
“วันสืบ นาคะเสถียร” วันที่ 1 กันยายน ของทุกปี ถูกยกให้เป็นวันรำลึกการจากไปของ “สืบ นาคะเสถียร” นักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ เพื่อระลึกถึงความเสียสละ พร้อมทั้งสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้คนชนรุ่นหลัง สานต่อเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์ผืนป่าและธรรมชาติ
หากกล่าวถึงเรื่องการอนุรักษ์ผืนป่า สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม หนึ่งในบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้อุทิศตนด้วยชีวิตและจิตวิญญาณ นั่นคือ “สืบ นาคะเสถียร” หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่ได้ตัดสินใจกระทำอัตวินิบาตกรรม เพื่อเรียกร้องให้สังคมและราชการหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจังในวันที่ 1 กันยายน 2533 โดยเขาได้เขียนข้อความในจดหมายไว้ว่า “ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น”
หลังจากนั้นวันที่ 1 กันยายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันสืบ นาคะเสถียร เพื่อระลึกถึงความเสียสละ และที่สำคัญเพื่อให้ทุกคนหวงแหนธรรมชาติ และสานต่อเจตนารมณ์สืบต่อมาอย่างยาวนานจวบจนปัจจุบันครบรอบ 33 ปี ที่ “สืบ นาคะเสถียร” ได้จากโลกนี้ไป
ประวัติ “สืบ นาคะเสถียร”
สืบ นาคะเสถียร มีชื่อเดิมว่า “สืบยศ” เกิดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2492 ที่จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบุตรของนายสลับ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และนางบุญเยี่ยม โดยสืบ นาคะเสถียร มีพี่น้องทั้งหมด 3 คน ซึ่งสืบเป็นบุตรชายคนโต สำหรับชีวิตส่วนตัว สืบได้สมรสกับนางนิสา นาคะเสถียร มีทายาท 1 คน คือ น.ส.ชินรัตน์ นาคะเสถียร
ด้านการศึกษาเมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 สืบได้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา จนกระทั่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จึงเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนจะเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาวิชาวนวัฒนวิทยา ที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2518
เมื่อเรียนจบ สืบ สามารถสอบเข้าทำงานที่กรมป่าไม้ได้ แต่เขาเลือกทำงานที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่าโดยไปประจำการที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาเขียว-เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี
ต่อมาในปี 2522 สืบได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาโทอีกครั้ง ในสาขาอนุรักษวิทยา ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ จาก British Council โดยสืบสำเร็จการศึกษาในปี 2524
“สืบ นาคะเสถียร” กับชีวิตการทำงาน
ภายหลังจากที่สำเร็จการศึกษาในปี 2524 สืบ นาคะเสถียร ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ และเริ่มงานวิจัยชิ้นแรก คือการศึกษาการทำรังวางไข่ของนกบางชนิด ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี
จากนั้นปี 2528 สืบเดินทางไปทำวิจัยเรื่องกวางผา กับ ดร.แซนโดร โรวาลี ที่ดอยม่อนจองในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ป่า จนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเสียชีวิต สร้างความสะเทือนใจให้แก่สืบ นาคะเสถียร เป็นอย่างมาก
ปี 2529 มีการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่แม้ว่าสัตว์นับพันตัวจะได้รับความช่วยเหลือ แต่สืบ นาคะเสถียร รู้ดีว่ามีสัตว์อีกจำนวนมหาศาลที่ตายจากการสร้างเขื่อน และในระหว่างนั้น สืบได้ค้นพบรังนกกระสาคอขาวปากแดงครั้งแรกในประเทศไทย

“สืบ นาคะเสถียร” บนเส้นทางนักอนุรักษ์
ในปี 2530 สืบ นาคะเสถียร ได้เข้าร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งสืบได้ชี้ให้เห็นถึงบทเรียนจากการที่มีสัตว์จำนวนมาก ล้มตายหลังจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน เขาจึงเริ่มต้นการอภิปรายทุกครั้งด้วยประโยค “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า” และเป็นที่มาของวาทะที่คนรุ่นหลังรู้สึกได้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนั้นและตระหนักถึงความมุ่งมั่นของสืบ
จากนั้นปี 2531 หนังสือพิมพ์มติชน ได้ลงพาดหัวข่าวว่า “กรมป่าไม้ทำแสบ อนุมัติให้บริษัทไม้อัดไทยเข้าทำไม้ 3 แสนไร่ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งซึ่งอุดมสมบูรณ์ที่สุดในเอเชีย หวั่นสัตว์ป่าหายากแตกหนีกระเจิง ร้องให้ยับยั้งด่วนก่อนพินาศ”
ทั้งนี้ การให้สัมปทานไม้ในผืนป่าห้วยขาแข้งในเวลานั้นเกิดขึ้นจากที่กรมป่าไม้ไม่สามารถจัดหาป่าในพื้นที่อื่นทดแทนให้แก่บริษัทไม้อัดไทย บริษัทไม้อัดไทยจึงขอสิทธิ์กลับเข้าทำไม้ในพื้นที่ป่าลุ่มห้วยขาแข้ง คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 260,000 ไร่
สืบ นาคะเสถียร และกลุ่มเพื่อนนักอนุรักษ์ จึงออกมาคัดค้านการที่บริษัทไม้อัดไทยจะขอสัมปทานทำไม้ ที่ป่าห้วยขาแข้ง โดยสืบได้อภิปรายว่า “คนที่อยากอนุญาตให้ทำไม้ก็เป็นกรมป่าไม้ คนที่จะรักษาก็เป็นกรมป่าไม้เหมือนกัน”

ต่อมาปี 2532 สืบ นาคะเสถียร ได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ แต่เขาตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งสืบได้พบปัญหาต่าง ๆ มากมายในห้วยขาแข้ง อาทิ ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของบุคคลที่มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า
ที่สำคัญคือปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่เลย สืบจึงทุ่มเทเขียนรายงานนำเสนอยูเนสโก เพื่อพิจารณาให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก อันเป็นสิ่งค้ำประกันให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการคุ้มครองเต็มที่
สละชีวิตแลกกับการตระหนักรู้ของผู้คน
เมื่อความตั้งใจไม่เป็นผล วันที่ 1 กันยายน 2533 สืบ นาคะเสถียร จึงสะสางงาน และเขียนพินัยกรรมไว้เรียบร้อย ก่อนกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยปืน 1 นัดในป่าลึกที่ห้วยขาแข้ง เพื่อเรียกร้องให้สังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง ซึ่งเขาได้เขียนข้อความในจดหมายไว้ว่า “ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น”
สู่การก่อตั้ง มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
หลังจากการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร กลุ่มคนที่มีหัวใจอนุรักษ์ธรรมชาติต่างนับว่าเป็นความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ และไม่อาจปล่อยผ่านไปได้โดยปราศจากความทรงจำ ซึ่งการก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้เริ่มต้นขึ้นหลังจากงานพระราชทานเพลิงศพของเขา 10 วัน และมีสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 2,448,540 บาท เพื่อก่อตั้งมูลนิธิ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ได้ประทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้อีก 100,000 บาท รวมถึงการบริจาคจากผู้ที่ร่วมรำลึกถึงอีกหลายราย จนกระทั่งได้เป็นทุนก่อตั้งมูลนิธิรวม 16,500,000 บาท
สัญลักษณ์ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นรูปกวางผากระโจนเข้าสู่เปลวเพลิง โดยมีใบไม้สีทึบประกอบขึ้นเป็นฉากราตรีประดับดาว ซึ่งออกแบบโดย คุณปัณยา เพื่อนสนิทคนหนึ่งของสืบ นาคะเสถียร เพราะกวางผา คืองานวิชาการชิ้นแรก ๆ ของ สืบ นาคะเสถียร และความหมายโดยรวมของสัญลักษณ์ก็คือ ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของ สืบ นาคะเสถียร
ชีวิตสูญสิ้นแต่ความตั้งใจไม่สูญเปล่า
ในที่สุดความพยายามและตั้งใจของสืบ นาคะเสถียรก็เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากองค์การยูเนสโกประกาศให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง เป็นแหล่งมรดกโลก เมื่อปี 2534 นอกจากนี้ ในปี 2542 ยังมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศว่า ในรอบ 50 ปี เสียดายการจากไปของสามัญชนผู้ใดมากที่สุด ปรากฏว่า “สืบ นาคะเสถียร” เป็นผู้ที่ประชาชนเสียดายมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2
ปัจจุบัน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังคงสานต่อเจตนารมณ์ของบุรุษผู้ล่วงลับต่อไป แม้ว่าการอนุรักษ์ไว้ซึ่งธรรมชาติจะมีอุปสรรคอย่างยากลำบาก และไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจถึงเจตนารมณ์นี้ แต่คนรุ่นหลังในมูลนิธิยังคงเจริญรอยตามผู้เสียสละอย่างตั้งใจ และแนวคิดด้านการตระหนักรู้ได้แผ่ขยายไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง

งานรำลึก สืบ นาคะเสถียร ในภาคเมือง
ในงานรำลึก สืบ นาคะเสถียร ภาคเมือง นับเนื่องตั้งแต่วาระ 20 ปี สืบ นาคะเสถียร เรื่อยมาจนถึงวันนี้ รำลึก 33 ปี สืบ นาคะเสถียร กิจกรรมจะถูกวางคอนเส็ปต์หลักกว้าง ๆ ว่าเป็นงาน “จากป่าสู่เมือง” ในปี 2566 นี้ นอกจากจะมีการนำเสนอเรื่องราวการอนุรักษ์ผืนป่า สัตว์ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพอันเป็นหลักการพื้นฐานในการดำเนินงานขององค์กร มาเล่าสู่กันฟังให้คนเมืองได้รับรู้และทำความเข้าใจถึงสายใยที่เชื่อมร้อยความสัมพันธ์อันไม่อาจตัดขาดออกจากกันได้-ระหว่างป่ากับเมือง
โดยมีทั้งนักดนตรีรุ่นใหญ่ที่ใช้ชีวิตร่วมสมัยกับ สืบ นาคะเสถียร จนถึงเจนวัยเยาว์ที่รับเอาแรงบันดาลใจแต่หนก่อนมาร่วมสืบเท้าต่อแสงเทียนในวันวานมิให้มอดดับ
นอกจากกิจกรรมภาคเวที ในงานยังมีกิจกรรมออกร้านของที่ระลึกองค์กร นิทรรศการ 10 ปี เดินเท้าคัดค้าน EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์ และการออกร้านจัดแสดงนิทรรศการ ผลงาน ของเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ โดยงานรำลึก 33 ปี สืบ นาคะเสถียร ในภาคเมือง จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 กันยายน 2566 ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร