ฟิลลิป มอร์ริส เปิดผลสำรวจสัดส่วนบุหรี่ไม่เสียภาษีพุ่งแตะ 6.6%-สนับสนุนไทยสกัดปัญหาบุหรี่เถื่อน

ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด เผยผลสำรวจ “บุหรี่ไม่เสียภาษี” ในประเทศไทย มีสัดส่วนพุ่งสูง 6.6% ชี้จุด “ฮ้อท สปอท” ที่เป็นพื้นที่ความเสี่ยงสูง อยู่ที่จังหวัดในภาคใต้ พบอัตราบุหรี่ไม่เสียภาษีพุ่งสูงกว่าปกติ พร้อมหนุนหน่วยงานภาครัฐและผู้บังคับใช้กฎหมาย ร่วมมือควบคุมสถานการณ์บุหรี่เถื่อน หวังไม่ให้เลวร้ายลงกว่าเดิม

​ฟิลลิป มอร์ริส รายงานเรื่องผลการสำรวจล่าสุด Empty Pack Survey (EPS) โดยเป็นสำรวจจากซองบุหรี่เปล่าที่ทิ้งแล้ว ดำเนินการโดยบริษัทวิจัยนีลเส็น ซึ่งแสดงผลสัดส่วนบุหรี่ไม่เสียภาษี (บุหรี่ที่ไม่มีแสตมป์สรรพสามิตของไทยติดบนซอง) ที่พุ่งขึ้นเป็นร้อยละ 6.6 ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 จากเดิมร้อยละ 2.9 ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2559

“ผลการสำรวจดังกล่าวที่ดำเนินการใช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 ระหว่างวันที่ 1-23 ตุลาคม 2560 ปรากฏว่าสัดส่วนบุหรี่ไม่เสียภาษีได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วงเวลาเพียง 1 ปี โดยสภาพปัญหามีความรุนแรงที่สุดในพื้นที่ภาคใต้ โดยหากเจาะในรายจังหวัดแล้วพบว่าในสัดส่วนบุหรี่ไม่เสียภาษีใน จ.สตูล สูงถึงร้อยละ 76.6 จ.สงขลา ร้อยละ 67 และจ.พัทลุง ร้อยละ 40” นายพงศธร อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการฝ่ายบรรษัทสัมพันธ์ ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ดกล่าว

​จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างซองบุหรี่ทิ้งแล้วทั้งหมดจำนวน 10,000 ซอง ที่นำมาเก็บผลในการศึกษานี้ พบว่า 669 ซอง หรือเทียบเท่าร้อยละ 6.6 ของซองบุหรี่ทั้งหมดนั้น จะไม่มีแสตมป์สรรพสามิตของไทยติดอยู่ ซึ่งจะนับเป็นบุหรี่ที่ไม่มีเสียภาษี หรือบุหรี่ที่มิได้มีไว้เพื่อจำหน่ายตามกฎหมายในประเทศไทย ทั้งนี้ราวครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจพบประกอบไปด้วย 2 ยี่ห้อ ซึ่งเป็นยี่ห้อที่ไม่ได้มีการมาจดขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพสามิต

“หลังการปฏิรูปภาษีสรรพสามิตเมื่อเดือนกันยายน 2560 เราได้คาดการณ์ว่าปริมาณการบริโภคบุหรี่ถูกกฎหมายจะหดตัวลงอย่างมากในปี 2561 นี้ โดยผู้สูบที่ไม่มีกำลังซื้อพอที่จะซื้อบุหรี่ถูกกฎหมายได้อาจตัดสินใจเลิกสูบไปเลยหรืออาจหันไปสูบยาเส้นมวนเองหรือแม้กระทั่งบุหรี่เถื่อนก็ได้ เราประมาณการคร่าวๆ ว่าปริมาณการบริโภคบุหรี่ไม่เสียภาษีในประเทศไทยอาจสูงถึง 100 ล้านซอง ซึ่งเป็นการประมาณการจากสัดส่วนร้อยละ 6.6 นั่นก็หมายถึง หากเราคำนวณจากมูลค่าภาษีสรรพสามิต 36 บาทต่อซองในปี 2561 เราจะเห็นตัวเลขการสูญเสียรายได้ภาษีสรรพสามิตอย่างน้อย 3,600 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ สถานการณ์อาจเลวร้ายลงได้อีก เนื่องจากภาระภาษีสรรพสามิตมีกำหนดปรับขึ้นอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2562 โดยบุหรี่ซิกาแรตทั้งหมดจะต้องเสียภาษีสรรพสามิตตามปริมาณในอัตราซองละ 24 บาท และตามด้วยภาษีตามมูลค่าที่อัตราร้อยละ 40 หากเราคิดประเมินตามสถานการณ์นี้ โดยให้บุหรี่เถื่อนมีสัดส่วนคงที่ร้อยละ 6.6 ในขณะที่ปริมาณการบริโภคบุหรี่ถูกกฎหมายหดตัวลงอีก รัฐอาจสูญเสียรายได้ภาษีสรรพสามิตมากถึง 5,000 ล้านบาทในปี 2563” นายพงศธรกล่าว

สำหรับแนวทางจัดการปัญหานั้น นายพงศธรกล่าวว่าการบังคับใช้กฎหมายเป็นหัวใจสำคัญ โดยยกตัวอย่างในประเทศที่ประสบปัญหาเรื่องบุหรี่เถื่อนมาก เช่น ออสเตรเลียหรือสหภาพยุโรปนั้น รัฐบาลในประเทศดังกล่าวให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องในการบังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันและปราบปราม


“เราเชื่อมั่นว่าแนวทางดังกล่าวจะใช้ได้ผลเช่นกันในประเทศไทย ด้วยการให้ความช่วยเหลือจากรัฐบาลและการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐส่วนกลางที่มอบหมายนโยบายให้แก่หน่วยบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ในแต่ละภูมิภาคหรือแต่ละจังหวัด ฟิลลิป มอร์ริสสนับสนุนรัฐบาลไทยในการยกระดับการป้องกันและปราบปรามบุหรี่เถื่อนในประเทศไทย และเราพร้อมที่จะให้ความร่วมมือแก่หน่วยงานภาครัฐของไทยในการจัดการปัญหาบุหรี่เถื่อน” นายพงศธรกล่าว