ลำดับเหตุการณ์ GT200 เครื่องตรวจจับระเบิดปลอม

GT 200
แฟ้มภาพ

ลำดับเหตุการณ์ GT200 เครื่องตรวจจับระเบิดปลอม ไม่สามารถใช้ได้จริง ก่อนฟ้อง หมอพรทิพย์

วันที่ 10 มีนาคม 2566 GT200 กลับมาเป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้งเมื่อ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่มีมติเอกฉันท์เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา เห็นควรสั่งฟ้องเอง ในคดีจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด GT200 และ Alpha6

ในสำนวนของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จำนวน 4 สัญญา ที่มีการชี้มูลความผิดทางอาญากล่าวหาแพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ในฐานะอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (ปัจจุบันเป็น ส.ว.) หลังจากก่อนหน้าอัยการสูงสุด (อสส.) มีความเห็นไม่สั่งฟ้อง โดยระบุว่า พยานหลักฐานไม่เพียงพอฟ้องแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์

โดยเหตุผลของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ที่สั่งฟ้องคดีนี้เองนั้น เป็นไปตามที่เคยชี้มูลความผิดก่อนหน้านี้ เนื่องจากเชื่อได้ว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอ โดยขั้นตอนปัจจุบันได้ส่งเรื่องไปยังสำนักคดีเพื่อร่างคำฟ้อง ก่อนส่งฟ้องแก่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางต่อไป

ทางด้าน แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ ได้โพสต์ภาพผ่านอินสตาแกรม เมื่อครั้งปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พร้อมเขียนข้อความเผยแพร่ผ่านทางอินสตาแกรมส่วนตัว ถึงกรณีดังกล่าวว่า

“วันนี้มีข่าวจากสำนักข่าวหนึ่งให้ทราบว่าถูก ป.ป.ช.มีมติให้ดำเนินคดีเรื่องจีที 200 ทั้งที่อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง หลายคนตกใจ ห่วงใย บางคนอาจบูลลี่ถล่มซ้ำ ก็ต้องขอบคุณ นับเป็นความคืบหน้า เป็นความชัดเจน และนับว่าจะใกล้จุดสิ้นสุดของเรื่องหนัก ๆ เสียที

คนไม่เคยลงปฏิบัติงานในพื้นที่จะไม่เข้าใจความเหนื่อยยาก ความลำบาก อันตรายที่มีตลอดเวลา เวลาทำงานต้องมีสติ ต้องเร่งให้เสร็จเร็วเพราะมีแต่อันตราย

รอบกายหมอมีทีมงานผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ที่มีความกล้าที่จะร่วมเส้นทางกับหมอในการเก็บหลักฐาน เราอยากเห็นความยุติธรรม เราอยากเห็นความสงบสุข อยากเห็นสันติสุขในแผ่นดิน เราจึงต้องทำงานท่ามกลางการอารักขา เพราะทุกคนใช้สมาธิกับงานไม่มีเวลาระวังตน

เราอดทนสร้างแนวทางการใช้นิติวิทยาศาสตร์ในคดีความมั่นคง ร่วมเก็บหลักฐานในคดีและในการปิดล้อมตรวจค้น เราเริ่มมาตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ที่ยังไม่มีใครทำ

เมื่อหน่วยงานหลักเริ่มเข้าใจบทบาทหน้าที่ เริ่มตั้งหลักได้ เราก็ต้องถอยออกทั้งด้วยตัวเองและถูกถีบออก แต่หมอสอนทุกคนว่าขอให้ตั้งมั่นการทำสิ่งที่ดีที่ถูกต้อง

มาวันนี้ วันที่หมอต้องเกษียณจากงานก็ยังยากที่จะหาคนที่ตั้งใจมาสานต่อ ยามนั้นมีคนทำงานไม่มาก ทีมที่ลงใต้ก็ต้องทำงานสนับสนุนเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง หากจะมีความผิดพลาดก็หาใช่การทุจริตคอร์รัปชั่นตามที่ถูกกล่าวหา

แม้จะเหนื่อย แม้จะรู้สึกหนัก แต่จะท้อไม่ได้เด็ดขาด ที่สำคัญหมอจะไม่ปล่อยให้ทีมงานต้องต่อสู้โดยลำพังแน่นอน ที่ชัดเจนที่สุดคือเราต้องต่อสู้ด้วยตัวเอง อดทนอีกนิดเชื่อว่าจะผ่านได้แน่นอน

ขอบคุณวิกฤตที่เป็นโอกาสเสมอ”

หมอพรทิพย์
แฟ้มภาพ

จีที 200 คืออะไร

จีที 200 (GT200) คือ อุปกรณ์ตรวจสอบวัตถุระเบิดซึ่งสุดท้ายถูกเปิดโปงว่าเป็นกลฉ้อฉล บริษัท โกลบอลเทคนิค จำกัด ผู้ผลิตสัญชาติสหราชอาณาจักร อ้างว่าเครื่องสามารถตรวจจับวัตถุระเบิด และยาเสพติด โดยมีราคาจำหน่ายในแต่ละประเทศสูงกว่า 22,000 ปอนด์ต่อเครื่อง หากเครื่องนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ต่างจาก “ไม้ล้างป่าช้า” ปราศจากซึ่งหลักการคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ในการทำงาน

อุปกรณ์นี้ได้รับการตรวจสอบความสามารถในการตรวจจับอย่างละเอียด ตามด้วยการตรวจสอบอุปกรณ์ เอดีอี 651 ซึ่งเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการตรวจสอบวัตถุ จนกลายเป็นประเด็นการสอบสวนการหลอกลวงที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร

รัฐบาลสหราชอาณาจักรมีคำสั่งห้ามการส่งอุปกรณ์นี้ออกไปยังประเทศอิรัก และประเทศอัฟกานิสถาน ในคำสั่งซื้อของกองทัพในเดือนมกราคม พ.ศ. 2553 และได้ส่งสารเตือนไปยังรัฐบาลในต่างประเทศว่าเครื่องจีที 200 และเอดีอี 651 เป็นเครื่องที่ “ไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง” ในการตรวจสอบวัตถุระเบิด

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2556 ศาลอังกฤษได้พิพากษาให้จำคุก เจมส์ แมคคอร์มิค เป็นเวลา 10 ปี ในข้อหาหลอกขายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม หรือจีที 200 ในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ใน พ.ศ. 2565 ศาลยุติธรรมมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้บริษัท เอวิเอ แซทคอม ชำระเงินให้กับส่วนราชการต่าง ๆ ที่เสียหายแล้ว แต่ยังเป็นประเด็นต่อมาในเรื่องการตั้งงบประมาณเพื่อตรวจสอบอยู่

GT 200
แฟ้มภาพ

จีที 200 ในประเทศไทย

สำหรับการจัดซื้อเครื่อง GT200 เกิดขึ้นในสมัยที่กองทัพอากาศได้ให้บริษัทตัวแทนเข้าทำการทดสอบเป็นหน่วยงานแรก โดยได้นำไปพิสูจน์ทดลองเมื่อปี 2546 โดยใช้เวลาในการทดสอบ 1 ปีครึ่ง จากนั้นในปี 2548 กองทัพอากาศได้จัดซื้อมาใช้เบื้องต้น และพบว่ามีหลายกรณีที่เครื่อง GT200 ใช้ได้ผล

กระทั่งปลายปี 2548 กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในสมัย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็น ผบ.ทบ.ได้ทดลองใช้ เครื่อง GT200 หาระเบิดในมัสยิด ปรากฏว่าใช้งานได้ จึงเสนอขอเครื่องมือดังกล่าวในปี 2550 จากบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย กองทัพบกจัดซื้อให้ 26 เครื่อง โดยพบว่ามีการจัดซื้อในสมัยของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. เป็นจำนวนมากที่สุด โดยจำแนกตามสมัยรัฐบาล ดังนี้

– พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี จำนวน 59 เครื่อง

– นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี จำนวน 107 เครื่อง

– นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี จำนวน 44 เครื่อง

– นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี จำนวน 547 เครื่อง

29 มกราคม 2553 แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ ท้านักวิชาการตรวจสอบคุณภาพเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT200 มั่นใจใช้ได้ผล ทำงานได้จริง ด้าน “บิ๊กป๊อก” เผยได้รับรายงานจาก พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 ขณะนั้น ยืนยันว่า GT200 ใช้ได้ผล

2 กุมภาพันธ์ 2553 สื่ออังกฤษแฉ GT200 ลวงโลกใช้งานไม่ได้ ด้าน นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เปิดไฟเขียวให้พิสูจน์คุณภาพเครื่อง GT200 ยันหากพบทุจริตจะเอาเรื่องถึงที่สุด

16 กุมภาพันธ์ 2553 นายอภิสิทธิ์ เลิกสั่งซื้อ GT200 หลังผลการทดสอบจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯพบว่า ผลการทดสอบเครื่อง GT200 ไม่ต่างจากการเดาสุ่ม ไม่สามารถอธิบายตามหลักการทางวิทยาศาสตร์และไม่พบว่าตัวเครื่องมีอุปกรณ์ที่จะสามารถตรวจสอบระเบิดได้

18 กุมภาพันธ์ 2553 “บิ๊กป๊อก” ขอใช้เครื่อง GT200 ยันใช้งานได้ผลมากกว่า 300 ครั้ง ยืดอกทุกขั้นตอนโปร่งใส ตรวจสอบได้ ลั่นราคาไม่แพงหากเทียบกับชีวิตคน

20 กุมภาพันธ์ 2553 “บิ๊กป๊อก” ลงพื้นที่ภาคใต้ พูดทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ให้ระมัดระวังการใช้เครื่อง GT200 ด้านแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ แนะให้ใช้เครื่องไฟโด (Fido) แทน

23 กุมภาพันธ์ 2553 คุณหญิงกัลยา รมว.กระทรวงวิทย์ฯ ลงพื้นที่ทำความเข้าใจผลการทดสอบเครื่อง GT200 กับทหาร 3 จังหวัดชายแดนใต้

25 กุมภาพันธ์ 2553 ผอ.เนคเทค ยัน เครื่องอัลฟ่า-6 การทำงานไม่ต่าง GT200 ขอทหารชายแดนใต้เลิกใช้

21 กรกฎาคม 2555 พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.ทหารสูงสุดในขณะนั้น ยันเครื่อง GT200 ใช้งานได้จริง ไม่ได้ซื้อตามกระแส

24 กรกฎาคม 2555 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ขณะนั้นเตรียมโละเครื่อง GT200 จ่อจัดซื้อเครื่องไฟโด

24 ธันวาคม 2558 ป.ป.ช. ยกคำร้องถอดถอน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ กรณีละเว้นหน้าที่ปล่อยให้มีการจัดซื้อเครื่อง GT200 เหตุมีการจัดซื้อก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่ง

21 มิถุนายน 2559 สตง. เตรียมรื้อคดีการจัดซื้อเครื่อง GT200 ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น จี้ขอเงินเยียวยาหลังศาลอังกฤษตัดสินลงโทษบริษัทจำหน่าย พร้อมสั่งให้จ่ายเงินเยียวยากับประเทศผู้เสียหาย

23 มิถุนายน 2559 กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ เตรียมฟ้อง บริษัท avia satcom ในประเทศไทย และบริษัท global tecnical limited ในต่างประเทศ กรณีหลอกขายเครื่อง GT200

30 กรกฎาคม 2559 วิษณุ เผย ไทยหมดสิทธิยื่นขอเยียวยาเครื่อง GT200 ลวงโลก เหตุการจัดซื้อไม่เข้าเงื่อนไข

ปี 2560 อัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครอง 5 ยื่นฟ้องคดีทางปกครองต่อบริษัท avia satcom ในประเทศไทย พร้อมพวกรวม 4 คน มูลค่าค่าเสียหาย 687 ล้านบาท

ปี 2561 ศาลแขวงดอนเมือง พิพากษาคดีฉ้อโกงบริษัท avia satcom และนายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้บริหารบริษัท พร้อมพวกจำเลยรวม 4 คน ร่วมกันทุจริตหลอกลวง กรณีเสนอขายเครื่อง GT200 ที่ไม่สามารถใช้งานได้จริง ให้แก่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม มูลค่าความเสียหาย 6.8 ล้านบาท

ปี 2564 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งพิพากษาตามคำฟ้องของพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครอง 5 ที่ว่า GT200 จำนวน 757 เครื่อง ไม่มีคุณภาพ ให้ บริษัท avia satcom ชำระเงินให้กับกองทัพบก 683 ล้านบาท

7 มีนาคม 2565 ศาลปกครองสูงสุดให้ถอนอุทธรณ์คำพิพากษาที่ศาลปกครองกลางให้ บริษัท avia satcom ชำระเงินตามที่อัยการฟ้องให้กับกองทัพบก 683 ล้านบาท

ข้อมูล : มติชน