กก.สอบข้อเท็จจริงชี้ “2 ผอ.สำนัก-4 ผอ.เขตประเวศ” เอี่ยวปล่อยตั้งตลาด 5 แห่ง ผิดกฎหมาย

เมื่อเวลา 8.30 น. วันที่ 5 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล รองประธานสภากรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเจ้าของบ้านเลขที่ 37/208 ซอยศรีนครินทร์ 55 แขวงหนองบอน เขตประเวศ กทม.อ้างเหตุเดือดร้อนจากการประกอบกิจการตลาดดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้เรียกประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ เพื่อพิจารณาสรุปข้อเท็จจริงการจัดตั้งตลาดทั้ง 5 แห่ง ประกอบด้วย ตลาดสวนหลวง ศูนย์อาหารเปิ้ลมาร์เก็ต ตลาดรุ่งวาณิชย์ ศูนย์อาหารยิ่งนรา และตลาดร่มเหลือง ภายหลังขอขยายเวลาตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงวันที่ 5 มีนาคม ทั้งนี้การประชุมสรุปผลใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง ก่อนแถลงข่าว

ต่อมาเวลา 10.30 น. นายนิรันดร์ แถลงว่า สำหรับคณะกรรมการฯ ได้เริ่มตรวจสอบข้อเท็จจริงนัดแรก ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ โดยข้อเท็จจริงจากผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ ผู้อำนวยการเขตประเวศ และสำนักการโยธา พร้อมรายงานเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องมาประกอบข้อพิจารณา ส่วนวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ลงพื้นที่ตรวจสอบตลาดทั้ง 5 แห่ง ก่อนขอขยายเวลาออกไปถึงวันที่ 5 มีนาคม เนื่องจากข้อเท็จจริงบางส่วนยังไม่สามารถสรุปได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ได้นำเอกสารมาประมวลผลที่บ้านในวันเสาร์-อาทิตย์ จนได้ข้อสรุปเมื่อวันที่ 4 มีนาคม จากนั้นวันที่ 5 มีนาคม ประชุมสรุปข้อเท็จจริงทั้งหมดอย่างครบถ้วนและลงมติเห็นชอบลงบันทึกรายงานที่ 010/2561 จำนวน 10 หน้า พร้อมแนบเอกสารประกอบ ก่อนส่งรายงานไปยังผู้ว่าฯ กทม.พิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย

นายนิรันดร์แถลงว่า ข้อสรุปเบื้องต้นได้มีความเห็นร่วมกันว่า ตลาดทั้ง 5 แห่ง ไม่ถูกต้องตามที่ขออนุญาตจัดตั้งตลาดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ทั้งประเภทที่ 1 ตลาดที่มีโครงสร้างอาคาร และประเภทที่ 2 ตลาดที่ไม่มีโครงสร้างอาคาร

“โดยทั้งหมดไม่ได้ขออนุญาตจัดตั้งตลาดมาตั้งแต่ช่วงก่อนปี 2551 ซึ่งเดิมบริเวณดังกล่าวมีการตั้งแผงขายของยาวตลอดแนว ลักษณะนี้ไม่ถือเป็นตลาด ต่อมาตลาดสวนหลวงก็เริ่มก่อตั้งตลาดที่ไม่มีโครงสร้างอาคาร ตามด้วยตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต ตลาดยิ่งนรา ตลาดรุ่งวาณิชย์ และตลาดร่มเหลือง ตามลำดับ และปัจจุบันมีมติเห็นว่าตลาดทั้ง 5 แห่ง ไม่มีสภาพเป็นตลาด” นายนิรันดร์กล่าว

นอกจากนี้ นายนิรันดร์ แถลงว่า สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.สำนักการโยธา ผู้ควบคุมกำกับดูแลในการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 พบดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมายขณะนั้น โดยมีผู้เกี่ยวข้อง คือ นายจุมพล สำเภาพล (ดำรงตำแหน่ง วันที่ 1 ตุลาคม 2552-2554) และนายวินัย ลิ่มสกุล (ดำรงตำแหน่ง วันที่ 1 ตุลาคม 2554-ตุลาคม 2556) อดีตผู้อำนวยการสำนักการโยธา

นายนิรันดร์แถลงอีกว่า 2.สำนักงานเขตประเวศ ผู้ให้อนุญาตจัดตั้งตลาดตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ พบดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมายเช่นกัน ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องปรากฎตามเอกสารตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา คือ นายสมชาย ฉัตรสกุลเพ็ญ เกษียนราชการตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม นางอัจฉรา ห่อสมบัติ เกษียณราชการตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง นายณรงค์ จงแจ่มฟ้า เกษียณราชการผู้อำนวยการเขตหลักสี่ และนายธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ผู้อำนวยการเขตประเวศ ปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อม ฝ่ายโยธา และฝ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมประมาณ 20 ราย

“เอกสารปรากฎชัดเจนว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้างในช่วงปีใด ส่วนผู้เกี่ยวข้องตามเอกสารได้แยกกลุ่มไว้เพื่อให้ผู้ว่าฯ กทม.ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพิ่มเติมว่า กลุ่มดังกล่าวมีใครที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์บ้างแต่หากให้คณะกรรมการชุดนี้ร่วมตรวจสอบไม่สามารถดำเนินการได้ตามกรอบเวลากำหนด” นายนิรันดร์กล่าว

ทั้งนี้ นายนิรันดร์ยังแถลงต่อไปว่า ในส่วนการดำเนินการตามกฎหมายของผู้อำนวยการเขตประเวศในแต่ละช่วงปี พบผู้อำนวยการเขตประเวศได้ดำเนินการตามกฎหมายทุกช่วงปี แต่ต้องไปพิจารณารายละเอียดความหนักเบาของการดำเนินการอีกครั้ง ซึ่งบางปีได้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด อาทิ ระหว่างปี 2555-2559 ตลาดยิ่งนราถูกดำเนินคดี ตาม พ.ร.บ.อาคารฯ กรณีเปิดตลาดก่อนการใช้อาคาร ถูกพิจารณาปรับ 4.7 แสนบาท มีโทษจำคุก 1 เดือน และรอลงอาญา เมื่อปี 2555 ตลาดรุ่งวาณิชย์ถูกปรับ 157,500 บาท ตามคำพิพากษาศาลจังหวัดพระโขนง ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงทั้งหมดจะส่งเอกสารให้ผู้ว่าฯ กทม.ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยเพื่อพิจารณาดำเนินการตามข้อกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากตรวจสอบพบผู้กระทำความผิดได้เกษียนอายุราชการไปแล้วจะดำเนินการตามกฎหมายได้อย่างไรบ้าง นายนิรันดร์ กล่าวว่า แม้จะพ้นตำแหน่งไปแล้ว ตามระเบียบข้าราชการสามารถดำเนินการกับผู้นั้นได้ในส่วนที่เกี่ยวข้อง แบ่งเป็น 1.โทษทางอาญา หากมีผู้ร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ให้สอบสวนกรณีดังกล่าว ชี้มูลและส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด เพื่อยื่นฟ้องต่อศาล 2.โทษทางวินัย หากผู้บังคับบัญชา เห็นว่ามีหลักฐานสมควรตั้งคณะกรรมการสอบวินัยได้ ซึ่งมีผลต่อเจ้าหน้าที่ที่เกษียณอายุราชการหรือไม่ก็ตาม โดยโทษทางวินัยประกอบด้วย ความผิดร้ายแรง เช่น ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ฯลฯ ลงโทษไล่ออก ปลดออก และหากพิสูจน์มีความผิดไม่ร้ายแรง ต้องลงโทษตัดเงินเดือน ภาคทัณฑ์ ซึ่งมีกำหนดไว้ตามระเบียบราชการ

นายนิรันดร์กล่าวว่า ทั้งนี้ หากพิจารณตาม พ.ร.บ.ผังเมือง พ.ศ.2556 บริเวณนั้นสามารถก่อสร้างอาคารพาณิชย์ได้ แต่คณะกรรมการเห็นสมควรให้เขตประเวศชะลอการให้อนุญาตก่อสร้างอาคารพาณิชย์และตลาดทั้ง 5 แห่ง ไว้ก่อน จนกว่าจะมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในประเด็นดังกล่าว ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่จัดสรรเพื่ออาศัยเท่านั้นใช่หรือไม่ ตามพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ได้เรียกผู้ว่าฯ กทม.และผู้เกี่ยวข้องไปไต่สวน โดยศาลขอรายงานจากคณะกรรมการข้อเท็จจริงเพื่อนำไปประกอบพิจารณาด้วย ส่วนผู้ว่าฯ กทม.จะนำส่งต่อศาลหรือไม่นั้นแล้วแต่ดุลยพินิจ

ด้านนายบรรลือ สุกใส ผู้ช่วยปลัด กทม.ในฐานะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพิจารณาการดำเนินการของแต่ละตลาด แบ่งได้ดังนี้ 1.ตลาดสวนหลวง ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่อเป็นตลาดตั้งแต่ปี 2551 โดยยื่นขออนุญาตตามมาตรา 39 ทวิ ที่สำนักการโยธา กทม. ซึ่งได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่อเป็นตลาดถูกต้อง แต่ยังไม่ได้ใบอนุญาตในการจัดตั้งตลาด เนื่องจากยังไม่ผ่านหลักเกณฑ์ เช่น ระบบระบายน้ำ ขยะ ยังไม่เรียบร้อย เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมา ท้องถิ่นก็ให้ดำเนินการแก้ไข เมื่อไม่แก้ไขก็มีการยื่นดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข 2.ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต และตลาดยิ่งนรา ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารเป็นแบบพาณิชย์ ในช่วงราวปี 2553 โดยยื่นขออนุญาตสำนักงานเขตประเวศ ซึ่งต้องยื่นแบบและได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะก่อสร้างได้ โดยทั้ง 2 ตลาด ได้รับใบอนุญาตในการก่อสร้าง และก่อสร้างอย่างถูกต้อง แต่ไม่ได้ใบอนุญาตจัดตั้งตลาด ดังนั้น ทั้ง 2 ตลาด ต้องระงับการขาย เนื่องจากมีการขายของสด ซึ่งอาคารเชิงพาณิชย์ไม่สามารถขายได้ แต่หากมีการยื่นขอเป็นสถานประกอบการสะสมอาหารและจำหน่ายอาหาร แบบห้างสรรพสินค้า ก็สามารถกลับมาดำเนินการต่อได้

นายบรรลือกล่าวต่อไปว่า 3.ตลาดรุ่งวาณิชย์ เดิมได้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารเป็นตลาด โดยยื่นขออนุญาตตามมาตรา 39 ทวิ เช่นกัน ซึ่งการขอตามมาตรานี้สามารถก่อสร้างได้ก่อนที่จะได้รับใบอนุญาต แต่จะต้องมีการยื่นแบบคร่าวๆ ให้สำนักการโยธาฯ พิจารณาก่อน แล้วค่อยยื่นรายละเอียดตามมาภายหลัง ซึ่งสำนักการโยธาฯ จะมีการพิจารณาว่าก่อสร้างเป็นไปตามแบบหรือไม่ โดยตลาดรุ่งวาณิชย์นั้น ไม่ได้แก้ไขตามที่สำนักการโยธาฯ สั่งให้แก้ไข จึงให้ระงับการก่อสร้าง ต่อมาจึงมายื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารเชิงพาณิชย์กับสำนักงานเขตประเวศ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้าง และไม่ได้ใบอนุญาตจัดตั้งตลาด และ 4.ตลาดร่มเหลือง เป็นตลาดแบบไม่มีอาคาร ยังไม่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งตลาด เนื่องจากยังไม่ผ่านเกณฑ์พิจารณา เช่น เรื่องห้องน้ำ จุดตั้งพักขยะ ทางเดินต้องกว้างไม่น้อยกว่า 2 เมตร เป็นต้น

“เท่าที่พิจารณาสำนักงานเขตก็มีการดำเนินการฟ้องศาลเพื่อปรับดำเนินคดี เพียงแต่แต่ละช่วงมีความเข้มงวดไม่เท่ากัน ซึ่งการกระทำมากน้อยก็อยู่ที่เหตุที่เกิดขึ้นว่าช่วงนั้นเกิดเหตุหรือไม่ แต่ไม่มีใครที่ไม่ได้กระทำหรือละเว้น อย่างตลาดสวนหลวง ปี 2553-2554 ดำเนินคดีรวม 97 ครั้ง ปี 2554-2558 ดำเนินคดีรวม 66 ครั้ง ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต ปี 2553-2554 ดำเนินคดี 97 ครั้ง ปี 2555-2556 ดำเนินคดี 12 ครั้ง หรือตลาดยิ่งนราก็มีการดำเนินคดีในหลายปี โดยมีการปรับสูงสุดถึง 4.7 แสนบาท หรือตลาดรุ่งวาณิชย์ ก็เคยมีการปรับไปสูงถึง 1.5 แสนบาท เป็นต้น” นายบรรลือกล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์