แพทย์เผยผู้สูงอายุเริ่มสมองเสื่อมระยะแรก แนะเข้ารักษาแบบบูรณาการ

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วย นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ร่วมแถลงข่าว “มหกรรมสมองเสื่อม : 4.0 เข้าใจ ห่างไกล…สมองเสื่อม” ซึ่งจะจัดงานในวันที่ 12 มีนาคม 2561 ที่ ลานตะวันยิ้ม สวนลุมพินี ว่า ในปี 2561 ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุ 11.6 ล้านคน หรือร้อยละ 17.5 และในปี 2562 ถือเป็นปีแรกที่ประเทศไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุมากกว่าประชากรวัยเด็ก และในอนาคตอันใกล้ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอีกมาก จนกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยแบบสมบูรณ์ในอีก 3 ปีข้างหน้าหรือปี 2564 และคาดว่าในปี 2574 ประเทศจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด คือมีประชากรสูงอายุร้อยละ 28 อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญของผู้สูงวัยคือ ภาวะสมองเสื่อม ผู้ป่วยจะมีความจำที่ลดลง และสูญเสียความจำในระยะยาว กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน

นพ.สมศักดิ์กล่าวอีกว่า ภาวะสมองเสื่อมที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ คือ โรคอัลไซเมอร์ พบได้ถึงร้อยละ 60-70 ของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด และที่น่ากังวลคือพบว่าผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไปประมาณร้อยละ 10 มีปัญหาสมองเสื่อมระยะแรก ซึ่งจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบการรักษาแบบบูรณาการ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ โดยล่าสุดกรมการแพทย์ โดยสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ ได้ร่วมกับสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มูลนิธิสาธารณสุขและผู้สูงอายุไทย พัฒนาระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยสูงอายุภาวะสมองเสื่อมครบวงจรพัฒนาการดูแลแบบบูรณาการ ทำงานทั้งระดับพื้นที่ ชุมชน โรงพยาบาล สังคมทั้งหมด ดูแลรักษาในรูปแบบเฉพาะเจาะจงกับผู้ป่วยแต่ละราย นำร่องใน 4 จังหวัด คือ ขอนแก่น นครราชสีมา ลพบุรี และสุราษฎร์ธานี ซึ่งหากพบว่ามีภาวะสมองเสื่อมจะมีการรักษาต่อเนื่องโดยเน้นเครือข่ายครอบครัว ชุมชน และหน่วยบริการด้านสุขภาพ เป็นต้น

ผศ.พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน นายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม กล่าวว่า ภาวะสมองเสื่อมพบได้ทุกวัน แต่พบมากในผู้สูงอายุ ซึ่งเมื่อป่วยแล้วร้อยละ 90 รักษาไม่หาย อาการจะเพิ่มขึ้น แต่จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับทั้งผู้ป่วย การรักษา การดูแลของครอบครัว ซึ่งการดูแลรักษาจะทำให้สามารถดำเนินชีวิตปกติให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยสมองเสื่อม อาการจะคล้ายๆ ดับๆ ติดๆ เช่น บางครั้งนอนหลับพักผ่อนดีก็จะรู้สึกดี แต่หลายครั้งหากนอนหลับพักผ่อนไม่ดีอาการก็ไม่ดี อาจแปรปรวนได้ ทั้งนี้ การดูแลรักษาในกรณีผู้ป่วยอยู่ในระยะต้น แพทย์ก็จะดูแลรักษาแบบชะลออาการให้พวกเขาพึ่งพาตัวเองได้ แต่สุดท้ายคนไข้จะติดเตียง ความสามารถจะถดถอยลง สื่อสารไม่ได้ เดินไม่ได้ รับประทานอาหารไม่ได้ ต้องมีคนคอยดูแลตลอด สุดท้ายคนไข้จะจากไปในที่สุด

ผศ.พญ.สิรินทรกล่าวอีกว่า จริงๆ แล้วคนไข้ที่มีภาวะอัลไซเมอร์จะมีอายุเฉลี่ย 10 ปี แต่กรณีที่คนไข้ได้รับการดูแลจากครอบครัวเป็นอย่างดี แม้จะมีรอยโรคเยอะ แต่ความเสื่อมของสมองกลับช้าลง อยู่ได้ถึง 20 ปี ดังนั้น การดูแลจึงสำคัญมาก สำหรับอาการเริ่มแรกที่เจอบ่อยๆ ว่าจะเริ่มเข้าสู่สมองเสื่อม คือ เล่าเรื่องเดิมซ้ำๆกับคนเดิมๆ หลายรอบ พูดแล้วพูดอีก รวมไปถึงถามซ้ำๆ กับเรื่องที่ตัวเองกังวล เช่น จะไปพบแพทย์ก็จะถามซ้ำๆ ว่าเมื่อไหร่ และกังวลในหลายเรื่อง เช่น ลูกชายจะบวช ก็จะถามซ้ำๆ ในเรื่องเดิมๆ ส่วนอาการหลงลืมจะมาทีหลัง และอีกกลุ่มที่เกิดจากปัญหาหลอดเลือดไปเลี้ยงสมองไม่ดี ก็จะมีอาการที่เริ่มจากอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสมองเสื่อมจากหลอดเลือดไปเลี้ยงสมองไม่ดี ก็ต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์ สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ สิ่งเหล่านี้นอกจากทำให้สมองเสื่อมก็ยังทำให้เสี่ยงเป็นโรคต่างๆ จนอาจเกิดอัมพฤกษ์อัมพาตได้

ด้าน นพ.ประพันธ์ พงศ์คณิตานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมในมหกรรมสมองเสื่อม วันที่ 12 มีนาคม เริ่มตั้งแต่เวลา 08.00-14.30 น. ณ ลานตะวันยิ้ม สวนลุมพีนี เขตปทุมวัน มีการเสวนานิทรรศการโรคสมองเสื่อม ให้ความรู้เกี่ยวกับสมองเสื่อม ภัยเงียบที่ไม่ควรละเลย การประเมินภาวะความจำและกิจกรรมฝึกสมอง สิทธิ และกฎหมายเกี่ยวกับสมองเสื่อม การจัดบ้านและสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้ป่วยสมองเสื่อม เป็นต้น

 

ที่มา มติชนออนไลน์