กรมอุตุฯ ประกาศการเข้าสู่ฤดูร้อนปีนี้ และเตือนพายุฤดูร้อนช่วงต้นเดือน มี.ค.2561

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศ “การเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ. 2561” แล้ว เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2561 โดยอุณหภูมิสูงสุดสูงขึ้น และมีอากาศร้อนต่อเนื่องในตอนกลางวัน สำหรับในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้าต่อไปอีก ระยะหนึ่ง โดยจะสิ้นสุดฤดูร้อนประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2561 และเตือนประชาชนระวังพายุฤดูร้อนในช่วงวันที่ 6-9 มีนาคมนี้

เมื่อวันจันทร์ที่ 5 มีนาคม 2561 นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา แถลงข่าวเรื่อง “การเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ. 2561” ณ กองพยากรณ์อากาศ ชั้น 11 อาคาร 50 ปีอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา ว่าประเทศไทย ได้เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนแล้วเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2561 โดยอุณหภูมิสูงสุดสูงขึ้น และมีอากาศร้อนต่อเนื่องในตอนกลางวัน ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมประเทศไทย ได้เปลี่ยนเป็นลมตะวันออกเฉียงใต้หรือลมฝ่ายใต้พัดปกคลุม ซึ่งเป็นการเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทย แต่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้าต่อไปอีกระยะหนึ่ง และจะสิ้นสุดฤดูร้อนประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2561

สำหรับพายุฤดูร้อน ในช่วงวันที่วันที่ 6-9 มีนาคม 2561 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงกับมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย โดยพายุฤดูร้อนจะมีผลกระทบต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง ในช่วงวันที่ 6-7 มีนาคม 2561 มีผลกระทบต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ ในช่วงวันที่ 8-9 มีนาคม 2561 [ดูรายละเอียดในประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 2 (100/2018)] ทั้งนี้ เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงได้แผ่มาปกคลุมประเทศจีนตอนใต้แล้ว คาดว่าจะแผ่มาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ในวนที่ 7 มีนาคม 2561 ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ทำให้บริเวณดังกล่าวเกิดพายุฤดูร้อนขึ้น โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงกับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ กรมอุตุนิยมวิทยาจึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดต่อไป