เปิดประวัติ วรุธ สุวกร อดีตกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที

วรุธ สุวกร
ภาพจาก มติชน

เปิดประวัติ วรุธ สุวกร อดีตกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที หลัง ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาจำคุก 20 ปี คดีจ่ายเงินไอ-โมบาย 1,485 ล้าน เกินอำนาจ สั่งชดใช้คืน 1,000 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย

วันที่ 17 มีนาคม 2566 ข่าวสด รายงานว่า ภายหลังที่ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อท139/2565 ที่อัยการสูงสุด ยื่นฟ้อง นายวรุธ สุวกร อดีตกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลย ความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งรักษาการกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ และต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย จำเลยจึงเป็นพนักงานตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542

และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 63 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบให้บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ควบรวมกิจการเป็นบริษัทเดียว ตาม พ.ร.บ.บริษัท มหาชน จำกัด พ.ศ. 2535 โดยใช้ชื่อว่า บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด

บริษัท โทรคมนาคม แห่งชาติ จํากัด (มหาชน) จึงรับไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ทั้งหมด ตาม พ.ร.บ.บริษัท มหาชน จำกัด พ.ศ. 2535 มาตรา 152 และมาตรา 153 และมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 4

ระหว่างวันที่ 30 เม.ย.-13 ต.ค. 2551 เวลากลางวันต่อเนื่องและเกี่ยวพันกัน จําเลยได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ให้ไปเจรจากับบริษัท สามารถไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) จากกรณีเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2550 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ถูกบริษัทดังกล่าวฟ้องเป็นคดีต่อศาลแพ่ง เรื่องผิดสัญญาและเรียกร้องเงินจํานวน 2,648,771,009 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินนับถัดจากวันฟ้อง

จำเลยซึ่งเป็นพนักงานที่มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ และรักษาทรัพย์ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ บริษัท ทีโอที จํากัด (มหาชน)

หรือโดยทุจริตโดย จําเลยอนุมัติจ่ายเงินให้แก่บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวน 1,485 ล้าน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งเกินกว่าวงเงิน 10 ล้านบาทที่จําเลยมีอำนาจอนุมัติได้

ทั้งไม่เข้าข้อยกเว้นตามคำสั่งคณะกรรมการ บมจ.ทีโอที และจำเลยมิได้ขออนุมัติการจ่ายเงินดังกล่าว จากที่ประชุมคณะกรรมการ บมจ.ทีโอที ทำให้บริษัท สามารถไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) ได้รับชำระเงิน ค่าเสียหายไปเป็นจำนวนเกินกว่าที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ควรจะต้องจ่าย

การกระทำของจำเลย จึงเป็นการใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และเป็นการใช้อำนาจในหน้าที่โดยมิชอบเป็นเหตุให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้รับความเสียหาย คิดเป็นเงิน ค่าเสียหายจำนวน 525,370,000 บาท เหตุเกิดที่แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

ขอให้ลงโทษจําเลยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 3, 8, 11 ระหว่างพิจารณา บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องขอให้จำเลย ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องเป็นเงินจำนวน 525,370,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย

จําเลยให้การปฏิเสธอ้างว่า จำเลยอนุมัติจ่ายเงินให้แก่บริษัท สามารถไอ-โมบาย จํากัด (มหาชน) โดยเป็นไปตามผลการเจรจาของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาและกำหนดแนวทางที่ นำเสนอมา และมติที่ประชุมของคณะกรรมการ บมจ.ทีโอที ในการประชุมครั้งที่ 19/2551 เมื่อให้อำนาจจําเลยอนุมัติจ่ายเงินตามฟ้องได้เนื่องจากเป็นเรื่องการบริหารจัดการ สัญญาของฝ่ายบริหาร

ทั้งเป็นการปฏิบัติตามสัญญาที่ยกเว้นให้จำเลยมีอำนาจอนุมัติจ่ายเงินได้เกินกว่า 10 ล้านบาทตามคำสั่งคณะกรรมการ บมจ.ทีโอที ที่ 29/2546 และจำเลยไม่จำต้องให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) พิจารณา อนุมัติจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวเพราะตามมติที่ประชุมที่ 19/2551 ข้างต้นให้อำนาจจำเลยไว้แล้วกับตามคำสั่ง บมจ.ทีโอที ที่ ส.10/2561

เรื่องผลการสอบสวนผู้รับผิดทางแพ่งสรุปว่าการจ่ายเงิน ตามฟ้อง จําเลยไม่มีความผิดทางแพ่ง จําเลยจึงมิได้กระทำความผิดตามฟ้องและไม่ต้องรับชำระ ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง

ทางไต่สวนพยานหลักฐานจากการพิจารณาของศาลประกอบรายงานการไต่สวน ข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ผู้ร้อง เป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 3

และตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 4 เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2551 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้จ่ายเงินให้แก่บริษัท สามารถไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวน 1,476 ล้าน บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตามการอนุมัติของจำเลย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่อนุมัติจ่ายเงินดังกล่าวเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่

เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องคดีนี้ฟังได้ว่าจำเลยอนุมัติสั่งจ่ายเงินให้แก่บริษัท สามารถไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวนเงิน จำนวน 1,476 ล้าน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งเกินกว่า 10 ล้านบาท จำเลยจึงต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการ บมจ.ทีโอที เสียก่อน เว้นแต่เป็นการปฏิบัติ ตามเงื่อนไขข้อผูกพันในสัญญาตามคำสั่งคณะกรรมการ บมจ.ทีโอที ที่ 19/2546 ข้อ 2.1, 2.5

เมื่อพิจารณาจากคำฟ้องคดีแพ่งเป็นการฟ้องเรียกให้บริษัท ทีโอที จํากัด (มหาชน) ชำระเงินให้แก่ บริษัทสามารถไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) จากการผิดสัญญาและเรียกค่าเสียหาย กรณีจึงไม่อาจเป็น การเจรจาหาข้อยุติเพื่อที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อผูกพันในสัญญาได้ที่จะเป็นข้อยกเว้นตามคำสั่ง คณะกรรมการ บมจ.ทีโอที ที่ 29/2546 ข้อ 2.1, 2.5 ได้

ทั้งการที่นํายอดเงินจํานวนเต็มตามฟ้อง ในคดีแพ่งมาเป็นหลักในการเจรจาต่อรองจึงเท่ากับเป็นการยอมรับว่าบริษัท ทีโอที จํากัด (มหาชน) เป็นฝ่ายผิดสัญญาและยอมรับผิดเต็มตามฟ้อง

นอกจากนี้ การเจรจาของคณะกรรมการเพื่อพิจารณา กำหนดแนวทางก็มิได้ปฏิบัติตามความเห็นที่เป็นข้อสังเกตของที่ประชุมคณะกรรมการ บมจ.ทีโอที ครั้งที่ 19/2551 ประกอบกับจำเลยอนุมัติจ่ายเงินให้แก่บริษัทสามารถ ไอ-โมบาย จํากัด (มหาชน) ในวันที่ 13 ต.ค. 51 ซึ่งเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 เดือนตามมติ ที่ประชุมคณะกรรมการ บมจ.ทีโอที ครั้งที่ 19/2551 กำหนดไว้

นอกจากนี้ ก่อนและหลังจำเลยอนุมัติ ให้จ่ายเงินแก่บริษัท สามารถไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) ได้มีการคัดค้านจากบุคคลภายในหน่วยงานของจําเลยหลายครั้ง โดยเฉพาะมีการยกเลิกเช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่บริษัทสามารถไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) เพราะฝ่ายการเงินและบัญชีคัดค้านเรื่องอำนาจจ่ายเงินของจำเลย

แต่จำเลยก็ยังอนุมัติให้มีการจ่ายเงิน ดังกล่าวโดยไม่หารือหรือขอความคิดเห็นจากหน่วยงานที่มีหน้าที่ตอบข้อหารือหรือนำเข้าที่ประชุม คณะกรรมการบริษัท ทีโอที จํากัด (มหาชน) เพื่อแสดงให้เห็นว่าจําเลยได้ใช้ความละเอียดรอบคอบในการตัดสินใจอนุมัติวงเงินซึ่งเป็นจำนวนมากถึง 1,476 ล้านบาท

การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ได้ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) กับเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือโดยทุจริต

ส่วนข้อที่จำเลยให้การและนำสืบปฏิเสธมา ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ทั้งการที่จำเลยเบิกความว่าขอขยายระยะเวลา 1 เดือน ด้วยวาจากับคณะกรรมการ บมจ.ทีโอทีแล้วนั้น ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวในชั้นสอบสวน และชั้นพิจารณามาก่อนจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเช่นกัน

พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบรับฟังได้ว่า จําเลยกระทําความผิดตามฟ้อง และต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ผู้ร้องพร้อมดอกเบี้ยตามคำร้อง

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 จำคุก 20 ปี กับให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทน แก่ผู้ร้องเป็นเงินจํานวน 1,062,147,006.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปีของต้นเงิน จำนวน 525,370,000 นับถัดจากวันที่ 15 ธ.ค. 2565

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
ภาพจาก มติชน

ประวัติ วรุธ สุวกร

นายวรุธ สุวกร จบจากชั้นมัธยมศึกษาโรงเรียน รุจิเสรีวิทยา (คุณหญิงน้อย รุจิรวงศ์) และปริญญาตรีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับประวัติการทำงาน พบว่า ในปี 2550 ดำรงตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ในปี 2553 ขึ้นมาดำรงตำแหน่งรักษาการกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) และล่าสุด วานนี้ (16 มี.ค. 66) ศาลจำคุก 20 ปี อดีต กก.ผจก.ใหญ่ทีโอที จ่ายเงินไอ-โมบาย 1,485 ล้าน เกินอำนาจ สั่งชดใช้คืน 1 พันล้านพร้อมดอก