“อุดรฯ” เปิดนิทรรศการเคลื่อนที่ 20 ปีสถาบันพระปกเกล้า

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดอุดรธานีว่า ศาสตราจารย์ วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับ เทศบาลนครอุดรธานี จัดนิทรรศการเคลื่อนที่ “เมืองไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามทัศนาห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง” ขึ้น ณ พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถึง 15 พฤษภาคม 2561 ณ พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี โดยมีวัตถุประสงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี โดยรูปแบบของนิทรรศการได้จัดวางเนื้อหาไว้ 3 ส่วน ได้แก่ ประชาธิปกธรรมราชา เมืองไทยในอดีต และมณฑลอุดร แต่กาลก่อนอุดรธานี

“ภารกิจสำคัญประการหนึ่งของสถาบันพระปกเกล้า คือ การเผยแพร่พระราชประวัติพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เพื่อหวังที่จะเป็นส่วนเติมเต็ม ความรู้ ความเข้าใจ กระตุ้นจิตสำนึกรักบ้านเกิด และประเทศชาติ ให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ”

และเนื่องในปี 2561 เป็นปีที่สถาบันครบรอบ 20 ปี การจัดนิทรรศการเคลื่อนที่ “เมืองไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามทัศนาห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง นิทรรศการจะจัดต่อเนื่องไปยังจังหวัดต่างๆ ได้แก่เชียงใหม่ จันทบุรี และปัตตานี

เนื้อหาของนิทรรศการประกอบด้วย เรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (8 พฤศจิกายน 2436 ถึง 30 พฤษภาคม 2484) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์สยาม รัชกาลที่ 7 ในพระราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธแรม 14 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเส็ง เวลา 12.25 น. หรือตรงกับ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2436 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 76 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระองค์ที่ 9 ในพระสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2468 และทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 (นับศักราชแบบเก่า) รวมดํารงสิริราชสมบัติ 9 ปี เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2484 รวมพระชนม์พรรษา 48 พรรษา

ADVERTISMENT

พระราชกรณียกิจสำคัญ

ด้านการทำนุบำรุงบ้านเมือง สืบเนื่องมาจากผลของสงครามโลกครั้งที่ 1 ทุกประเทศทั่วโลก ประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ พระองค์ได้ทรงพยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วยวิธีต่างๆ เช่น การควบคุมงบประมาณ ตัดทอนรายจ่าย รวมถึงการยุบรวมจังหวัด เป็นต้น

ADVERTISMENT

ด้านการปกครอง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชปรารภจะพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่การยังไม่ได้เป็นไปดังพระราชประสงค์ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นเสียก่อน

ด้านการศาสนาการศึกษา ประเพณี และวัฒนธรรม ทรงส่งเสริมการศึกษาของชาติทั้งส่วนรวมและส่วนพระองค์ โปรดให้สร้างหอพระสมุดสำหรับพระนคร เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าศึกษาได้อย่างเสรี ทรงปลูกฝังเยาวชนให้มีคุณธรรมดีงาม โดยยึดหลักคำสอนของศาสนาพุทธ เป็นต้น

ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ในต้นรักสมัย ได้ทรงดำเนินกิจการสำคัญที่ทรงเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ ที่ค้างมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้สำเร็จลุล่วงไป เช่น การเจรจาเพื่อยกเลิกสนธิสัญญาเสียเปรียบต่างๆ ที่ไทยทำไว้กับนานาชาติมาแต่เดิม

บุคคลสำคัญของโลก

ในปี พ.ศ 2556 องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศยกย่องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี การเสด็จนิวัติพระนคร เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจแก่ปวงชนชาวไทย และในโอกาสวันพระบรมราชสมภพครบรอบ 120 ปี หรือ 10 รอบนักษัตร ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556

สถาบันพระปกเกล้าครบรอบ 20 ปี สถาบันพระปกเกล้า

สถาบันพระปกเกล้า เป็นสถาบันวิชาการที่จัดตั้งขึ้นในวโรกาสครบรอบ 100 ปี วันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนชาวไทย โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต จากพระบาทสมเด็จพระปรมินพระมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้เชิญพระนามของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเป็นชื่อของสถาบัน พระราชบัญญัติสถาบันพระปกเกล้า ได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2541 และสถาบันพระปกเกล้าจะครบรอบ 20 ปี ในวันที่ 5 กันยายน 2561

มณฑลอุดร แต่กาลก่อนอุดรธานี

จังหวัดอุดรธานี ในปัจจุบันปรากฏร่องรอยของการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ร 6 พันปี มาแล้ว จากหลักฐานทางโบราณคดี ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียนสีที่บริเวณเทือกเขาภูพาน และการขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ ตลอดจนเครื่องปั้นดินเผาชนิดต่างๆ ที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

เมื่อสยามมีการปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาคครั้งใหญ่ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นข้าหลวงใหญ่สำเร็จราชการแทนพระองค์ประจำมณฑลลาวพวน ในปี 2436 โดยย้ายชุมชนหัวเมืองลาวไปอยู่บริเวณบ้านเดื่อหมากแข้ง อันเป็นพื้นที่มีความมั่นคง การคมนาคมที่สะดวก มีหนองนาเกลือ หรือ หนองประจักษ์ ในปัจจุบัน เป็นแหล่งน้ำ หนองนาเกลือนี้ ในรายงานตรวจราชการมณฑลอีสานและนครราชสีมา ส่วนว่าด้วยการเมือง และการพรรณนาการทั่วไป ในเดือนธันวาคม 2469 พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวไว้ว่าเป็นหนองน้ำกลางเมืองที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้ทำ ทำนบกั้นกักน้ำไว้ เพื่อรองรับการตั้งศาลารัฐบาลมณฑลนั่นเอง ต่อมามณฑลลาวพวน ได้เปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลฝ่ายเหนือในปี 2442 และเป็นมณฑลอุดร ในปี 2443 ตามลำดับ

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มณฑลอุดร มีพระยาอดุลยเดชสยามเมศรภักดี หรือ อุ้ย นาครทรรพ และพระยาตรังคภูมาภิบาล หรือ เจิม ปัญญารชุน ดำรงตำแหน่งเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑล ตามลำดับ ผลการยุบเลิกมณฑลอุดรและเมืองในปกครองทั้งหมด ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่กำหนดให้มีฐานะเป็นจังหวัดเท่าเทียมกัน