วิน วิริยประไพกิจ เดินหน้า Transform สหวิริยา

สัมภาษณ์

เมื่อปี 2558 สหวิริยาสตีลอินดัสตรี หรือ SSI ได้ยื่นคำร้องต่อ ศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอฟื้นฟูกิจการ ปรากฏศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ-ตั้งผู้ทำแผนพร้อมกับ “เห็นชอบ” แผนฟื้นฟูกิจการระยะเวลา 12 ปี

ล่าสุด “วิน วิริยประไพกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแนวทางการบริหาร ว่า ขณะนี้ SSI กำลังเดินหน้าแก้ปัญหา ซึ่งยังคงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร

ปัญหาโรงเหล็กที่มิดเดิลสโปรห์

ยังรอขาย คงต้องขายที่ดินก่อนประมาณ 1,000 กว่าไร่ แต่เนื่องจากว่าอุตสาหกรรมเปลี่ยนจากเดิมมีท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในอีสโคส ซึ่งในอดีต 100 กว่าปีก่อนอังกฤษผลิตถ่านหินส่งออก แต่ต่อมาเป็นผู้นำเข้าถ่านหิน เราคิดว่าปิดโรงงานไปแต่เหลือท่าเรือที่เป็นจุดนำเข้าถ่านหินน่าจะดี ก็ปรากฏว่าอังกฤษประกาศตัวเป็นผู้นำในเรื่องลดโลกร้อนหรือไครเมตเชนจ์ ทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินในอังกฤษปิดเกือบหมด เหลือนำเข้าเพียง 3% จากทั้งหมด มูลค่าเลยไม่ดี เนื่องจากเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและมีท่าเรือน้ำลึกอยู่ตรงกลาง ถ้ามีคนใช้ก็มีมูลค่า แต่ถ้าไม่มีคนมาใช้กลายเป็นที่ดินเปล่าไร้มูลค่าไป

ตลาดเหล็กโลกปีนี้

จีนลดกำลังการผลิตเหล็กมา 2 ปีเศษ ๆ ทำให้การผลิตเหล็กโลกคลายตัว ปริมาณส่งออกเหล็กจากจีนลดลงบ้าง มีผลทำให้ราคาเหล็กโดยรวมปรับขึ้นมา แต่ไม่ได้มาก ในความรู้สึกผมว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มดีขึ้นมา แต่พอมาเจอมาตรการทางการค้าภายใต้นโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ เลยทำให้อ่านไม่ออก จากเดิมยังเห็นทิศทางว่า จะเป็นอย่างไร

ลงทุนฝ่าปัจจัยเสี่ยง

หากเป็นผู้ประกอบการปกติก็คงจะ wait and see แต่ผมเริ่มคิดแบบแปลก ๆ บางคนบอกว่า ถ้าเราคิดแปลกในอนาคต ถึงจะมีโอกาสที่จะทำไม่สำเร็จ แต่ว่ามันจะไม่ติดกับการแข่งขันปัจจุบัน หากเราโชคดีแนวคิดนั้นมันถูกก็มีโอกาสเกิดถึงเวลานั้นก็จะไม่มีคู่แข่ง เหมือนกับคนที่คิดเรื่อง SpaceX ยิงจรวดไปในอวกาศ พอมันกระโดดออกไปก็ไม่มีใครมาแข่งกับเราแล้ว หากประเด็นนั้นมันเป็นประเด็นที่ใช่ทั้งในเชิงธุรกิจ เชิงเทคโนโลยี และในเชิงตอบโจทย์การแก้ปัญหาโลก เราก็สามารถจะทำให้เกิดขึ้นได้

Transform SSI

คนที่มีธุรกิจอยู่นี่จะบอกว่า มีกรรมหรือมีบุญ ถ้าธุรกิจที่มีอยู่ประสบความสำเร็จอาจเรียกว่าเป็นกรรม เพราะจะยิ่งทำให้เชื่อในสิ่งที่เราทำสำเร็จ และทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้กับสิ่งที่ทำสำเร็จ เพื่อให้สำเร็จยิ่งขึ้น แต่ถ้าที่ทำอยู่ไม่สำเร็จก็เรียกว่ายิ่งแย่ใหญ่ ไหนต้องแก้ไขปัญหา แล้วจะเอาเวลาหรือเอาเงินที่ไหนมาลง ยิ่งซวยกันใหญ่ สู้สตาร์ตอัพไม่ได้ เรามีธุรกิจมีต้นทุน มีภาระที่ผูกพันมา

ขณะนี้ต้องหาวิธีแบ่งทรัพยากร แบ่งเวลา แบ่งความคิดที่จะหาอะไรที่เป็นอนาคต ที่จะต่อยอดจากธุรกิจที่เรามีอยู่ ให้เราได้เปรียบจากธุรกิจสตาร์ตอัพ

ก่อนหน้านี้เหล็กต้นน้ำที่เราทำอยู่มัน Fail และโดยเฉลี่ยแล้วต้นน้ำยังอยู่ในสภาพล้น ๆ จึงมองว่า เหล็กปลายน้ำน่าจะมีโอกาสอีกมาก แต่ไม่อยากไปแข่ง กับลูกค้า ถ้าอะไรยังไม่มีคนทำ เราก็จะเข้าไปทำ

ไอเดียต่อยอดปลายน้ำ

ถ้าเอาเหล็กไปใช้ในอุตสาหกรรมอสังหาฯ ท่อแก๊ส ท่อน้ำมัน ทุกคนก็ทำอยู่แล้ว แต่ถ้านำไปต่อยอดทำอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่น กังหันลม พลังงาน ก็ยังมีโอกาส แต่ต้องใช้ความรู้ที่เราไม่มี ดังนั้น ต้องหาพันธมิตร ก็ไม่ได้เกินความสามารถ แต่ต้องมีการขยับ ไม่มีเงินลงทุนก็ต้องขยับใช้ความรู้ อย่างตอนนี้เดนมาร์กถนัดเรื่องกังหันลมแต่สู้เค้าไม่ได้ ต้องหาอะไรที่ไทยถนัด เช่น “แบตเตอรีกักเก็บพลังงาน” หรือทำอุตสาหกรรมใหม่ ๆ

สินค้าปลายน้ำตัวใหม่

ในอนาคตจะมุ่งไปสู่สินค้า “แอปพลิเคชั่นโปรดักต์” ตอนนี้ลอนช์สินค้าเหล็กแผ่นมาทำโครงสร้างอาคารโรงงาน (Industrial Building) แบบประกอบสำเร็จ (Building Kit) เช่น โกดังโรงงาน โชว์รูม อาคารกว้าง ๆ ซึ่ง SSI จะเริ่มตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงก่อสร้าง ไม่ได้ขายเหล็ก เราขายโรงงานประกอบสำเร็จ กลุ่มลูกค้าของเราก็คือผู้รับเหมา ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก เริ่มมา 1-2 ปีแล้ว แต่ยังต้องพัฒนาต่อยอดไปเรื่อย ๆ ยอดขายหลัก10 ล้านบาทยังเป็นสัดส่วนน้อยหากเทียบกับขนาดธุรกิจ 20,000 ล้าน

สินค้านี้ไปช่วยให้ลูกค้าลดขยะ และช่วยลดต้นทุน ทำให้การก่อสร้างไปได้อย่างรวดเร็ว ตอบโจทย์โลกสมัยนี้ ตอบโจทย์เรื่องการขาดแคลนแรงงาน สิ่งแวดล้อมเข้มงวดขึ้น

เป้า “แอปพลิเคชั่นโปรดักต์”

อีกสัก 15-20 ปี สหวิริยาอาจจะไม่ได้ทำเหล็กแล้ว ก็ต้องคิดอย่างนั้นเพราะถ้าเรายึดติดกับสิ่งที่เราเป็นอยู่ก็ไม่มีทางสู้เค้าเลย ใครไม่ทรานส์ฟอร์มก็ไม่มีทางรอด

เปิดท่าทีเจรจาสหรัฐ

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2561 กระทรวงพาณิชย์สหรัฐประกาศรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีการ ขอยกเว้นจากการถูกใช้มาตรา 232 (National Security) สินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐมีอำนาจพิจารณายกเว้นการใช้มาตรการฯ หากพิสูจน์ได้ว่าสหรัฐผลิตได้ในปริมาณที่ไม่เพียงพอ หรือไม่มีคุณภาพที่น่าพอใจบนพื้นฐานของความมั่นคงของประเทศ ทั้งนี้ สหรัฐกำหนดให้ผู้ใช้เหล็กยื่นขอยกเว้นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่าน https://www.bis.doc.gov/index.php/232-steel สำหรับสินค้าเหล็ก และ https://www.bis.doc.gov/index.php/232-aluminum สำหรับอะลูมิเนียม

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่ากระทรวงฯ จะหารือกับเอกชนในวันที่ 20 มีนาคมนี้ เพื่อเตรียมการยื่นขอยกเว้นมาตรการดังกล่าว

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560 บริษัท SSI หนึ่งในผู้ส่งออกสินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นไปยังสหรัฐที่ได้ผลกระทบด้วย พร้อมด้วยตัวแทน 7 สมาคมเหล็ก ได้หารือกับกรมการค้าต่างประเทศ เพื่อเตรียมการเจรจาขอยกเว้นมาตรา 232 โดยเบื้องต้นจะเจรจาผ่อนผัน “ยกเว้น” ภาษีสินค้าเหล็ก 4 กลุ่มคือ ท่อ-สังกะสี-เหล็กแผ่นรีดเย็น-อะลูมิเนียม ปริมาณ 400,000 ตัน ส่วนสหรัฐจะขอแลกเปลี่ยนกับสินค้าอะไร อยู่กับการเจรจา แต่ “ไทยคงไม่ค่อยมีอะไรให้แลก”

เป็นที่น่าสังเกตว่า การใช้มาตรการนี้เป็นไปเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในรัฐที่เป็นฐานเสียงและรัฐสะวิงสเตตก่อนการเลือกตั้งมิดเทอมปลายปีนี้ แต่สหรัฐก็ยอมเจรจาผ่อนปรนให้กับกลุ่ม NAFTA (เม็กซิโก-แคนาดา) และผ่อนปรนให้กับออสเตรเลีย อังกฤษ อียู ด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคง คาดว่าต่อไปอาจจะผ่อนปรนให้เกาหลี-ไต้หวัน-บราซิล-อินเดียซึ่งเป็นภาคีในเชิงความมั่นคงทั้งหมด ส่วนพวกที่ไม่ใช่พันธมิตรทางทหารอย่าง รัสเซีย-จีน รวมถึงประเทศไทย จะเป็นกรณีที่จะตามมาหลังจากนี้