
sacit เฟ้นหาช่างทองโบราณ พบปัจจุบันมีอยู่เพียง 3-4 คน ผลงานที่เจอ “พระมหาสังข์” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีราคาแพงกว่า 20 ล้านบาท พร้อมยังหาเจอได้ยากมาก
วันที่ 26 กรกฎาคม 2566 รายงานข่าวจากสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit ระบุว่า sacit ได้เฟ้นหาและคัดสรรผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย ประเภทเครื่องโลหะ (เครื่องทองโบราณ) ประจำปี 2566 ซึ่งได้อาจารย์อาทร เตชะพนาลัย ช่างทองฝีมือ ที่แต่งองค์ทรงเครื่องพระมหาสังข์ จังหวัดนครปฐม ได้รับการยกย่องเชิดชูเป็นครูช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปีนี้
ทั้งนี้ ผลงานที่ได้รับยกย่อง “พระมหาสังข์” โดยแนวคิดในการผลิตผลงาน เกิดจากความนิยมของพระมหาสังข์ และกระแสของมงคล สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งยังพบว่ากลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่นั้น จะเป็นระดับเศรษฐีแนวหน้าของไทย ผู้ที่มีความเชื่อในด้านการเสริมสิริมงคลการทำงานและการใช้ชีวิต
โดยนิยมนำพระมหาสังข์ที่ขัดผิวเงางามแล้วมาแต่งองค์ทรงเครื่อง เพื่อความสวยงาม เป็นการเติมเต็มให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อาจารย์อาทร เตชะพนาลัย ช่างทองฝีมือ ได้ตกแต่งลวดลายพระมหาสังข์ไปกว่า 30 องค์
ช่างฝีมือหายาก
อาจารย์อาทร เตชะพนาลัย ช่างทองฝีมือ ระบุว่า ตนมีประสบการณ์ในวงการช่างหัตถศิลป์ไทย มาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี โดยได้เริ่มทำผลงานออกมาในปี 2542 และในช่วงที่ผ่านมา ยังเป็นคณะจัดสร้างฐานพระโกศสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก จนถึงปี 2548
หลังจากนั้นจึงเริ่มรับผลิตชิ้นงานตามความต้องการของลูกค้า และรับบทบาทเป็นครูงานช่างทองโบราณ และงานช่างทองหลวง อยู่ที่กาญจนาภิเษก วิทยาลัยช่างทองหลวง
นอกจากนี้ ยังเรียนรู้การทำเครื่องทองครอบคลุมตั้งแต่เครื่องประดับโบราณ งานสกุลช่างเพชรบุรี สุโขทัย เพื่อนำมาประยุกต์ใช้สร้างสรรค์เป็นเครื่องประดับตกแต่ง เครื่องพุทธบูชา จำลองเจดีย์ทองคำ ผอบพระบรมสารีริกธาตุ และงานหัตถศิลป์อีกหลายแขนง
“ผลตอบรับชิ้นงาน คือ เรื่องการสร้างรายได้ แต่ตนยังได้สืบสานงานศิลปหัตถกรรมไทยให้คงอยู่กับประเทศไทย แม้ชีวิตจะเหลือเวลาผลิตผลงานได้อีก 20-30 ปี แต่ผลงานที่ทำไว้จะยังคงอยู่คู่กับประเทศไทยไปอีกอย่างน้อย 300-1,000 ปี อย่างแน่นอน ตามคำกล่าวว่า อายุเรานั้นสั้น แต่ศิลปะยืนยาว”
ปัจจุบันยังพบว่างานฝีมือในการตกแต่งพระมหาสังข์ มีช่างทองฝีมือคนไทยในวงการ เพียง 3-4 คน
ส่วนความต้องการในตลาดยังมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันตนได้ผลิตลวดลายพระมหาสังข์ออกไปเฉลี่ยเดือนละ 2 องค์ และคาดการณ์ว่าหลังจากได้รับการยกย่องเชิดชูเป็นครูช่างศิลปหัตถกรรมประจำปี 2566 จาก sacit จะเป็นสิ่งสะท้อนว่างานของช่างทองโบราณเป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
ความพิเศษ “พระมหาสังข์”
พระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ ทรงสุวรรณภูมิ มีความพิเศษ และผลงานที่มีความภูมิใจ โดยพระมหาสังข์ทรงสุวรรณภูมิ เป็นพระมหาสังข์หายาก และคาดว่าจะไม่มีอีกแล้ว เพราะเป็นสังข์ที่สมบูรณ์มากที่สุด
ส่วนงานออกแบบเป็นลวดลายโบราณ ตกแต่งองค์สังข์ขึ้นเป็นลายจตุรทิศ มีความหมายในเรื่องการป้องกันภยันตรายต่าง ๆ และเสริมสิริมงคลรอบทิศทาง ซึ่งมีเศรษฐีเสนอราคามาสูงมากอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านบาท