รองปลัดยธ. ชี้ป้าทุบรถ-จอดรถขวาง สะท้อนกระบวนการยุติธรรมล่าช้า

รองปลัดยธ. ชี้ ป้าทุบรถ-จอดรถขวาง สะท้อนกระบวนการยุติธรรมล่าช้า ส่อเกิดค่านิยม ปชช.จัดการเองไม่รอจนท.รัฐ

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม โพสต์เฟชบุ๊ก โดยระบุว่า กรณีป้าทุบรถที่จัดการปัญหาด้วยตนเองทั้งที่ผิดกฎหมาย แสดงว่า..สามัญสำนึกเกี่ยวกับเรื่องสิทธิ และหน้าที่ วินัย รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายยังคงเป็นข้อที่อ่อนของห่วงโซ่ของประเทศนี้ที่ยังเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนอีกนานเท่านานถ้าไม่เข้าไปขยับขับเคลื่อนจัดการเสียแต่วันนี้

…คนไทยไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ปฏิบัติตามกฎ กติกา จารีตประเพณีและกฎหมายของประเทศนั้นได้อย่างดี และชื่นชมพลเมืองและประเทศนั้นๆ ว่า มีวินัย..น่าอยู่ และ “น่าเอามาใช้ในประเทศไทย”….

…พลเมืองประเทศนั้นๆ มาเที่ยวประเทศไทยสัปดาห์เดียว..ส่วนใหญ่นิสัยเปลี่ยน มีสะพานลอยอยู่บนหัวก็ไม่ขึ้น เดินข้ามถนนเฉย…สบายใจไทยแลนด์…

ดังนั้น จึงต้องขอกล่าวโทษไปยังคนที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย หรือเจ้าหน้าที่รัฐ…ที่มีหน้าที่แล้วไม่ทำ ละเว้น และ/หรือเลือกปฏิบัติ

ฉะนั้น เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายจึงเป็นคานงัดที่เป็นกลไกสำคัญในการสร้างค่านิยมและบรรทัดฐานในสังคมที่รับไม้ต่อจากสถาบันการศึกษาและครอบครัวได้

ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ทำหน้าที่ ผู้รับผิดชอบที่ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ก็คือ ผู้ปกครองแห่งรัฐนั้นๆ ด้วยเพราะเป็นคนที่ขันอาสามาเป็นผู้ชี้เป้าและกำกับทิศที่จะต้องพิจารณาตัวเอง หรือถูกจัดการให้ออกไปเพราะไม่มีศักยภาพพอ

ค่านิยม ซึ่งหมายถึง สิ่งที่บุคคลหรือสังคมยึดถือ เป็นเครื่องช่วยตัดสินใจ และกำหนดการกระทำของตนเอง อันนำไปสู่กฎธรรมเนียมของพฤติกรรมที่จะใช้ประสานปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคม หรือเรียกกันอีกอย่างว่า “บรรทัดฐาน” ซึ่งหมายถึง พฤติกรรมและบทบาทภายในสังคม ใช้สำหรับแยกแยะค่านิยม ทัศนคติและพฤติกรรมที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม ที่อาจบอกอย่างชัดเจนหรือเป็นนัยก็ได้ และผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคมอาจได้รับการลงโทษอย่างรุนแรง ซึ่งอาจนำไปสู่การกีดกันออกไปจากสังคมได้

วันนี้ กระบวนการสร้างค่านิยมและบรรทัดฐานต้องอาศัยเหตุการณ์และสื่อโซเชียลเป็นผู้สร้าง

ดั่งเช่นกรณีคุณป้าทบรถปิดทางเข้าออกบ้าน ก่อให้เกิดผลกระทบตั้งแต่กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า เจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฏหมาย และเป็นสร้างค่านิยมใหม่เรื่องจอดรถปิดทางเข้าออกบ้านคนอื่น เป็นต้น

แต่ถ้าไม่ถูกผลิตซ้ำ ก็จะจางหายไป ไม่สามารถพัฒนาไปสู่ค่านิยมและบรรทัดฐานในสังคมได้ ซึ่งก็คงไปรอให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำคงไม่ได้ และอาจเกิดค่านิยมและบรรทัดฐานใหม่ว่าจะจัดการปัญหาเรื่องใดๆ ไม่สามารถรอให้รัฐเข้ามาจัดการได้ ต้องลุกขึ้นมาจัดการด้วยตนเอง ซึ่งหากพัฒนาไปไกลถึงขั้นตอนนี้ ไม่อยากจะคิดว่าบ้านเมืองจะวุ่นวายไปขนาดไหน

เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย และผู้มีอำนาจแห่งรัฐต้องออกมาทำอย่างจริงจัง เพราะประชาชนทุกคนเป็นนายจ้างเรา และพวกเราทุกคนเป็นขี้ข้าประชาชน …

 

ที่มา : มติชนออนไลน์