
อุบลราชธานีศึกษาโครงการผันน้ำเหนือเขื่อน เลี่ยงเส้นทางน้ำ ลดปัญหาน้ำท่วมเมืองอุบล พร้อมเร่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม ชาวบ้าน ก่อนสรุปผลเสนอ ครม. ขอจัดสรรงบประมาณต่อไป
วันที่ 2 ตุลาคม 2566 นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยว่า ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้วิเคราะห์ข้อมูลการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำหลาก วิธีผลักดันน้ำ ผันน้ำไม่ให้ตัวเมืองอุบลราชธานี เพื่อป้องกันน้ำท่วม น้ำหลากเข้าตัวเมืองอุบล ซึ่งมีแนวทางโดยการผันน้ำเลี่ยงตัวเมือง เพื่อลดปริมาณน้ำผ่านตัวเมืองอุบล ซึ่งหน่วยงานได้ศึกษาโครงการผันน้ำเหนือเขื่อน เพื่อให้เส้นทางน้ำไหลลงท้ายเขื่อนปากมูล โดยผันน้ำปริมาณ 900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ทั้งนี้ การศึกษานั้นจำเป็นจะต้องศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประชาชน และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะนำผลสรุปเพื่อเสนอเข้าสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติ จัดสรรงบประมาณในการจัดทำต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเร่งให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมเมืองอุบล กระทบต่อชาวบ้าน
อย่างไรก็ดี การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมดังกล่าวเป็นแผนในระยะยาว สำหรับระยะสั้น ทางศูนย์ จำเป็นจะต้องเร่งลดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมให้กับประชาชน การประชาสัมพันธ์ข้อมูลระดับน้ำ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และเตรียมพร้อมหากน้ำหลาก จะได้อพยพได้ทัน
“การจัดตั้งรถโมบายประชาสัมพันธ์เป็นสิ่งที่เราจะทำ ซึ่งจะตั้งหน้าเทศบาลเมืองอุบล ให้ชาวบ้านได้รับรู้ว่าระดับน้ำตอนนี้เท่าไหน เพื่อจะประเมินได้ว่าจะต้องอพยพไหม ซึ่งก็พร้อมจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าดูแลช่วยเหลือ”
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. ได้เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยเตรียมพื้นที่เป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว หลีกเลี่ยงน้ำไหลทะลักเข้าท่วมก่อนที่จะอพยพไม่ทัน
นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมช่องทางไลน์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลเพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งจะเป็นช่องทางหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้กับประชาชนด้วย
นายฐนโรจน์กล่าวว่า ปริมาณน้ำในเมืองอุบลหากไม่มีปริมาณน้ำเข้ามาเพิ่ม คาดว่าภายใน 15 วัน ปริมาณน้ำจะเริ่มลดลง แต่ส่วนพื้นที่ต่ำอาจจะต้องใช้ระยะเวลาเพิ่มกว่าปริมาณน้ำจะลดลง ส่วนปริมาณน้ำในเขื่อนก็จะพยายามหน่วง และระบายน้ำออกมา เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่จะเข้ามาด้วย
ส่วนจำเป็นจะต้องใช้เครื่องผลักดันน้ำหรือไม่นั้น ตอนนี้มองว่าการใช้เครื่องผลักดันน้ำอาจจะไม่เกิดประโยชน์ เนื่องจากความเร็วน้ำมากกว่า 1.5 เมตรต่อวินาที โดยเครื่องผลักดันน้ำของกรมชลประทาน มีศักยภาพในการผลักดันน้ำ ที่ความเร็ว 1.5 เมตรต่อ 1 วินาที ระดับน้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้อย ความเร็วน้ำน้อยกว่า 1.5 เมตร จะทำให้มีศักยภาพผลักดันน้ำได้เร็วขึ้น ผลักดันน้ำ ต้องมีพื้นที่หน้าตัก 30% ของปริมาณน้ำ ถึงจะมีประสิทธิภาพในการผลักดันน้ำได้
เครื่องผลักดันน้ำของกองทัพเรือ มีประสิทธิภาพผลักดันน้ำเป็นแนวเฉียง สามารถผันน้ำไปทางท้ายน้ำได้ดี มีประสิทธิภาพ สามารถเพิ่มความเร็วน้ำได้มากกว่า 2 เมตรต่อวินาที ความลึก 30% ซึ่งมีประสิทธิภาพ ปี 2566 นี้ยังไม่ติดตั้งเพราะความเร็วมากกว่า 1.5 เมตร
อย่างไรก็ดี เรามีการประเมินสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการ การนำเครื่องมือเข้ามาช่วย ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับการจัดสรรจากหลายหน่วยงาน ที่นำเครื่องมือเข้ามาใช้ในการสูบน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วม พร้อมทั้งนำเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าเข้ามาช่วยอีกด้วย ซึ่งช่วยประหยัดงบประมาณได้ดี ทั้งนี้ เพื่อเร่งช่วยเหลือประชาชน พร้อมจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด