“ผอ.เขตประเวศ” แจงให้ 3 ตลาดขายของได้ 7 วัน ก่อนปิดถาวร 28 ก.พ. ส่วนอีก 2 แห่งให้แก้ไข

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่สำนักงานเขตประเวศ นายธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ผู้อำนวยการเขตประเวศ เป็นประธานประชุมร่วมกับเจ้าของอาคารตลาดทั้ง 5 แห่ง และซุปเปอร์มาร์เก็ต อินฟินิตี้ มอลล์ อีก 1 แห่ง ซึ่งทั้งหมดตั้งอยู่บริเวณโดยรอบบ้านเลขที่ 37/208 ซอยศรีนครินทร์ 55 แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ของ น.ส.บุญศรี แสงหยกตระการ อายุ 65 ปี หลังเกิดเหตุ 2 ป้าทุบรถ คือ น.ส.รัตนฉัตร แสงหยกตระการ อายุ 61 ปี และ น.ส.ราณี แสงหยกตระการ อายุ 57 ปี เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาในการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้าได้มีเจ้าของตลาดมาร่วมประชุมเพียง 5 แห่ง ยกเว้นตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต เจ้าของซุปเปอร์มาร์เก็ต และเจ้าหน้าที่ กทม.ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ฝ่ายโยธาและฝ่ายเทศกิจของเขตประเวศ ร่วมประชุม ประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนตั้งโต๊ะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

ต่อมาเวลา 10.00 น.นายธนะสิทธิ์ แถลงว่า ทางเขตได้เชิญเจ้าของตลาดทั้ง 5 แห่ง และร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตอีก 1 แห่ง มาประชุม เพื่อแจ้งข้อหาในการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดตามกฎหมายทุกราย ส่วนบางรายจำเป็นต้องแก้ไขตามระเบียบกฎหมาย โดยเขตประเวศได้ชี้แจงว่าเจ้าของตลาดกระทำความผิดใดบ้าง ดังนี้ 1.ตลาดสวนหลวง 1 ได้ขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคารถูกต้องตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แต่ไม่มีใบอนุญาตจัดตั้งตลาดตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 2.ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต มีใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เชิงพาณิชย์ แต่ไม่ได้จำหน่ายสินค้าถูกต้องตามที่ขอใบอนุญาต 3.ตลาดยิ่งนรา มีใบอนุญาตขอก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เชิงพาณิชย์และจำหน่ายสินค้าถูกต้องตามกฎหมาย แต่โครงสร้างของอาคารไม่มีที่จอดรถ 4.ตลาดรุ่งวาณิชย์ และ 5.ตลาดร่มเหลือง ไม่มีใบอนุญาตก่อสร้างอาคารตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ และใบอนุญาตจัดตั้งตลาดตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ ทั้งนี้ อยากทำความเข้าใจให้ชัดเจนต่อสื่อมวลชนว่า ระยะนี้กลุ่มผู้ค้ายังสามารถขายของได้อยู่ ภายใน 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 22-28 กุมภาพันธ์ เพื่อให้ระบายสินค้าภายในตลาด ก่อนเขตจะสั่งการให้ยุติการค้าขายโดยสิ้นเชิงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ รวม 3 ตลาด ประกอบด้วย ตลาดสวนหลวง 1 ตลาดรุ่งวาณิชย์ และตลาดร่มเหลือง โดยให้ปิดตลาดหรือห้ามขายของจนกว่าจะปฎิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง

นายธนะสิทธิ์ แถลงอีกว่า ส่วนอีก 2 ตลาด ได้แก่ ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต และตลาดยิ่งนรา ซึ่งได้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เชิงพาณิชย์ จะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามที่ได้ขออนุญาต ดังนี้ ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต ต้องจำหน่ายสินค้าเชิงพาณิชย์เท่านั้น ซึ่งสามารถขายสินค้าทุกอย่างได้ เช่น สมุด ดินสอ เสื้อผ้า ก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ ยกเว้นของสดที่ระบุไว้ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ ส่วนตลาดยิ่งนราต้องหาพื้นที่จอดรถให้ได้ ซึ่งกฎหมายกำหนดต้องมีพื้นที่จอดรถได้ จำนวน 14 คัน ทั้งนี้ ตลาดทั้ง 2 แห่งนี้ จะต้องแก้ไขตามข้อบัญญัติกฎหมายภายใน 7 วัน หรือก่อนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ หากปฎิบัติตามข้อกฎหมายแล้วสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และถ้าวันที่ 28 กุมภาพันธ์แล้ว เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วยังไม่ได้แก้ไข ต้องหยุดกิจการและสั่งปิดกิจการเช่นเดียวกัน ดังนั้นอะไรที่ผิดกฎหมายจะต้องไม่มี ซึ่งทั้งหมดเป็นแนวทางที่ทุกเขตต้องปฎิบัติเหมือนกัน

นายธนะสิทธิ์ แถลงต่อไปว่า ส่วนผลกระทบต่อผู้ค้าภายใน 3 ตลาด คือ ตลาดสวนหลวง 1 ตลาดรุ่งวาณิชย์ ตลาดร่มเหลือง ปัจจุบันมีผู้ค้าตลาดละ 100 ราย รวมประมาณ 300 ราย ซึ่งเขตค่อนข้างกังวัลใจ ภายหลังสั่งปิดตลาดในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ โดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.ได้ให้เขตจัดหาพื้นที่รองรับผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบ แต่กลุ่มผู้ค้าแจ้งความประสงค์ว่าจะหาพื้นที่ขายใหม่เอง เนื่องจากกลุ่มผู้ค้าทั้งหมดได้มีพื้นที่ขายในวันเสาร์-อาทิตย์ เป็นประจำอยู่แล้ว ส่วนในวันธรรมดาได้ทำการค้าน้อยมาก ส่วน 2 ตลาด คือ ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ตและตลาดยิ่งนรา สามารถขายของได้ปกติ ด้วยการจำหน่ายสินค้าตามการขออนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เชิงพาณิชย์

“เมื่อทางตลาดได้ปฎิบัติถูกต้องตามข้อกฎหมายจะสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และต้องไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญต่อบ้านพักอาศัยโดยรอบบริเวณ โดยเฉพาะบ้านของป้าบุญศรีกับพวกอีก 4 คน ที่ได้รับความคุ้มครองตามวิธีการชั่วคราวของศาลชั้นต้น โดยศาลสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐดูแลป้ากับพวกไม่ให้ผู้ใดสร้างความเดือดร้อนรำคาญต่อผู้ฟ้อง ทั้งนี้ ในส่วนของซุปเปอร์มาร์เก็ต ตั้งอยู่ตรงข้ามบ้านป้าบุญศรีนั้น ต้องแยกอีกกรณีหนึ่ง ไม่ได้เข้าข่ายปิดกิจการภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เพราะปัจจุบันทางเขตอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเจ้าของซุปเปอร์มาร์เก็ตมีความผิดใดบ้าง คุณป้าบุญศรีจะได้สบายใจ อยู่บ้านอย่างมีความสุขเป็นบ้านที่ท่านได้กลับมาพักผ่อนหลังทำงานแล้วเสร็จ และเชื่อว่าคุณป้าบุญศรีคงสบายใจในการแก้ไขปัญหาของ กทม. ที่ผ่านมาผมบอกแล้วว่าผมไม่รู้ ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.อัศวิน ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมมอบหมายให้นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัดกทม.ลงนามคำสั่งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาและตรวจสอบข้อเท็จจริงในระยะที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นผมอยู่ตรงนี้ ผมจะทำทุกอย่างให้ถูกต้องและตรวจสอบภายในเขตทั้งหมด ส่วนเขตอื่นอีก 49 เขต ผู้ว่าฯ กทม.จะออกคำสั่งให้ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาในลักษณะเดียวกัน” นายธนะสิทธิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้เขตทราบมาก่อนหรือไม่ว่าตลาดไม่ได้ขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคารอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นายธนะสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนนี้พล.ต.อ.อัศวิน ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งไม่ขอตอบเพราะอยู่ระหว่างการตรวจสอบ

“ส่วนสมัยของผมยืนยันว่าไม่มีกรณีเกิดขึ้นเด็ดขาด ไม่มีกลุ่มอิทธิพลใดๆ ทั้งสิ้นทุกคนถือเป็นกลุ่มค้าเหมือนกันทั้งหมด เพราะฉะนั้นจึงขอยืนยันอีกครั้งว่าไม่มีกลุ่มอิทธิพลมาเกี่ยวข้อง” นายธนะสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามอีกว่าหากคำสั่งศาลได้พิพากษาว่าพื้นที่ทั้งหมดนี้เป็นที่ดินจัดสรรเพื่อที่อยู่อาศัย ไม่มีการพาณิชย์ ไม่มีอุตสาหกรรมและมีระบบสาธารณูปโภคเพื่อที่อาศัย นายธนะสิทธิ์ กล่าวว่า หากคำสั่งศาลระบุว่าให้เป็นพื้นที่เพื่ออยู่อาศัย อาคารตลาดทั้งหมดต้องรื้อถอน แม้ตลาด 2 แห่ง ที่ขอใบอนุญาตอาคารใช้เชิงพาณิชย์ คือ ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ตและตลาดยิ่งนรา ต้องรื้อถอนอาคารเช่นกัน โดย กทม.จะต้องปฎิบัติตามคำสั่งศาล โดยออกคำสั่งให้เจ้าของตลาดเป็นผู้รื้อถอนอาคาร ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น ส่วนนี้กทม.คงไม่ก้าวล่วงการปฎิบัติหน้าที่ของศาล ซึ่งถือว่าเป็นคำตัดสินที่ได้พิจารณารอบคอบแล้ว เบื้องต้นรองโฆษกศาลปกครองสูงสุดได้ชี้แจงว่าคดีมีความคืบหน้าไปมาก คู่กรณีอยู่ระหว่างยื่นเอกสารหยิบย่อย

“เจ้าของตลาดได้ตั้งคำถามว่าทำไมปฎิบัติถูกต้องมากที่สุดยังถูกสั่งปิดตลาด ทางเขตได้ชี้แจงว่าไม่มีคำว่าถูกมากที่สุดหรือน้อยที่สุด ทำผิดต้องแก้ไขจะเปิดขายไม่ได้ ต้องยุติ” นายธนะสิทธิ์ กล่าว

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์