ CH.1.1 เป็นสายพันธุ์ย่อยของ BA.2.75 (BA.2.75 + R346T, K444T, L452R, และ F486S) สามารถหลบภูมิคุ้มกันได้พอสมควร พบรายงานครั้งแรกในอินเดียเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 และแพร่กระจายไปทั่วโลกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ในเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา พบสายพันธุ์ CH.1.1 และสายพันธุ์ย่อย กว่าร้อยละ 6 ของข้อมูลจากทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มกราคม 2566) และพบมากที่สุดในสหราชอาณาจักร เดนมาร์ก และสิงคโปร์

โดยสายพันธุ์ CH.1.1 มีการกลายพันธุ์บริเวณส่วนหนามที่สำคัญ คือ K444T, L452R, N460K, และ F486V ซึ่งทำให้หลบภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติหรือ จากการฉีดวัคซีนได้ดี มีคุณสมบัติดื้อต่อแอนติบอดีสังเคราะห์ Evusheld และ Bebtelovimab สำหรับประเทศไทย พบรายงานครั้งแรก เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 สายพันธุ์ CH.1.1 และสายพันธุ์ย่อย คิดเป็นกว่าร้อยละ 7.3 ของข้อมูล sequence ที่เผยแพร่ในเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา

“ขอให้ความมั่นใจว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเครือข่าย ยังคงเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อ SARS-CoV-2 อย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งมีการแชร์ข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก

ทั้งนี้ เพื่อติดตามผลกระทบจากสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์น่ากังวล ความรุนแรงของโรค หรือคุณสมบัติของอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ของเชื้อไวรัส เป็นข้อมูลสนับสนุนการออกแบบการรักษา การให้ยาต้านไวรัส หรือแอนติบอดีสังเคราะห์” นพ.ศุภกิจ กล่าว