แอมเนสตี้ชี้ ปี’60 ไทยใช้กม.ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาก จี้เลิกคำสั่งคสช.ปิดกั้นเสรีภาพแสดงออก

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมเดอะสุโกศล แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงข่าวเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2560/61 ระบุว่าในปี 2560 นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม นักศึกษา ชาวบ้านที่เรียกร้องสิทธิชุมชน ทนายความ สื่อมวลชน นักวิชาการ ไปจนถึงประชาชนทั่วไปในประเทศไทยต่างถูกภาครัฐและเอกชนละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกอย่างต่อเนื่อง โดยข้อกฎหมายที่มักถูกนำมาอ้างใช้บ่อยครั้ง ได้แก่ มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 116 ในประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งต่างมีเนื้อหาหรือการตีความที่ขัดต่อมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ฯประเทศไทย กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก 159 ประเทศในช่วงปีที่ผ่านมาน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีการใช้วาทกรรมสร้างความเกลียดชังเป็นวงกว้างโดยส่วนใหญ่เกิดจากผู้มีอำนาจในหลายประเทศจนเป็นเรื่องปกติ แต่ในปีที่ผ่านมาก็มีกระบวนการเคลื่อนไหวที่ลุกขึ้นมารณรงค์เรียกร้องจำนวนมาก ในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก รัฐบาลยังล้มเหลวในการปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่มีความก้าวหน้าในการทำงานของนักปกป้องสิทธิและนักกิจกรรม ทว่าพื้นที่ภาคประชาสังคมถูกจำกัดน้อยลง มีการปราบปรามดำเนินคดีในกัมพูชาและประเทศไทย มีการบังคับบุคคลสูญหายในบังคลาเทศ การลอยนวลพ้นผิดก็เป็นเรื่องน่าหนักใจเมื่อมีการสังหารนอกกฎหมาย โดยเฉพาะที่เมียนมาและอัฟกานิสถาน

“แอมเนสตี้ยินดีที่รัฐบาลไทยประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ ตลอดจนระบุว่าจะใช้สิทธิมนุษยชนเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงถูกปล่อยให้เกิดขึ้นเป็นประจำ เห็นได้จากการคุกคาม จับกุม และดำเนินคดีประชาชนจำนวนมากที่ออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างสงบ ไปจนถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ ที่ระบุในรายงานของเราและเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาประชาชนตลอดปีที่ผ่านมา” นางปิยนุชกล่าว

ดร.อันธิฌา แสงชัย รองประธานกรรมการแอมเนสตี้ฯประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์โรฮีนจาในเมียนมามีการอพยพจากยะไข่ไปบังคลาเทศ มีการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น และมีการบังคับสูญหาย โดยชาวโรฮีนจาที่ยังอยู่ในยะไข่ถูกจำกัดสิทธิอย่างต่อเนื่องในหลายด้าน และมีการจับกุมผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ซึ่งยังไม่ได้รับการปล่อยตัว และในรายงานพบว่ามีการยุยงให้เลือกปฏิบัติและใช้ความรุนแรงต่อมุสลิมในเมียนมาผ่านสื่อของรัฐ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่เคยเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิ ยังไม่มีการสอบสวนเพียงพอ

“ด้านสถานการณ์ในประเทศไทย เสรีภาพในการแสดงออกปีที่ผ่านมามีข้อจำกัดและถูกละเมิดสิทธิค่อนข้างเยอะ เนื่องจากมีคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมือง5คนขึ้นไป มีการจับกุมดำเนินคดีนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิ ผู้สื่อข่าว ประชาชน ทนายความ มีการควบคุมดำเนินคดีอย่างเป็นระบบและโดยพลการ มีการใช้ม.44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวเป็นกลไกจับกุมดำนเนินคดีคนเคลื่อนไหวและผู้เห็นต่างจากรัฐ และยังมีการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหารอยู่ ด้านกฎหมายว่าด้วยการทรมานและบังคับสูญหาย รัฐบาลยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำสัญญาว่าจะออกกฎหมายนี้ และยังไม่ได้ให้สัตยาบันตามอนุสัญญาระหว่างประเทศรวมถึงการชี้แจงกรอบเวลาที่แน่นอนและการไต่สวนคดีบังคับบุคคลสูญหายต่างๆ ยังไม่คืบหน้า เรื่องการลอยนวลพ้นผิด ยังไม่มีการสอบสวนกรณีเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิ เช่นการที่ศาลฎีกายกฟ้องอดีตนายกฯและรองนายกฯที่มีส่วนในการสลายชุมนุมปี2553ที่ทำให้ประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย90คน

“แอมเนสตี้ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย 1.ให้ยกเลิกคำสั่งคสช.ที่3/2558และกฎหมายอื่นๆที่ละเมิดเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ 2.ให้ยุติการจับกุมหรือควบคุมตัวโดยพลการ 3.ยุติการใช้ศาลทหารตัดสินคดีพลเรือน 4.ผ่าน พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหาย โดยออกกรอบเวลาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้คดีที่ค้างอยู่คืบหน้า 5.รัฐมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ขอให้ยุติการจับกุมดำเนินคดีนักปกป้องสิทธิ 6.ให้เคารพต่อหลักการไม่ส่งกลับผู้ลี้ภัย และจัดตั้งระบบคัดกรองผู้ลี้ภัยที่ชัดเจน” ดร.อันธิฌากล่าว

 

ที่มา มติชนออนไลน์