ทช.กฎเหล็ก ม.17 ห้ามกิจกรรมทำลายชายหาด ฝ่าฝืนปรับ1แสน คุก1ปี ประเดิมเกาะเต่า-พะงัน-สมุย

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่เทศบาลนครเกาะสมุย อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมด้วย นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เป็นประธานการร่วมลงนามดำเนินการตามมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พื้นที่เกาะเต่า เกาะพะงัน อ.เกาะพะงัน และเกาะสมุย อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานีระหว่างอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กับ 22 หน่วยงาน เช่น แม่ทัพภาคที่ 4 อธิบดีกรมเจ้าท่า ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สุราษฎร์ธานี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) สุราษฎร์ธานี ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 14 ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายอำเภอเกาะ สมุย นายอำเภอเกาะพะงัน นายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย นายกเทศมนตรี ต.เกาะพะงันนายกเทศมนตรี ต.เพชรพะงัน นายกเทศมนตรี ต.เกาะเต่านายกเทศมนตรี ต.บ้านใต้ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยว เกาะพะงัน นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย นายกสมาคมท่องเที่ยวเกาะเต่า นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ฝั่งตะวันออกนายกสมาคมชาวประมง จ.สุราษฎร์ธานี เข้าร่วมรับทราบบันทึกข้อตกลงในมาตรา 17

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงฉบับนี้ทำขึ้นระหว่างอธิบดี ทช.กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อความร่วมมือ ในการส่งเสริมและสนับสนุนการสงวน อนุรักษ์ ฟื้นฟู บริหารจัดการ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และพัฒนาศักยภาพในการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บริเวณพื้นที่ เกาะเต่า เกาะพะงัน อ.เกาะพะงัน และ เกาะสมุย อ.เกาะสมุย ให้คงความอุดมสมบูรณ์มีใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ส่งผลดีต่อชีวิตความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว จึงต้องอาศัยความร่วมมือในการมีส่วนร่วมเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สมบัติอันล้ำค่าของประเทศไทย อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ สร้างแรงจูงใจ ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ พร้อมกับการเฝ้าระวัง ป้องกันภัยคุกคามทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งใน 3 เกาะดังกล่าวนับจากนี้จะมีมาตรการการจัดการอย่างเข้มข้น

“ปัญหาที่เกิดขึ้นใน 3 เกาะนี้ เวลานี้ ขอบอกว่ามากมายมหาศาล ถูกหมักหมมจากอดีตยาวนานมาก ผมว่า มากเกินกว่าที่คนเพียงคนเดียวอย่างผมจะบรรยายได้หมด เรื่องความสวยงามในพื้นที่นั้น ยอมรับกันว่าสวยจริง แต่พอมาโฟกัสหลายเรื่อง ทั้งขยะ น้ำเสีย การจัดระเบียบต่างๆ หรือแม้กระทั่งเรื่องความมั่นคงนั้นถือเละที่สุด เคยมีคนบอกว่าจะทำป้ายยกย่องผมที่เคนอนุมัติให้ทีระบบน้ำประปาบนเกาะสมุย ผมบอกว่าไม่ต้องกรอก เพราะวันไหนที่มีท่อประปาเกิดขึ้น วันรุ่งขึ้นต่อจากนั้น ก็จะมีน้ำเสียลงทะเลทันที แล้วมันก็เป็นความจริงจนได้ แต่ที่ผ่านมาก็เป็นบทเรียน อธิบดี ทช.มาปรึกษาผมว่า 3 พื้นที่นี้ต้องจัดการพร้อมๆ ผมแซวกลับไปว่า สติดีรึเปล่า แต่ในที่สุดแล้วไม่ทำไม่ได้ ต้องทำ ซึ่งการประกาศใช้มาตรา 17 นั้นเป็นครั้งแรกที่เรากำหนดพื้นที่ชัดเจนที่แรก ถือว่าวันนี้ตีระฆังแล้ว ต่อไปต้องดีขึ้น” พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าว

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดี ทช. กล่าวว่า ปัจจุบันมีกิจกรรมการใช้ประโยชน์เกี่ยวกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บริเวณพื้นที่เกาะเต่า เกาะพะงัน และเกาะสมุย เป็นจำนวนมาก ทั้งการทิ้งสมอเรือ หรือทอดสมอเรือบริเวณแนวปะการัง ปล่อยและทิ้งน้ำเสีย ก่อสร้าง ขุดและถมดิน ปล่อยตะกอนดินลงสู่ทะเลและชายฝั่ง มีการบุกรุก ยึดถือ ครอบครองพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสถานภาพความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หากปล่อยเรื่องนี้ไว้ โดยไม่มีการเข้าไปจัดการ ก็จะทำให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งบริเวณดังกล่าวเกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น ไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 ประกอบมาตรา 3 และมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ประกอบมาตรา 32 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ทช. จึงกำหนดมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บริเวณพื้นที่ เกาะเต่า เกาะพะงัน และเกาะสมุย ระงับการกระทำ หรือกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งเพื่ออนุรักษ์ หรือแก้ไข หรือบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

นายโสภณ ทองดี รองอธิบดี ทช.กล่าวว่า เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว หลังจากนี้ ไป ห้ามจอดเรือโดยการทิ้งสมอ หรือทอดสมอบริเวณแนวปะการังในพื้นที่เกาะเต่า เกาะพะงัน และเกาะสมุย ในลักษณะที่ก่อให้เกิดอันตราย หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการัง ห้าม ค้นหา ล่อ จับ ได้มา เก็บสัตว์น้ำ หรือกระทำใด ๆ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อล่อ จับ ได้มา หรือเก็บสัตว์น้ำ ห้ามให้อาหารสัตว์น้ำ หรือจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำ หรือวัตถุอื่นใด ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์น้ำ หรือกระทำการใด ๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ห้ามก่อสร้าง ยึดถือ ครอบครอง หรือกระทำด้วยประการใด เว้นแต่ เป็นการดำเนินการตามโครงการของรัฐด้านสาธารณูปโภค ที่ได้ดำเนินการตามแบบแผนของทางราชการ หรือกระบวนการ หรือขั้นตอน ตามที่กฎหมาย หรือกฎ หรือระเบียบกำหนดไว้

รองอธิบดี ทช. กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังห้ามเท ทิ้ง ระบาย ทิ้งขยะมูลฝอย เศษอาหาร หรือวัสดุที่มีลักษณะเป็นพลาสติก หรือโฟม สิ่งปฏิกูล ของเสีย น้ำเสีย สารแขวนลอย คราบน้ำมัน สารปนเปื้อนจากการเดินเรือ การจอดเรือ หรือการขนถ่าย หรือสิ่งอื่นใด ที่ก่อให้เกิดมลพิษ รวมทั้งการปล่อยน้ำเสีย จากโรงแรม อาคารที่พักอาศัย ห้องพัก หรือสถานประกอบการอื่นๆ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทั้งนี้ บุคคล หรือผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยวดำน้ำตื้น จะต้องไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งด้วย ส่วนผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยวดำน้ำลึก ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“ห้ามกระทำการใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อสภาพพื้นทะเลในบริเวณที่มีแหล่งแนวปะการัง หญ้าทะเล หินปะการัง และกองหินใต้ทะเล เช่น กิจกรรมเดินท่องเที่ยวใต้ทะเล หรือ ซีวอล์คเกอร์ (sea walker) ห้ามกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางธรณีสัณฐาน หรือทำให้ทัศนียภาพบริเวณชายหาดเสียไป ส่วน การดำเนินกิจกรรมเครื่องเล่นกีฬาทางน้ำ ประเภทเรือสกูตเตอร์ เจ็ทสกี ควอดสกี หรือกิจกรรมอื่นใดที่ใช้เรือลากทุกชนิด ต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ”นายโสภณ กล่าว และว่า คำสั่งนี้ จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 “นายโสภณ กล่าว

นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการ จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จากข้อมูลในปี 2560 พบว่า ปัจจุบันมีปริมาณนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวในจังหวัดสุราษฎร์ธานีกว่า 2 ล้านคนต่อปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในส่วนของพื้นที่เกาะสมุยมีนักท่องเที่ยว 793,180 คน เกาะพะงัน 458,642 คน และเกาะเต่า 132,874 คน มีเรือผู้ประกอบการท่องเที่ยวประมาณ 60 ลำต่อวัน เรือโดยสารรับส่งนักท่องเที่ยววันละหลายเที่ยว แต่ยังขาดการบริหารจัดการนักท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ ทำให้เกิดปัญหาด้านการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สภาพปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ทั้ง 3 เกาะ ส่วนใหญ่เกิดจากการกิจกรรมของชุมชนนักท่องเที่ยว ดังนั้น น้ำเสียที่เกิดขึ้นจึงเกิดผลต่อปะการังน้ำตื้นและทรัพยากรทางทะเล นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมวการท่องเที่ยว การดำน้ำ ซึ่งส่งภัยคุกคามต่อทะเล เช่น การแล่นเรือ การจอดเรือ โดยเฉพาะเกาะเต่ามีบริษัทสอนดำน้ำ 58 แห่ง

ผู้ว่าราชการ จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวต่อว่า ด้านปัญหาขยะมูลฝอยพื้นที่เกาะเต่ามีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 20 – 30 ตัน/วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฤดูกาลท่องเที่ยวของแต่ละเดือน ปัจจุบันมีขยะมูลฝอยถูกเทกองทิ้งตกค้างอยู่บนพื้นที่เกาะเต่าบนเนื้อที่ 4 ไร่ ปริมาณขยะสะสม 42,000 ตัน ส่วนเกาะสมุยมีขยะตกค้างมากถึง 250,000 ตัน มีเพิ่มขึ้นทุกวันสาเหตุจากเตาเผาขยะเสียมานานกว่า 8 ปี และมีน้ำเสียจากกองขยะไหลปนเปื้อนซึ่งยังไม่สามารถกำจัดขยะได้ถูกวิธี และเกาะพะงันมี ปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นมากเลยเรื่อยๆเช่นกัน ปัจจุบันมีขยะถึงปีละ 7,300 ตัน ส่วนใหญ่ใช้วิธีฝังกลบและมีโรงกำจัดขยะที่ช่วยจำกัดแต่ไม่มากพอกับขยะที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน จึงมีความจำเป็นต้องมีความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อทรัพยากรทางทะเลอย่างเร่งด่วน

ด้านนายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ต่อไปประเทศไทยจะไม่เน้นปริมาณนักท่องเที่ยวให้มีจำนวนเยอะๆ แต่เราจะเลือกนักท่องเที่ยวในลักษณะเชิงคุณภาพ ต้องเป็นนักท่องเที่ยวที่มีความรักธรรมชาติ จึงจะถือว่าเป็นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ซึ่งตนอยากเห็นพื้นที่ทั้ง 3 เกาะ เป็นตัวอย่างพื้นที่ที่ท่องเที่ยวมีคุณภาพ ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวต้องมีสำนึก มุ่งมั่นในการร่วมดูแลธรรมชาติ ซึ่งการกรองนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพนั้น โดยทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ตามพ.ร.บ.นโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ ได้มีแนวทางการเก็บเงินค่าเหยียบแผ่น ให้นักท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นผู้ที่ไม่ได้เสียภาษีเลยให้มีค่าใช้จ่ายบางอย่าง เช่น การกำหนดซื้อประกันขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่การขอวีซ่า การทำกิจกรรมท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยง รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่นำยานพาหนะเข้ามายังแผ่นดินไทย เพราะไม่ใช่เสี่ยงภัยแค่ตนเอง แต่อาจเสี่ยงภัยต่อบุคคลอื่นด้วย ส่วนเงินเหล่านี้ก็นำเข้าคลังแผ่นดิน ซึ่งอาจนำไปแก้ไขปรับปรุงในเชิงการท่องเที่ยวให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้ของบประมาณจากรัฐบาล 20 ล้านบาท เพื่อศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าว โดยต้องศึกษาร่วมกันกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาชนด้วย

 

ที่มา : มติชนออนไลน์