“บิ๊กเต่า” ขวางสร้างสนามบินรับนทท.ขู่ปิดอุทยานทะเลชื่อดัง ทช.เผยพบปลาใบขนุนที่หายเกือบ 10 ปี

“บิ๊กเต่า” ขวางสร้างสนามบินใหม่รับท่องเที่ยว ขู่ปิดอุทยานทางทะเลชื่อดัง พีพี-อ่าวพังงา-สิมิลัน นักท่องเที่ยวล้น ขยะ-น้ำเสียอื้อ ทช.เผยสถานการณ์ทะเล พบปลาใบขนุนที่หายไปเกือบ 10 ปี

วันที่ 16 มีนาคม 2561 พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวในงานรัฐมนตรีพบประชาชนในพื้นที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ขณะนี้การท่องเที่ยวในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี มีความหนาแน่นเป็นอย่างมาก มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี ผู้ประกอบการท่องเที่ยวพยายามผลักดันให้มีสนามบินแห่งใหม่ในพื้นที่เกาะพะงัน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะเดินทางมาท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง อาทิ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เกาะพะงัน เกาะเต่า อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติสิมิลัน ซึ่งตนได้บอกกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรี ว่า ถ้าไม่เชื่อตนและปล่อยให้มีการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นสมบัติของชาติ ตนจะใช้อำนาจที่มีสั่งปิดพื้นที่อุทยานแห่งชาติชื่อดังที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากเกินขีดความสามารถในการรองรับ ขณะนี้ได้ปิดจุดดำน้ำหลายแห่ง ซึ่งการปิดพื้นที่ดังกล่าวได้ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติฟื้นฟูกลับมาบ้างแล้ว

รัฐมนตรี ทส.กล่าวต่อว่า ในขณะที่การพัฒนาศักยภาพสนามบินที่มีอยู่แล้ว เช่น สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ตนมองว่าให้พัฒนาศักยภาพให้ดีมากขึ้นจะดีกว่า พร้อมจัดระเบียบการท่องเที่ยว รวมทั้งนักท่องเที่ยว เพราะข้อเท็จจริงการเติบโตของการท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกเข้ามายังประเทศหลายล้านคนต่อปี มีรายได้เข้าประเทศเกือบ 1 แสนล้านบาท แต่ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวก็ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นอย่างมาก ทั้งขยะ น้ำเสียจากโรงแรม รีสอร์ต บังกะโลที่ไหลลงสู่ทะเลโดยไม่ผ่านการบำบัด ส่งผลให้สัตว์น้ำเกือบทุกชนิดหายไป รวมทั้งปะการังได้รับผลกระทบ เป็นต้น ดังนั้น การพัฒนาใดๆ ต้องควบคู่กับการสมดุลทางธรรมชาติด้วย

รัฐมนตรี ทส.กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เร็วๆ นี้ตนจะจัดเวทีสิ่งแวดล้อม และจะเชิญพรรคการเมืองทุกพรรค นักวิชาการ เอ็นจีโอ มาแสดงวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งอยากให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะทรัพยากรเป็นสมบัติของชาติ ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง

ด้านนายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ภาพรวมทางทะเลดีขึ้นกว่า 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าทั้งปะการังและสัตว์น้ำ รวมถึงทรัพยากรอื่นๆ มีจำนวนมากขึ้น มีปลาทะเลบางชนิดที่หายไปจากท้องทะเลนับสิบปีก็กลับมาอีกครั้ง และปลาบางชนิดที่ชาวประมงจับขึ้นมาได้มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น ปลาใบขนุน ซึ่งไม่เคยเจอมานานมากก็กลับมาเจอบ่อยครั้งขึ้น ปลาจะละเม็ดขาว ปลากะพง มีขนาดใหญ่มากขึ้น โดยเมื่อ 4-5 ปีก่อนปลาเหล่านี้มีขนาดน้ำหนัก 3-4 ตัวต่อกิโลกรัม แต่เวลานี้ปลามีขนาดน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 1 กิโลกรัมต่อตัว นอกจากนี้ ความร่วมมือในการใช้เครื่องมือประมงต่างๆ ที่ผิดกฎหมายก็ได้รับความร่วมมือจากชาวประมงมาก

นายโสภณกล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ปะการังฟอกขาวที่ทำให้ปะการังหลายพื้นที่เสื่อมโทรม ขณะนี้เข้าสู่ภาวะปกติ อุณหภูมิน้ำทะเลเกือบทุกที่ไม่มีที่ใดสูงเกิน 30 องศาเซลเซียส ส่วนสถิติการตายของสัตว์ทะเลหายากก็ลดลง เหตุเพราะมีการแจ้งเตือนผ่านระบบโซเชียลมากขึ้น อีกทั้งเวลานี้ ทช.ได้มีการตั้งโรงพยาบาลช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากถึง 5 แห่งในพื้นที่ที่พบสัตว์ทะเลหายากเป็นประจำ ได้แก่ จ.ระยอง สมุทรสาคร ชุมพร สงขลา และภูเก็ต

 

ที่มา : มติชนออนไลน์