ประวัติ ความเป็นมา วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ (อสม.) 20 มีนาคม

(อสม.)
ภาพจากเว็บไซต์ กรมประชาสัมพันธ์

ประวัติ ความเป็นมา วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ (อสม.) ตรงกันวันที่ 20 มีนาคม ของทุกปี

วันที่ 20 มีนาคม 2566 วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 20 มีนาคม ของทุกปี โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ให้ทุกวันที่ 20 มีนาคม ของทุกปี เป็นวัน อสม.แห่งชาติ เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ รวมถึงส่งเสริมให้ อสม.ได้รวมพลังสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนชาวไทย และได้ดำเนินการจัดงานดังกล่าวครั้งแรกตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา

อสม. คืออะไร

กระทรวงสาธารณสุขยอมรับว่า อาสาสมัครสาธารณสุข คือ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนในชุมชน และสามารถช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น จึงได้พยายามทุกวิถีทางที่จะให้การยกย่อง เชิดชูเกียรติ เสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน

โดยได้ผลักดันให้มีวันสำคัญของอาสาสมัครสาธารณสุขทั่วประเทศ โดยในปี 2537 กระทรวงสาธารณสุขได้ขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้วันที่ 20 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ” โดยเลือกวันที่ 20 มีนาคม เป็น “วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ” เป็นการเริ่มต้นจัดงานเฉลิมฉลองในนามวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ 20 มีนาคม 2537 เป็นต้นมา

หน้าที่ของ อสม.

อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) มีจุดเริ่มต้นจากการที่กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายที่จะให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง ตลอดจนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานและพัฒนาสาธารณสุข จึงได้นำเอาการสาธารณสุขมูลฐานมาเป็นกลวิธีหลักในการพัฒนา ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (2520-2524)

โดยกิจกรรมสำคัญคือ สนับสนุนให้มีการดำเนินงานสาธารณสุขมูลฐานครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และส่งเสริมให้ชุมชนตระหนักในความจำเป็น ที่จะต้องแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของชุมชนเอง ซึ่งมีฟันเฟืองสำคัญในการดำเนินงาน คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นจิตอาสาที่เสียสละแรงกายแรงใจ เวลา และทุนทรัพย์ในการดำเนินงานพัฒนาหมู่บ้านให้สามารถพึ่งตนเองได้ โดยมิได้รับค่าตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น

โครงการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน

กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มโครงการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในปี พ.ศ. 2520 ในระยะแรกเป็นไปในลักษณะโครงการทดลองใน 20 จังหวัด โดยดำเนินการทดลองในทุกอำเภอ อำเภอละ 1 ตำบล

วัตถุประสงค์ในการดำเนินงานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน

  1. เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพกันเองด้วยวิธีที่ง่าย ประหยัด และทั่วถึง
  2. เพื่อช่วยบรรเทาภาวะขาดแคลนบุคลากรทางด้านสาธารณสุขในชนบท
  3. เพื่อแก้ไขปัญหารักษาพยาบาลหรือดูแลรักษาสุขภาพที่ไม่ถูกต้องของประชาชน

ผู้ที่จะเข้ามาเป็นอาสาสมัครในการดูแลสุขภาพอนามัยของเพื่อนบ้านโดยมิหวังผลตอบแทนใด ๆ เรียกว่า อาสาสมัคร

คุณสมบัติ สาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.

1.มีความสมัครใจที่จะทำงานเพื่อส่วนรวมด้วยความเสียสละ และมีเวลาพอที่จะช่วยเหลือชุมชน

2.มีความรู้อ่านออกเขียนได้

3.เป็นผู้ที่ชาวบ้านไว้วางใจ

4.มีที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพในหมู่บ้านนั้น ๆ

5.มีอาชีพแน่นอนและมีรายได้เลี้ยงตนเอง

6.ตั้งบ้านเรือนอยู่ในสถานที่ที่ประชาชนไปติดต่อได้ง่าย

7.ไม่จำกัดเพศ และไม่จำกัดอายุ

8.ไม่ควรเป็นข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแพทย์ประจำตำบล

ข้อมูล : กรมประชาสัมพันธ์ และศูนย์บริการสาธารณสุขกันตารัติอุทิศ