ศาลปกครองฯ มีคำพิพากษาเพิกถอนมติ มธ. ไม่ว่าจ้าง “เคท ครั้งพิบูลย์” เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย

แฟ้มภาพมติชน

เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา ศาลปกครองกลาง ได้อ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ บ. ๔๔๗/๒๕๕๘ ระหว่าง นายเคท หรือคทาวุธ ครั้งพิบูลย์ ผู้ฟ้องคดี กับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ ๑ คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีได้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ตำแหน่งอาจารย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ สังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และได้ผ่านการคัดเลือกแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีมติไม่ว่าจ้างให้ผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย เนื่องจากเห็นว่าผู้ฟ้องคดีมีพฤติกรรมการแสดงออกด้วยการใช้ถ้อยคำผ่านสื่อสารทางสังคมออนไลน์ในลักษณะที่ไม่เหมาะสมและอาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสืออุทธรณ์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณาแล้วมีมติยืนยันตามมติเดิม ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องต่อศาล

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีได้สื่อสารทางสังคมออนไลน์เป็นวิธีสื่อสารถึงกันอันเป็นสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามมาตรา ๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ที่ใช้บังคับในขณะเกิดข้อพิพาทรับรองสิทธินี้ไว้ แต่สิทธิ เสรีภาพในการสื่อสารทางสังคมออนไลน์ของผู้ฟ้องคดีจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและระเบียบข้อบังคับของทางราชการ

หากผู้ฟ้องคดีมีการสื่อสารทางสังคมออนไลน์โดยไม่ได้อยู่ภายใต้ขอบเขตกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับของทางราชการ ผู้ฟ้องคดีย่อมไม่ได้รับการคุ้มครองตามที่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิและเสรีภาพไว้ ซึ่งศาลได้พิจารณามติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีมติไม่ว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยไม่ได้เกี่ยวกับเพศสภาพ หากแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้นำพฤติการณ์หรือการกระทำของผู้ฟ้องคดี
ที่ได้สื่อสารทางสังคมออนไลน์มาใช้อ้างในการมีมติไม่ว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย แต่เมื่อศาล
ได้พิจารณาพฤติการณ์หรือการกระทำของผู้ฟ้องคดีที่ได้สื่อสารทางสังคมออนไลน์ซึ่งได้แก่ เฟซบุ๊ก (Facebook) จำนวน ๔ ข้อความ และอินสตาแกรม (Instagram) จำนวน ๒ ข้อความพร้อมภาพประกอบ แล้วเห็นว่า การใช้ถ้อยคำของผู้ฟ้องคดีและภาพที่ได้เผยแพร่ในเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมอาจจะมีการใช้ถ้อยคำไม่สุภาพและภาพไม่เหมาะสมอยู่บ้างบางคำบางภาพ แต่ยังไม่ถึงขนาดที่จะถือได้ว่าผู้ฟ้องคดี มีลักษณะต้องห้ามอันเนื่องจากเป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี ตามมาตรา ๗ (ข) (๔) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีมติไม่ว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายพิพากษาเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ไม่ว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ ตำแหน่งอาจารย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ โดยให้มีผลนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด และมีข้อสังเกตและแนวทางเกี่ยวกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาว่า ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีไปทำสัญญาจ้างเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ตำแหน่งอาจารย์ ตามที่สอบคัดเลือกได้ภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด