ส.ยาสูบเผยผลสำรวจนิด้าโพล โชห่วยบุหรี่ชี้กฎหมายยาสูบใหม่สร้างภาระ-ไม่ช่วยลดนักสูบ

สมาคมการค้ายาสูบไทยเผยผลสำรวจนิด้าโพล ความคิดเห็นของร้านค้าปลีกขนาดเล็ก (โชห่วย) ที่ขายบุหรี่จำนวน 1,000 ร้านทั่วประเทศต่อประเด็นผลกระทบจากกฎหมายยาสูบใหม่ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ครบ 6 เดือนในต้นเดือนมีนาคมนี้ เกินครึ่งชี้ไม่สามารถช่วยลดนักสูบได้ เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุและสร้างภาระเพิ่มขึ้นให้กับร้านค้าขนาดเล็ก หวังกฎหมายลูกที่จะออกมาไม่สร้างผลกระทบเพิ่มเติมอีก

 

สมาคมการค้ายาสูบไทยซึ่งมีสมาชิกเป็นร้านค้าปลีกขนาดเล็ก (โชห่วย) ที่ขายบุหรี่ทั่วประเทศ 1,000 รายเผยผลสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำโดยศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เกี่ยวกับผลกระทบจาก “พ.ร.บ ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ” ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมาและในเดือนมีนาคมนี้ก็จะครบกำหนดการบังคับใช้หกเดือนแรก

โดยผลสำรวจชี้ว่า ร้อยละ 52 เห็นว่ามาตรการใหม่ต่างๆ นั้นไม่สามารถช่วยลดจำนวนผู้สูบได้ โดยเหตุผลสามอันดับแรกคือ 1) ผู้บริโภคยังมีความต้องการสูบเท่าเดิม 2) คนเปลี่ยนไปสูบยาเส้นหรือบุหรี่นอกแทนเพราะมีราคาถูกกว่า 3) พ.ร.บ. เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ

ร้อยละ 63 ของร้านค้ามองว่าธุรกิจของตนได้รับผลกระทบจากพ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบพ.ศ. 2560 โดยมาตรการใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบ อาทิ ห้ามแบ่งขาย (ต้องขายทั้งซอง) ห้ามตั้งโชว์หรือแสดงผลิตภัณฑ์ ณ จุดขาย ข้อกำหนดเรื่อง “ซองเรียบ” โดยซองบุหรี่ทุกยี่ห้อต้องใช้สีเดียวกันหมดและห้ามพิมพ์โลโก้หรือเครื่องหมายการค้าใดๆ

สำหรับ Top 5 ปัญหาเรื่องผลกระทบจากกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่นี้ ได้แก่

1.สร้างภาระเพิ่มขึ้นกับร้านค้าในการบริหารจัดการ
2.กระทบต่อยอดขายผลิตภัณฑ์ยาสูบของร้าน
3.กฎหมายขาดความชัดเจน ทำให้ไม่แน่ใจว่าสิ่งใด ทำได้หรือไม่ได้
4.การเข้าตรวจโดยเจ้าหน้าที่หรือความเสี่ยงจากการถูกเจ้าหน้าที่กุม
5.ความไม่แน่นอนของกฎระเบียบที่อาจมีการบังคับใช้เพิ่มในอนาคต

“ขณะนี้ร้านค้าก็ค่อยๆ ปรับตัวในมาตรการที่ทำได้ ส่วนมาตรการที่ออกมาแล้วทำอะไรไม่ได้มากนัก ก็ต้องรับสภาพกันไปแม้จะไม่ได้ส่งผลในเรื่องประสิทธิภาพลดจำนวนคนสูบ เช่น ห้ามแบ่งขายซึ่งมีผลต่อรายได้ของร้านค้า ในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ก็จะครบกำหนด 6 เดือนของการบังคับใช้กฎหมายใหม่ และจะต้องมีการทำกฎหมายลูกออกมาภายใน 12 เดือน ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูบบุหรี่มีกว่า 11 ล้านคน ฉะนั้นมาตรการควบคุมใหม่ๆ รวมทั้งกฎหมายลูกที่จะออกมาจะต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพในการช่วยลดว่าทำได้จริงตามอ้างหรือไม่ นอกจากนี้ควรจะคำนึงถึงผลกระทบกับผู้เกี่ยวข้องและภาระที่จะเพิ่มขึ้นกับกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กและสภาพเศรษฐกิจด้วย” นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทยกล่าว