‘สุวพันธุ์’ จี้ พศ.ทำงานเชิงรุก กวดขัน ‘พระนอกรีต’ หาประโยชน์

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า เนื่องในเทศกาลมาฆบูชาได้มีการจัดงานสัปดาห์เผยแผ่พุทธศาสนามาตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ กระทั่ง วันที่ 1 มีนาคม ช่วงเช้าจะมีพิธีตักบาตรพระสงฆ์ และช่วงเย็นมีพิธีเวียนเทียน โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรีเป็นผู้แทนพระองค์ในพิธีเวียนเทียนที่พุทธมณฑล ขอเชิญชวนชาวไทยร่วมเวียนเทียนและเข้าวัดทำบุญตักบาตร เสริมสร้างทำความดี

นายสุวพันธ์ุ กล่าวว่า สำหรับงานด้านพุทธศาสนานั้น ได้หารือกับผู้อำนวยการ พศ.มอบแนวทางให้แล้วว่าต้องให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (พศจ.) ทั่วประเทศ ทำงานเชิงรุก คือ การเข้าไปติดตามช่วยเหลือและสนับสนุน ดูแลกิจการของวัดและคณะสงฆ์ในพื้นที่อย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นขอให้แก้ไขตั้งแต่ต้นทาง เป็นการให้จังหวัดทำงานเชิงรุกมากขึ้น

“อีกเรื่องหนึ่งที่ได้หารือกับผู้อำนวยการ พศ.คือ ให้หารือกับคณะสงฆ์ที่มีคณะกรรมการดำเนินการรับผิดชอบตามแผนปฏิรูปประเทศ 6 ด้าน ได้นำเรื่องนี้ไปดำเนินการอย่างใกล้ชิดต่อไป เช่น ด้านการปกครอง ด้านสมบัติของวัด ด้านการศึกษาและเผยแผ่ และต้องเดินหน้าต่อในเรื่องการปฏิรูป นี่คือกรอบที่ได้ให้กับทาง พศ.ไป” นายสุวพันธ์ุ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีการยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. … จะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เมื่อใด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวถูกส่งให้คณะเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบถามความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากมีความเห็นชอบในทิศทางที่เสนอ แล้วสามารถเดินหน้าต่อไปได้คงจะได้รับการพิจารณาเพื่อเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ต่อไป ส่วนจะเป็นเมื่อไรนั้น ยังตอบไม่ได้ขณะนี้ ได้แต่เพียงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดในการเสนอความคิดเห็นเข้ามา

เมื่อถามถึงกรณีการแก้ปัญหาพระนอกรีต เช่น หนีไปบวช เสพยาเสพติด เสพเมถุน ฯลฯ ได้กำชับ พศ.ให้เข้มงวดกวดขันอย่างไร นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า ยืนยันได้ว่าคณะสงฆ์ไม่ได้นิ่งดูดายในเรื่องดังกล่าว และคณะสงฆ์ได้กำชับในเรื่องนี้ เพราะพระไม่ต้องการให้เกิดเรื่องเสื่อมเสียเช่นนี้ขึ้น คณะสงฆ์ดูแลเรื่องนี้อยู่ ส่วนที่ไม่ดี มีอยู่ ก็ต้องยอมรับในข้อเท็จจริง ก็ต้องเป็นเรื่องของพระสังฆาธิการของคณะสงฆ์ ไม่ว่าเจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล อำเภอ จังหวัด ที่จะต้องช่วยดูแลเรื่องเหล่านี้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น แก้ปัญหารวดเร็วขึ้น มีระบบของการตรวจสอบ ไม่ว่าจะบวชใหม่หรือบวชอยู่เดิม มีระบบการทำบัตรประจำตัวพระสงฆ์ แบบสมาร์ทการ์ด แทนใบสุทธิ แทนบัตรประจำตัวเพื่อดูแลใกล้ชิดให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม เวลาเดินทางลงพื้นที่ก็จะได้เยี่ยมคณะสงฆ์และวัดต่างๆ

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนกรณีปัญหาพระต่างด้าวที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยนั้น เวลามีเรื่องก็จะลงไปตรวจสอบกันนั้น ซึ่งไม่ใช่ทิศทางแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ จึงได้มีการกำชับเรื่องนี้แล้วเช่นกัน อย่างไรก็ตาม พระต่างด้าว หมายถึง พระที่ธุดงค์มาจากต่างประเทศอย่างถูกต้อง เป็นพระจริงมาปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เช่นเดียวกับพระสงฆ์ไทยที่เดินทางไปศึกษาพระธรรมที่อินเดีย พม่า ลาว เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แต่พระที่บวชแล้วมาแฝงหาประโยชน์ที่มิชอบด้วยพระธรรมวินัยและกฎหมาย พศ.และคณะสงฆ์ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดขึ้น ดังนั้นพระวินยาธิการ (ตำรวจพระ) ที่ดูแลออกตรวจตราก็ต้องเข้มงวด

นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า มีหลายเรื่องที่คณะสงฆ์ทำแล้วดี และ พศ.สนับสนุน เช่น โครงการนำร่องการปรับระบบบัญชีทรัพย์สิน และการใช้จ่ายของวัดที่มหาเถรสมาคม (มส.) มีมติให้วัด 16 แห่ง ต้องจัดทำบัญชีอย่างละเอียดตามมาตรฐาน พศ.และการตรวจสอบเรื่องตัวชี้วัดของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ที่ต้องทำเพื่อประเมินผล ถือเป็นผลการปฏิบัติงานของ พศ.ที่ต้องรายงานประจำปีให้ ครม.ได้รับทราบด้วย และหากปีแรก 16 แห่งนี้ ประเมินแล้วประสบความสำเร็จก็ต้องขยายผลในปีต่อไป เพราะวัดในประเทศไทยมีเป็นหมื่นๆ วัด

 

ที่มา มติชนออนไลน์