โต้กลับ! ตำรายาโบราณ “เบญจอำมฤตย์” ไม่มีกัญชา เป็นสมุนไพรล้วนๆ

หลังจากนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ออกมาให้ข้อมูลในงานแถลงข่าวการพัฒนางานวิจัยสารสกัดจากกัญชาเพื่อทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อเร็วๆ นี้ ว่าในตำรับยาเบญจอำมฤตย์ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ใช้ทดลองอยู่ที่โรงพยาบาลแพทย์แผนไทยยศเสนั้นพบว่า มีไม่ได้ผลเพราะบางตำรับต้องมีกัญชาเข้าไปผสมด้วย

เมื่อวันที่ 6 เมษายน นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีนี้ ว่า ตำรับยาเบญจอำมฤตย์ที่กรมฯ นำมาใช้ศึกษานั้น เป็นตำรายาโบราณ ซึ่งยืนยันว่าตามตำรับดั้งเดิมไม่มีส่วนผสมของกัญชา โดยส่วนผสมของสมุนไพรในตำรับยาเบญจอำมฤตย์นั้นมีเพียง 9 ชนิด คือ รงทอง มหาหิงคุ์ ยาดำ ตองแตก พริกไทย ดีปลี ดีเกลือฝรั่ง มะกรูด และขิง ไม่ได้มีกัญชาผสมแต่อย่างใด

ด้าน พญ.สมพิศ จำปาเงิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ผลิตยาเบญจอำมฤตยให้แก่กรมการแพทย์แผนไทยฯ ในการใช้วิจัย กล่าวว่า ตำรับยาเบญจอำมฤตย์นั้น กรมฯ ได้มาจากคัมภีร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ซึ่งเป็นคัมภีร์โบราณ ซึ่งสูตรในการทำตำรับยานั้นก็ดำเนินการตามคัมภีร์เลย ซึ่งยืนยันว่าไม่มีส่วนผสมของกัญชา หรือมีการตัดกัญชาออกจากสูตรอย่างที่เข้าใจ โดยส่วนผสมของตำรับนั้นมี 9 ตัว แต่ทีเรียกว่าเบญจ ซึ่งแปลว่า 5 นั้น เนื่องจากมีลักษณะเป็นยาระบายหรือยาลุอยู่ 5 ชนิด สำหรับการผลิตยาเบญจอำมฤตย์นั้น หากเป็นตามคัมภีร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์นั้น จะนำสมุนไพรคือ รงทอง ยาดำ และมหาหิงคุ์ ยัดใส่ผลมะกรูดสด หุ้มด้วยมูลโคหรือควาย เอาไปสุมไฟจน 3 ตัวนี้แห้งกรอบดี แล้วเอามาบดทำยา

พญ.สมพิศ กล่าวว่า แต่กระบวนการผลิตยาในปัจจุบันนั้น หากมีมูลสัตว์เอามาทำยานั้นไม่เป็นที่ยอมรับและจะทำให้ไม่ผ่านมาตรฐาน เพราะอาจมีโอกาสเสี่ยงในการปนเปื้อนหรือติดเชื้อจากมูลของสัตว์ได้ จึงใช้วิธีการสะตุหรือฆ่าเชื้อด้วยวิธีอื่นตามวิธีแพทย์แผนไทย โดยเอามาบดผสมให้ตัวยาเข้ากัน มีการหลอมอะไรต่างๆ แล้วบดผสมเหมือนยาตำรับอื่น ซึ่งการผลิต รพ.อู่ทองสามารถดำเนินการได้ประมาณ 80,000 แคปซูลต่อวัน แต่เราผลิตตามออเดอร์หรือใบสั่งที่ได้รับในการนำไปใช้วิจัย ซึ่งหากมีออเดอร์เข้ามามากก็สามารถผลิตได้มากถึง 100,000 แคปซูลต่อวัน

พญ.สมพิศ กล่าวอีกว่า สำหรับการวิจัยทางคลินิกในมนุษย์นั้น กรมการแพทย์แผนไทยฯ เป็นผู้ดำเนินการ โดยกระจายการวิจัยออกไปในโรงพยาบาล 14 แห่งที่เข้าร่วมการพัฒนาศักยภาพระบบบริการการแพทย์แผนไทย ซึ่งหลักๆ ก็จะเป็น รพ.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน กรุงเทพฯ (รพ.ยศเส) ส่วน รพ.อู่ทองก็เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่ร่วมวิจัยด้วย ซึ่งการเก็บข้อมูลไม่ใช่แค่เรื่องมะเร็งตับเท่านั้น แต่ยังดูในเรื่องของคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการถ่ายไม่ออกด้วย เนื่องจากยาดังกล่าวจัดเป็นยาระบาย ส่วนผลวิจัยที่ชัดเจนนั้นยังคงต้องรอกรมฯ รวบรวมข้อมูลก่อน

 

ที่มา : มติชนออนไลน์