เขตประเวศส่งข้อมูล 5ตลาด ให้ คกก.ตรวจสอบข้อเท็จจริงฯแล้ว ‘อัศวิน’ ยันผู้ค้า 80% พอใจพื้นที่ใหม่

ความคืบหน้ากรณีเจ้าของบ้านเลขที่ 37/208 ภายในซอยศรีนครินทร์ 55 ถนนหมู่บ้านเสรีวิลล่า แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ก่อเหตุทุบรถกระบะที่จอดขวางหน้าบ้าน ก่อนตั้งโต๊ะแถลงข่าวหน้าบ้านพร้อมอ้างเหตุเดือดร้อนรำคาญจากการจัดตั้งกิจการตลาด 5 แห่งรอบบริเวณบ้าน ซึ่งได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง จนเป็นเหตุให้ กทม.แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการก่อสร้างและจัดตั้งตลาดนั้น

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล รองประธานสภากรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ เปิดเผยว่า ภายหลังเรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงด้วยวาจา เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พร้อมให้สำนักงานเขตประเวศรวบรวมเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับตลาดทั้ง 5 แห่ง ที่มีข้อพิพาทให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จภายในวันที่ 27 กุมภาพันธ์นั้น ล่าสุด สำนักงานเขตประเวศได้รวบรวมเอกสารส่งให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ แล้ว

“โดยในวันนี้กรรมการทุกคนจะร่วมกันตรวจสอบเอกสารเพื่อนำไปประกอบการให้ข้อมูลเพิ่มเติมในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เบื้องต้น ได้ส่งหนังสือเชิญให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เจ้าของบ้าน เจ้าของตลาด 5 แห่ง และเจ้าหน้าที่มาร่วมให้ข้อมูลเพิ่มเติมในเวลา 14.00 น.ที่ศาลาว่าการ กทม.แล้ว คาดว่าได้ข้อสรุปข้อเท็จจริงและแนวทางปัญหาที่แน่ชัด ก่อนรายงานผลต่อพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.พิจารณาแนวทางดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายต่อไป” นายนิรันดร์ กล่าว

วันเดียวกัน ที่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 4 เขตบางกอกใหญ่ พล.ต.อ.อัศวิน เปิดเผยถึงแนวทางการเยียวยาผู้ค้าภายในตลาดทั้ง 5 แห่ง ภายหลังเป็นประธานเปิดสวนบางกอกใหญ่และบ้านหนังสือวัดท่าพระ ว่า ต้องเดินทางไปชี้แจงต่อศาลปกครอง หลังศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 2 มีนาคมนี้ แต่จะไม่ขอก้าวล่วงอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณคดีของศาล สำหรับแนวทางการเยียวยาผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบนั้น กทม.ได้ให้สำนักงานเขตประเวศ และคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ร่วมหาแนวทางการแก้ไขปัญหา เบื้องต้น กทม.จะหาพื้นที่รองรับผู้ค้าบริเวณใกล้เคียง รวม 4 แห่ง ได้แก่ ตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์ ตลาดนัมเบอร์วันราม 2 ตลาดราชพฤกษ์ และพื้นที่ตรงข้ามศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ โดยให้ผู้ค้าแจ้งความประสงค์ในการขายสินค้าว่าจะค้าขายตลาดแห่งใดได้บ้าง แม้บางตลาดที่ประสานไปนั้น มีผู้ค้าเดิมอยู่เต็มจำนวนแล้ว กทม.ก็ได้ประสานให้ตลาดเปิดแผงค้าเพิ่มเติมประมาณ 100-200 แผงค้า

ทั้งนี้ ตลาดรองรับผู้ค้าส่วนใหญ่นั้นเปิดขายสินค้าช่วงเย็น ระหว่างวันพฤหัสบดีถึงวันอาทิตย์ แต่จากการสำรวจผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ค้าในวันเสาร์-อาทิตย์ ประมาณ 400 ราย และวันธรรมดา 200 ราย ผู้ค้าร้อยละ 70-80 ก็พึงพอใจกับพื้นที่รองรับแห่งใหม่ ส่วนนี้ กทม.จะพยายามเข้าไปดูแลเต็มที่ โดยการเยียวยาประชาชนซึ่งไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรด้วย เพราะตลาดได้เปิดการค้าและเก็บค่าเช่าวันธรรมดา 100 บาท ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ วันละ 250 บาท ชาวบ้านต่างไม่รู้ว่าตลาดถูกหรือผิด ก็ไปติดต่อทำการค้าด้วยความบริสุทธิ์ใจ ถือเป็นบุคคลที่ 3 ผู้มีเจตนาบริสุทธิ์ ไม่ใช่ผู้ขัดแย้งกับป้าเจ้าของบ้าน เจ้าของตลาดและ กทม. เพราะฉะนั้น กทม.ต้องหาเยียวยาเต็มที่

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างสำรวจตลาด จากสำรวจตลาดเบื้องต้น พบมีตลาดที่ได้ขออนุญาตถูกกฎหมาย 364 แห่ง ส่วนตลาดอื่นที่ถูกกฎหมายครึ่งๆ กลางๆ จะตั้งคณะทำงานจากส่วนกลางเข้าไปดูแลให้ถูกต้องตามระเบียบและข้อบังคับของ กทม.ร่วมกับสำนักงานเขต รวมถึงความสะอาดตามหลักสุขอนามัยของสำนักอนามัย และ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 โดยทุกอย่างมีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง สำหรับกรณีพิพาทขอเวลาอีก 2-3 วัน

 

ที่มา มติชนออนไลน์