ตามไปดู “กงเต็กอีสาน” วัฒนธรรมพื้นถิ่นบึงกาฬ ชาวบ้านลงแขกสร้างปราสาทผึ้งทำบุญอุทิศให้คนตาย

ผู้สื่อข่าวได้มีโอกาสเข้าร่วมการจัดงานทำบุญให้กับคุณยายอุดม นรินทร์ (หาญคำหล้า) อดีตเจ้าของบ้านเลขที่ 58 หมู่บ้านศรีโสภณ ตำบลบึงกาฬ อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ

ประเพณีการจัดงานศพมีความหลากหลายไปตามแต่ละท้องถิ่น

วันนี้ชวนกันตามไปดูการจัดพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายประจำท้องถิ่นของจังหวัดบึงกาฬ หลังจากวันเผาศพผู้วายชนม์แล้ว วันรุ่งขึ้นเป็นวันเก็บกระดูก อีก 1 วันต่อมามักเป็นวันลอยกระดูกหรือลอยอังคาร

วัฒนธรรมการทำปราสาทผึ้งเกิดขึ้นหลังจากมีการเผาศพแล้ว โดยญาติผู้ตายจะจัดสร้างปราสาทผึ้งขึ้นมา 1 ชุด คำพื้นถิ่นเรียกว่า “พาสาดผึ้ง” เข้าใจว่าแผลงมาจากคำว่าปราสาทผึ้งนั่นเอง

โดยการจัดทำเริ่มจากใช้วัตถุดิบต้นกล้วยตานี นำไม้ไผ่มาสานเป็นตัวฐาน จากนั้นช่างทำปราสาทผึ้งซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ตกทอดรุ่นต่อรุ่น จะมาร่วมกันทำ มีการแบ่งงานชัดเจน เช่น ช่างแกะสลัก ช่างสานไม้ไผ่ ช่างขึ้นโครง ช่างทำเข็มตอก (ทำจากไม้ไผ่เหลา) เป็นต้น

สังเกตว่าใช้วัตถุดิบต้นกล้วยตานี เหตุผลไม่ใช่เรื่องไสยศาสตร์แต่เป็นสภาพทางกายภาพที่มีต้นกล้วยแข็งแรง ไม่แตกเปราะเมื่อเทียบกับต้นกล้วยพันธุ์อื่นๆ จึงสามารถแกะสลักลวดลายได้สวยงาม

เมื่อขึ้นตัวปราสาทผึ้งจากต้นกล้วยเสร็จแล้ว มีการประดับด้วย “ดอกผึ้ง” หรือดอกขี้ผึ้ง ซื้อในตลาดหรือร้านสังฆภัณฑ์ นำมาประดับตัวปราสาท จึงเรียกชื่อว่าปราสาทผึ้งนั่นเอง

ตัวปราสาทผึ้งถือว่าเป็นเครื่องเอก โดยต้องมี “เครื่องบริวาร” ประกอบอยู่ด้วย

ทั้งนี้ การจัดทำเครื่องบริวารทางญาติผู้ตายมีการซื้อสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน จากนั้นจะมีการถวายให้กับวัดทั้งหมด ดังนั้น เครื่องบริวารจะจัดจำนวนมากหรือจำนวนน้อยขึ้นกับความต้องการของญาติโดยตรง ไม่มีข้อจำกัดใดๆ

โดยเป็นคติความเชื่อว่าเครื่องบริวารทั้งหมดนี้ผู้ตายจะได้ใช้สอยในชีวิตอีกภพหนึ่งหรือชีวิตเบื้องหลังความตาย

ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นพิธีกรรมความเชื่อเช่นเดียวกับการจัดงานศพของคนจีน ที่มีการทำกงเต็กด้วยการเผากระดาษเงินกระดาษทอง เผากระดาษที่จำลองเป็นสิ่งของเครื่องใช้ เช่น รถยนต์ มือถือ บ้าน แล้วเผาอุทิศให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม การสร้างปราสาทผึ้งมีกติกาบางประการ โดยผู้ตายจะต้องมีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปจึงจะมีธรรมเนียมในการทำบุญปราสาทผึ้ง และใช้วัตถุดิบจากต้นกล้วย ถือเป็นธรรมเนียมโบราณ

ในขณะที่เคยมีผู้ตายบางรายที่อายุไม่ถึง 60 ปี และทางญาติผู้ตายมีความประสงค์ต้องการทำบุญปราสาทผึ้งให้ ซึ่งการจัดทำปราสาทผึ้งในกรณีนี้จะลดหย่อนในเรื่องวัตถุดิบ เช่น ใช้กะละมังแทนการใช้ต้นกล้วย ส่วนเครื่องบริวารขึ้นกับความต้องการของเจ้าภาพ

ในด้านค่าใช้จ่ายหลักในการทำบุญปราสาทผึ้ง ตัวปราสาทซึ่งทำจากต้นกล้วยและการแกะสลักตกแต่งลวดลาย เป็นการขอแรงกันทำจากคนพื้นถิ่น ไม่มีค่าแรง ถือว่าทุกคนมาด้วยความเต็มใจต้องการทำบุญ

ค่าใช้จ่ายหลักจริงๆ จึงมาจากเครื่องบริวาร ส่วนใหญ่ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาก็จะจัดหาสิ่งของเครื่องใช้ตามสมควร งบระมาณอยู่ที่ 3,000 บาทขึ้นไป ส่วนคหบดีหรือผู้มีฐานะก็คงจะจัดหนักตามกำลังทรัพย์

การทำบุญปราสาทผึ้งหรือกงเต็กอีสานจึงนับเป็นความสวยงามบนความแตกต่างทางวัฒนธรรม ที่ชาวบึงกาฬยังคงสืบสานเป็นมรดกตกทอดมาถึงทุกวันนี้