5 หน่วยงานรัฐร่วมขจัด “พิษสุนัขบ้า” สธ.ย้ำควบคุมได้ เผยปี 61 เสียชีวิต 3 ราย

เมื่อวันที่  11 มีนาคม  ที่ห้องประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ   นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีโรคพิษสุนัขบ้า ว่า  ได้มอบหมายให้นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นแกนหลักในการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลประชาชน ทั้งนี้ ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้ามีมานานแล้ว แต่ประชาชนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อย  โรคนี้จะเกิดขึ้นในสัตว์ที่ส่วนใหญ่อยู่ใกล้ชิดกันคน  เช่น สุนัข แมว  ดังนั้นผู้ที่เลี้ยงสัตว์ อยู่ใกล้ชิดกันกับสัตว์เหล่านี้ ต้องระวังตัวเองอย่าให้เกิดแผล หาก ถูกกัด หรือข่วน ต้องรีบพบแพทย์ทันที

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการควบคุมป้องกันโรคในสัตว์เลี้ยง  ขณะนี้กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกันลงพื้นที่ฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ที่มีรายงาน ขณะนี้มี 13 จังหวัด โดยทำควบคู่กันไปทั้งในคนและสัตว์  อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนให้สัตว์หมดแล้วไม่ใช่ว่าทุกคนจะปลอดภัย  สิ่งสำคัญที่สุดคือ ประชาชนทุกคนเมื่อมีบาดแผลที่เกิดขึ้นจากสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ที่ไม่ได้เลี้ยง ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยในปี 2561 ยังไม่มาก โดยก่อนหน้านี้พบเสียชีวิต 2 ราย โดย 1 รายรอผลการยืนยัน ซึ่งล่าสุดจากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปี 2561 นี้ มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย ที่ จ.สุรินทร์ สงขลา และตรัง ซึ่งทั้ง 3 รายไม่ไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ส่วนในปี 2560 ที่ผ่านมา มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 11 ราย จากการสอบสวนโรค พบว่าเมื่อถูกสุนัขกัดส่วนใหญ่ล้างแผลเองที่บ้าน ร้อยละ 82 ไปรักษาที่สถานพยาบาล เพียงร้อยละ 18 โดยสุนัขที่กัดเกือบครึ่งหนึ่งเป็นสุนัขจรจัด และพบว่าไม่มีประวัติหรือไม่ทราบการได้รับวัคซีนถึงร้อยละ 89.7

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค(คร.) ระบุถึงการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ ว่า   เนื่องจากในช่วงนี้กำลังเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งอากาศที่ร้อนอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้สัตว์หงุดหงิดง่าย ประกอบกับเป็นช่วงปิดเทอม เด็กที่เล่นกับสุนัขจึงมีโอกาสถูกกัดได้ง่าย แม้ว่าจะเป็นสุนัขในบ้านที่ได้รับวัคซีนป้องกันแล้วก็ตาม อาจได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าจากที่สุนัขของตนเองไปเล่นกับสุนัขจรจัดนอกบ้านได้

ขอแนะนำวิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ ผู้เลี้ยงสุนัขหรือแมว ควรนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และหากถูกสัตว์ที่ไม่ทราบประวัติกัดหรือข่วน ให้รีบล้างแผลทันทีด้วยน้ำสะอาดและฟอกสบู่หลายๆ ครั้ง เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโปรวิดีนหรือแอลกอฮอล์ จากนั้นรีบไปสถานพยาบาลใกล้บ้าน  และใครมีสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ควรนำไปฉีดวัคซีน  ครั้งแรกเมื่อมีอายุ 2–4 เดือน และฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี  นอกจากนี้ ผู้ปกครองควรระมัดระวังเด็กในการเล่นกับสัตว์เลี้ยง ไม่ควรเล่นใกล้ชิดเกินไป

 

ที่มา มติชนออนไลน์