พญาเสือแฉสิ้น “กลยุทธ์นายทุน-นักการเมือง” รุกป่าชุมพรเหี้ยน ใช้ชาวบ้านเป็นเหยื่ออ้างจน

เมื่อวันที่ 7 เมษายน นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าหน่วยพญาเสือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ในทีมงานหน่วยพญาเสือได้สำรวจร่องรอยการบุกรุก เก็บหลักฐาน เป็นภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหว และภาพมุมสูง เพื่อไว้เป็นหลักฐานแสดงว่า รูปแบบการบุกรุกพื้นที่ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานเสด็จในกรม กรมหลวงชุมพร ด้านทิศเหนือ (ตอนบน) มีหลายรูปแบบ และแต่ละรูปแบบขึ้นอยู่กับประเภทของป่า เช่น ถ้าเป็นป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น หรือป่าเบญจพรรณ (ป่าไผ่) นั้นการบุกรุกมีรูปแบบที่ต่างกัน แต่หลังจากการบุกรุกป่าจนหมดสภาพป่าแล้ว จะเห็นแต่พืชเชิงเดียวที่ปลูกเหมือนกันทั้งป่า เช่น สวนยางพาราและสวนปาล์ม หรืออาจจะมีไม้ผลยืนต้นปนไปบ้าง ก็จะมีแค่ต้นทุเรียนและมังคุดเท่านั้น สวนไม้เชิงเดียวรุกป่าอย่างรวดเร็ว และทำกันเป็นขบวนการมาอย่างยาวนาน รูปแบบที่เหมือนกันครั้งแรกที่แอบเข้ามาปลูกคือ นำกล้าหรือเมล็ดของยางพาราเข้าไปปลูกแทรกในป่าธรรมชาติ ปลูกยึดพื้นที่ ของใครของมัน ใครใหญ่มีอิทธิพลมากก็ได้มาก มีเงินทุนมาก ก็ยึดและนำเมล็ดยางพาราปลูกยึดให้ได้มากที่สุด ส่วนรายย่อย ที่ย้ายหรือเดิมเป็นผู้รับจ้าง ก็หาพื้นที่บุกรุกยึดครอบครองที่ดินแปลงใหม่ที่ไกลกว่านายทุน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง หลังจากมีการเข้ามายึดปลูกยางพาราแทรกป่าในพื้นที่ที่นายทุนหมายขอบเขตหมดแล้ว ปล่อยทิ้งไว้ บุกรุกแบบนี้ ทุกปี ทุกเวลา ที่มีโอกาส

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า เมื่อยางพาราโต 4-5-6 ปี ใหญ่พอที่จะไปขายต่อให้กลุ่มทุนหรือนายทุนใหญ่มาซื้ออีกที ทำเป็นขบวนการแบบนี้มายาวนานและราคายางเริ่มสูงขึ้น การบุกรุกพื้นที่ป่าเริ่มขยายวงกว้างขึ้น คนบุกรุกมามากขึ้น มาหลายที่หลายจังหวัดมากขึ้น สืบเนื่องจากการบอกต่อและการยึดครอบครองที่ดินของรัฐ ซึ่งในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่รัฐขาดความรับผิดชอบ และเป็นช่วงที่การเมืองรุ่งเรือง เจ้าหน้าที่รัฐโหยหาแต่ตำแหน่ง จึงเป็นผลให้ป่าทั่วประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว มิใช่ป่าที่นี่แห่งเดียว

“ที่เป็นอย่างนี้ ชาวบ้าน ผู้นำ ข้าราชการ นักการเมืองท้องถิ่น และระดับชาติ อ้างว่าประชาชนขาดพื้นที่ทำกิน และเจ้าหน้าที่รัฐอ้างแต่จะใช้กฎหมายในการควบคุมพื้นที่ป่า โดยไม่คำนึงถึงชาวบ้านที่ยากจน ยากไร้ ไร้ที่ทำกิน กฎหมายนำมาใช้ไม่ได้เต็มรูปแบบ โดนนักการเมืองครอบงำ โดนอำนาจเงินครอบงำ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ ไม่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน และเห็นแก่ตำแหน่งหน้าที่ ที่นักการเมือง หรือผู้ที่ว่าจะให้ อ้างว่าใหญ่กว่าศักดิ์ศรี ยอมให้ป่าหมดไป รูปแบบแรก คือ ปลูกแซมในป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา และป่าดิบแล้ง รูปแบบนี้ต้องตัดโคนต้นไม้ยืนต้น” หัวหน้าหน่วยพญาเสือกล่าว

หัวหน้าหน่วยพญาเสือกล่าวว่า ตามภาพที่แสดงให้เห็น ป่าจำพวกนี้เป็นป่าต้นน้ำ เป็นป่าที่เก็บน้ำ และเป็นป่าเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะสัตว์เรือนยอด เช่น ชะนี ค่าง นก และสัตว์ป่าเลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สมเสร็จ กระทิง กวาง และเก้ง สัตว์ป่าอื่นๆ อีกมากมาย การโคนป่าทิ้งเพื่อเพียงแค่ให้ได้พื้นที่เพื่อเอาต้นยางพาราของตนให้ยืนต้นแทนไม้ป่า เพื่อแสดงสิทธิเป็นเจ้าของป่านั้นๆ คนกลุ่มนี้มีที่อ้างตัวว่าชาวบ้านยากจน อ้างว่าเป็นคนที่อาศัยอยู่ที่นี่มาก่อน และจะพูดกันในกลุ่มว่า “นี่คือความสำเร็จ ที่ยึดครอบครองที่ดินได้” แล้วจะวางแผนกันต่ออีกว่า ปีหน้าเขาจะไปทำกันที่ไหน หรือจะบุกรุกที่ดินต่อกันที่ไหนอีก คนพวกนี้พูดว่า “นี่คือความสำเร็จ” “ปีแรกเรามีเงินทำได้เท่านี้ เมื่อเรามีเงินอีก เราก็ทำเพิ่มไปเรื่อยๆ เพราะเรายากจน”

“นี่คือ การบุกรุก ครับไม่ใช่การได้ที่ดินมาแบบสุจริตถูกต้อง การยึดถือครอบครองกลายเป็นเรื่องธรรมดา ที่ใครๆ ก็ทำได้ไปเสียแล้ว” นายชัยวัฒน์กล่าว

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า รูปแบบที่สอง คือ การปลูกยางพารา แทรกให้เป็นแถวในป่าไผ่หรือป่าเบญจพรรณ รูปแบบสอง รูปแบบนี้ทำง่ายกว่า ปลูกได้เร็วกว่า ฉะนั้นป่าที่นี่ที่เป็นป่าเบญจพรรณแทบไม่เหลือเลย แต่ที่แย่ไปกว่านั้น การที่จะยึดป่าไผ่แบบนี้ ทำได้แย่ไปกว่านั้นคือ การเผา เผาทั้งป่า เพราะป่าไผ่แค่ไปตัดโคนทิ้งบางส่วนให้เป็นเชื้อเพลิง เวลาเผาก็จะไหม้ทั้งหมด หมดทั้งป่า รวมถึงเข้าไปในป่าดิบนั้นๆ ด้วย ร่องรอยความเสียหายที่เกิดจากการที่ไม่มีที่ทำกิน หรือเกิดจากความไม่พอของชาวบ้าน ของนายทุน ของนักการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติ รวมถึงข้าราชการที่ทุจริตต่อหน้าที่และการใช้อำนาจในทางที่ผิด ที่นี่ มันเกิดขึ้นแล้ว

“ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ถูกโคนนับแสนนับล้านต้น ในป่าสงวนป่าไชยราช-ป่าคลองกรูด ที่มีพระราชกฤษฎีกาประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานเสด็จในกรม กรมหลวงชุมพร ด้านทิศเหนือ (ตอนบน) ที่ประกาศให้มีเนื้อที่มากกว่า 180,000 ไร่ เมื่อปี 2537 ข้าราชการ หรือระบบราชการที่มีกฎหมายเข้มแข็งแค่ไหน ก็ทานไม่อยู่หรอกครับ เพราะการรุกคืบ การหาที่ดินทำกินในป่า เริ่มกระจายตัวเป็นวงกว้างและไม่มีวันจบ พื้นที่ในกรมหลวงฯแห่งนี้ เมื่อปี 2537-2541 เคยสำรวจให้ราษฎรที่ทำกินในระหว่างปีนี้ไปแล้วประมาณ 7,800 กว่าไร่ ต่อมามีการรุกคืบ บุกรุกยึดถือครอบครองอีก ประชาชนที่อ้างตัวว่ายากจน เรียกร้องสิทธิขอที่ทำกินในป่าอนุรักษ์เพิ่ม เป็นช่องทางของการเมืองเปิดให้สำรวจตกหล่น ต่อจากปี 2541-2545 นั้น ถือว่าเป็นรอบสอง ป่าแห่งนี้สำรวจเพิ่มตามคำสั่ง เปิดภาพถ่ายจากดาวเทียม และภาพถ่ายปี 2545 ที่สมบูรณ์ มีการถ่ายทั่วประเทศ มาดูและวางแปลง คร่าวๆ พบว่า ป่ากรมหลวงมีการบุกรุกเพิ่มขึ้น จากเดิมที่สำรวจไว้แล้ว เพิ่มขึ้นใหม่อีกไม่น้อยกว่า 23,000 ไร่ แสดงว่าเพียงแค่สี่ปี จาก 2541-2545 มีคนเข้ามาบุกรุกยึดถือครอบครองป่าแห่งนี้เพิ่มอีกกว่า 23,000 ไร่” นายชัยวัฒน์กล่าว

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า ต่อจากมีการบุกรุกเพิ่ม รัฐสำรวจตกหล่นให้ ในช่วงปี 2542-2545 ป่าถูกชาวบ้านเข้ามายึดครอบครองไป 23,000 ไร่ และต่อจากปี 2545 มาจนถึงปี 2560 มีชาวบ้านทั้งกลุ่มเดิมและนายทุนกลุ่มใหม่ เข้ามาเปิดพื้นที่ บุกรุกเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 22,000 ไร่ ขณะนี้เวลานี้ป่าแห่งนี้มีคนเข้าบุกรุกเพิ่มจากการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยพญาเสือร่วมกับสำนักบริการพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ทหารพราน และตำรวจตระเวนชายแดนครั้งนี้ ใช้การปราบปรามแบบนำเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม และการเดินสำรวจทางภาคพื้นดินเข้ามาร่วมกัน ทำให้แผนงานเห็นเป็นภาพที่ชัดเจนและแม่นยำมากขึ้น พบว่าป่าแห่งนี้มีคนบุกรุกเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 22,000 ไร่ แต่นั่นคือไม่จบแค่นี้ ถ้ารัฐไม่ชูนโยบายการคุ้มครองพื้นที่ป่า การนำกฎหมายมาใช้อย่างเคร่งครัด ถูกต้องและเป็นธรรมนั้น ป่าไม้ที่เป็นทรัพย์สินของคนทั้งชาติ อีกไม่นานคงหมดไป

 


ที่มา : มติชนออนไลน์